มูลนิธิคึกฤทธิ์ ๘๐ฯ สืบต่อโขนไทย ชี้ถึงยังไม่ขึ้น มรดกโลก แต่เป็น...มรดกเรา

ข่าวทั่วไป Friday October 19, 2018 16:14 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 ต.ค.-- ถึงแม้การประกาศอย่างเป็นทางการของ ยูเนสโก (UNESO) ที่จะขึ้นทะเบียนโขนไทยเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ของมวลมนุษยชาติ ในปี 2561 ยังมาไม่ถึง แต่สิ่งสำคัญคือคนไทย ต่างรู้ว่า โขนไทยเป็น "มรดกเรา" ที่สืบทอดกันมาช้านาน ผ่านลมหายใจของเยาวชนและคนโขนรุ่นต่อรุ่นจนมาถึงปัจจุบัน มูลนิธิคึกฤทธิ์ ๘๐ฯ ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อีกหนึ่งหน่วยงานที่ผู้ทำงานเป็นครูอาจารย์ทางศิลปะไทยที่มีความเชื่อตรงกับที่ ศาสตราจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่ว่า " เยาวชนไทยในยุคปัจจุบันนี้ ในธาตุแท้ก็ยังเป็นคนไทยโดยสมบูรณ์ ถ้าหากว่ามีการชักจูงให้ความเป็นไทยในตัวนั้น ปรากฏออกมาด้วยศิลปะของไทยอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว ความเป็นไทยในตัวของเยาวชนก็จะปรากฏออกมาให้เห็นอย่างเด่นชัด โดยรวดเร็วฉับพลัน อย่างไม่มีข้อกังขาใดๆ ทั้งสิ้น" เหตุนี้ทำให้ทุกปีมูลนิธิคึกฤทธิ์ ๘๐ฯ จะจัดงานแสดงโขนเพื่อให้เยาวชนที่เข้ามาเรียนรู้ศิลปะวัฒนธรรมของไทย ได้มีโอกาสได้แสดงระดับโรงละครใหญ่ของประเทศทุกปี ในปีนี้ทางมูลนิธิคึกฤทธิ์ ๘๐ ฯ ได้นำโขนรามเกียรติ์ ชุด "ศึกกุมภกรรณ" ตอน ปริศนาอสุรี- ขุนกระบี่หลงกล จัดแสดงขึ้นใน วัน พุธ ที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๖๑ ณ โรงละครอักษรา คิงพาวเวอร์ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ประธานกรรมการมูลนิธิคึกฤทธิ์ ๘๐ฯ ให้สัมภาษณ์ในงานนี้ว่า "ทางด้านการสืบต่อมรดกของเราที่เป็นศิลปะของชาติไทยให้ลูกหลานเราทำได้สำเร็จและต่อ เนื่อง จาก 8 ปีก่อนที่เคยเริ่มเปิดสอนนาฎศิลป์ไทยปีแรกมีมาเรียน 70 คน ตอนนี้ 700 คนแล้ว ถ้าคุณไปที่สถาบันคึกฤทธิ์ในวันอาทิตย์เวลา 9.00 น.-12.00 น.คุณจะเห็นคน 700 ที่นั่น ส่วนหนึ่งประมาณ 150 คนเรียนดนตรีไทย อีกส่วนหนึ่งเรียนละครรำ แล้วส่วนใหญ่เรียนโขน มีทั้งโขนยักษ์ โขนลิง กระจายเต็มพื้นที่ของเรา และไปที่ สสส.ด้วย ทางสสส.นี่กรุณาเรามากให้ทั้งสถานที่สอน และยังให้เงินสนับสนุนเรา ปีๆ นึงเนี่ยถ้าไม่ได้เงินจาก สสส. เรานี่ไม่มีเงินจ้างครู เพราะครูของเราจะเป็นครูระดับศิลปินแห่งชาติทั้งนั้น ผมเชื่อว่าการสอนเราไม่ต่างจากกรมศิลปากร ครูของเราพยายามสอนแบบแผนโขน ละครรำ ดนตรีไทย ตามแบบแผนเดียวกับกรมศิลปากร พวกครูจะมาสอน ประมาณ 40 คน ในวันอาทิตย์จะแบ่งสอนกัน เราสอนให้กับเด็กทุกคนที่รักศิลปะไทย โดยไม่คิดค่าเล่าเรียน เพราะค่าเรียนคือ มรดกศิลปะของชาติเราถูกส่งต่อไปเก็บไว้ในตัวลูกหลานแล้ว" ครูต้อย จตุพร รัตนวราหะ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นาฏศิลป์-โขน) ลูกศิษย์เอกของอาจารย์หม่อมคึกฤทธิ์ ที่ยังคงถ่ายทอดวิชาการรำโขนให้กับเยาวชนไทยที่สถาบันคึกฤทธิ์ทุกวันอาทิตย์มาตลอด 8 ปี ได้กล่าวว่า " การขึ้นทะเบียนโขนไทยของยูเนสโก (UNESO) ถ้าขึ้นครูก็ดีใจนะ เพราะทั้งภาครัฐและเอกชน ประชาชนจะได้เห็นคุณค่ามากขึ้น แต่ถึงไม่ขึ้นก็ไม่เป็นไร เพราะศิลปะไทย อย่าง โขน นาฏศิลป์ ดนตรีไทยเป็นมรดกของเราอยู่แล้ว อยู่ที่รักษายังงัยให้ยั่งยืน เพราะเขาเป็นสมบัติคู่บ้านคู่เมือง เป็นรากเหง้าของเรา ครูคิดว่าตัวเองอายุป่านนี้ สอนมาก็มากทั้งที่สถาบันคึกฤทธิ์ วิทยาลัยนาฏศิลป์ และอื่นๆ ที่มาขอวิชาจากครู ครูยินดีให้อย่างมาก เพราะคนเหล่านี้คือ อนาคตที่จะสืบทอดสืบต่องานศิลปวัฒนธรรมต่อไป ทุกวันนี้ถึงนักแสดงโขนจะมีจำนวนลดน้อยลง ครูผู้เป็นพ่อโขน แม่โขนที่สถาบันคึกฤทธิ์ก็ยังภูมิใจเมื่อมีเยาวชนให้ความสนใจมาเรียนรู้ มาฝึกฝน พ่อแม่พาลูกมาเรียนโขน ต้องรอลูกทั้งวันพ่อก็ไปเรียนดนตรี แม่ไปเรียนรำ หรือบางครอบครัวพี่เรียนโขนลิง น้องเรียนโขนยักษ์ บรรยากาศมันทำให้ศิลปวัฒนธรรมของเรามันมีชีวิตชีวา" สำหรับเยาวชนโขนของไทย การนำโขนรามเกียรติ์ในชุด "ศึกกุมภกรรณ" ตอน ปริศนาอสุรี- ขุนกระบี่หลงกล ออกแสดงบนเวทีใหญ่ อย่าง โรงละครอักษรา นั้นเป็นวันที่บรรจุความภูมิใจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดลงในใจของเด็กๆ ทุกคนที่อยู่บนเวที ถึงวันนี้ศิลปะของโขนไทยยังไม่ได้ถูกประกาศเป็นมรดกโลก แต่ก็เป็น...มรดกเรา ที่ถูกส่งต่ออย่างภาคภูมิใจ ในสายตาของครู ครอบครัว ผู้ชมและศิลปินเยาวชนโขนทุกคน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ