ปิดศูนย์ฯ ถนน สิ้นสุด 7 วันระวังอันตราย เสียชีวิตรวม 401 คน บาดเจ็บ 4,903 คน

ข่าวทั่วไป Friday January 4, 2008 16:51 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--4 ม.ค.--ศปภ.
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จัดพิธีปิดศูนย์ปฏิบัติการร่วมป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2551 พร้อมแถลงยอดผู้เสียชีวิตของวันสุดท้าย 7 วันระวังอันตราย (วันที่ 3 มกราคม 2551) เกิดอุบัติเหตุ 354 ครั้ง เสียชีวิต 32 คน บาดเจ็บ 389 คน สรุปรวม 7 วันระวังอันตราย (วันที่ 28 ธันวาคม 2550 — 3 มกราคม 2551) มีอุบัติเหตุ 4,475 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 401 คน บาดเจ็บ 4,903 คน ยอดลดลงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา จังหวัดที่ยังไม่มีผู้เสียชีวิตมี 3 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน ปัตตานี นราธิวาส จึงต้องขอขอบคุณเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานที่ร่วมดูแลความปลอดภัยในการเดินทางของประชาชนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2551 พร้อมยืนยันจะนำปัญหาของอุบัติเหตุทางถนนในครั้งนี้ ไปใช้กำหนดมาตรการควบคุม ลดปัญหาอุบัติเหตุจราจรอย่างต่อเนื่อง และเข้มข้น
นายบัญญัติ จันทน์เสนะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะรองผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ประธานแถลงข่าวสถิติผู้เสียชีวิต บาดเจ็บ จากอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2551 ณ ศูนย์ปฏิบัติการร่วมป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2551 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ว่า วันที่ 3 มกราคม 2551 เกิดอุบัติเหตุ 354 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 32 คน ผู้บาดเจ็บ 389 คน สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เมาแล้วขับ ร้อยละ 23.45 รองลงมา ได้แก่ ขับรถเร็วเกินอัตรากำหนด ร้อยละ 20.90 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 81.11 รองลงมา ได้แก่ รถปิคอัพ ร้อยละ 6.39 อุบัติเหตุส่วนใหญ่เกิดขึ้นบนทางตรงของถนนนอกเขตทางหลวงแผ่นดิน ร้อยละ 66.95 และช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด คือ เวลา 16.01 — 20.00 น. คิดเป็นร้อยละ 34.75 จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ นครปฐม 17 ครั้ง รองลงมา ได้แก่ พิษณุโลก 14 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพฯ และสุราษฎร์ธานี จังหวัดละ 4 คน รองลงมา ได้แก่ กาญจนบุรี เพชรบูรณ์ ร้อยเอ็ด และน่าน จังหวัดละ 2 คน จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิตมี 54 จังหวัด จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ นครปฐม 19 คน รองลงมา ได้แก่ พิษณุโลก 17 คน จังหวัดที่ไม่มีการเกิดอุบัติเหตุ ได้แก่ หนองบัวลำภู ยโสธร อำนาจเจริญ กาฬสินธุ์ และชัยนาท
สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสม 7 วัน (วันที่ 28 ธ.ค. 50 — 3 ม.ค.51 ) มีอุบัติเหตุเกิดขึ้น รวม 4,475 ครั้ง เพิ่มขึ้นจากปี 2550 จำนวน 19 ครั้ง ร้อยละ 0.43 ผู้เสียชีวิตรวม 401 คน น้อยกว่าปี 2550 จำนวน 48 คน ร้อยละ 10.69 ผู้บาดเจ็บรวม 4,903 คน น้อยกว่าปี 2550 จำนวน 40 คน ร้อยละ 0.81 จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงราย 157 ครั้ง รองลงมา ได้แก่ นครปฐม 145 ครั้ง
จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพฯ 24 คน รองลงมา ได้แก่ ขอนแก่น 18 คน และนครปฐม 17 คน จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงราย 169 คน รองลงมา ได้แก่ สุรินทร์ 159 คน ส่วนจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมน้อยที่สุด ได้แก่ ยโสธร จำนวน 3 ครั้ง จังหวัดที่ยังไม่มีผู้เสียชีวิตมี 3 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน ปัตตานี นราธิวาส
สำหรับการบังคับใช้กฏหมายของวันที่ 3 มกราคม 2551 มีการเรียกตรวจต/ามมาตรการ 3 ม 2 ข 1 ร จำนวน 1,168,749 คัน พบการกระทำผิดและดำเนินคดี จำนวน 31,659 คน เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนยานพาหนะที่เรียกตรวจ พบว่า ไม่สวมหมวกนิรภัย ร้อยละ 8.79 ผู้กระทำความผิดและถูกดำเนินคดีแต่ละมาตรการ ได้แก่ ไม่สวมหมวกนิรภัย ร้อยละ 32.38 โดยในวันสิ้นสุดของช่วง 7 วันระวังอันตราย มีการจัดตั้งจุดตรวจ รวม 3,053 จุด เฉลี่ย 3.29 จุดตรวจ/อำเภอ เฉลี่ย 29 คน/จุดตรวจ เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานประจำจุดตรวจ รวม 88,599 คน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดตั้งจุดตรวจในหมู่บ้าน/ชุมชน จำนวน 8,062 จุด จุดบริการประชาชน 3,307 จุด และศูนย์ปฏิบัติการร่วมฯ จังหวัด/อำเภอ 973 จุด
นายบัญญัติ กล่าวต่อไปว่า ในช่วง 7 วันที่ผ่านมา อุบัติเหตุใหญ่เกิดขึ้นกับรถกระบะหรือรถปิคอัพที่บรรทุกผู้โดยสารเกินอัตรา ดัดแปลงกระบะหลัง และรถยนต์นั่งส่วนบุคคลที่ขับรถเร็วเกินอัตรากำหนด ประมาท ตัดหน้ากระชั้นชิด แซงในที่คับขัน สูงถึงร้อยละ 54.54 จึงขอให้สำนักงานตำรวจทางหลวงแห่งชาติ และกระทรวงคมนาคม เข้มงวดรถดังกล่าว และการตรวจจับความเร็วของรถโดยสารประจำทางปรับอากาศที่วิ่งในระยะทางไกลอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งได้ประสานให้จังหวัดแจ้งแขวงการทาง ทางหลวงชนบทจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตั้งจุดตรวจในพื้นที่ให้เข้มงวด โดยเฉพาะเส้นทางที่เป็นจุดเสี่ยงทุกเส้นทาง จัดทำป้ายเตือน หรือแสดงจุดที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง โดยเฉพาะบริเวณถนนที่มีผิวจราจรแคบและเป็นทางโค้ง ตลอดจนให้ประชาสัมพันธ์ย้ำเตือนผู้ขับขี่ให้เพิ่มความระมัดระวัง ผ่านสื่อท้องถิ่น และป้ายประชาสัมพันธ์ ที่สำคัญ ขอให้จังหวัดวิเคราะห์สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุ ประเภทรถ ประเภทถนน และพฤติกรรมเสี่ยงที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุ เพื่อนำไปกำหนดแผนและมาตรการในการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนให้มีความสอดคล้องกับสภาพปัญหาอุบัติเหตุในพื้นที่ มุ่งเน้นการปรับตั้งจุดตรวจให้มีความสอดคล้องกับการเดินทางของประชาชนเป็นหลัก นอกจากนี้ ขอขอบคุณประชาชนที่เอื้อเฟื้อผู้ร่วมทางนำผู้บาดเจ็บ และเจ้าหน้าที่ประจำจุดตรวจที่ปฏิบัติหน้าที่อย่างเข้มแข็ง เสียสละเวลาเพื่อมาดูแลความปลอดภัยในการเดินทางของประชาชนช่วงเทศกาลปีใหม่ รวมถึงประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนทุกคนที่ร่วมกันปฏิบัติตามกฎจราจร ทำให้ยอดผู้เสียชีวิต และผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุจราจรในเทศกาลปีใหม่ 2551 ลดน้อยลงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ