ปส. ระดมเครือข่ายนานาชาติ สร้างความรู้ – พัฒนาโครงการความร่วมมือทางนิวเคลียร์

ข่าวทั่วไป Monday October 29, 2018 16:47 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 ต.ค.--สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) ร่วมกับเครือข่ายนิวเคลียร์ระหว่างประเทศ ระดมจัด 4 การประชุมระดับประเทศและระดับภูมิภาค ระหว่างวันที่ 29 ตุลาคม - 2 พฤศจิกายน 2561 ณ สำนักงานปรมาณู เพื่อสันติ เพื่อเร่งสร้างความรู้นิวเคลียร์ด้านความมั่นคงปลอดภัย ความร่วมมือเชิงวิชาการ และยุทธศาสตร์การสื่อสาร หวังเสริมสมรรถนะบุคลากรนิวเคลียร์และพัฒนาการดำเนินงาน รวมทั้งความร่วมมือระหว่างหน่วยงานด้านความปลอดภัยทางนิวเคลียร์และรังสีทั้งในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับนานาชาติ อย่างมีประสิทธิภาพ นางสาววิไลวรรณ ตันจ้อย รองเลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ รักษาราชการแทนเลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ เปิดเผยว่า ปส. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลความปลอดภัยทางนิวเคลียร์และรังสีของประเทศไทย ตระหนักถึงความสำคัญในการเร่งสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับนิวเคลียร์ด้านต่าง ๆ ให้กับบุคลากรภายในประเทศและในภูมิภาคอย่างครอบคลุม ด้วยเหตุนี้จึงร่วมกับ 2 องค์กรระหว่างประเทศ ได้แก่ ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency : IAEA) และ สถาบันโลกเพื่อความมั่นคงปลอดภัยทางนิวเคลียร์ (World Institute for Nuclear Security : WINS) จัด 4 การประชุมระดับประเทศและระดับภูมิภาค ระหว่างวันที่ 29 ตุลาคม - 2 พฤศจิกายน 2561 ณ ห้องประชุม ปส. ดังนี้ วันที่ 29 ตุลาคม – 2 พฤศจิกายน 2561 จัดกิจกรรมร่วมกับ IAEA จำนวน 2 กิจกรรม ได้แก่ - การประชุมเชิงปฏิบัติการระดับประเทศ National Workshop for Central Governments and Regulatory Bodies on the Development of a Communications Strategy เพื่อถ่ายทอดความรู้และแนวทางการพัฒนายุทธศาสตร์การสื่อสารประชาสัมพันธ์ทางนิวเคลียร์และรังสีไปสู่ประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ ให้แก่บุคลากรไทยจากหน่วยงานด้านการสื่อสารประชาสัมพันธ์ จำนวนกว่า 40 คน จาก 10 หน่วยงาน ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ รพ.ศิริราช รพ.รามาธิบดี รพ.จุฬาภรณ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน(องค์การมหาชน) สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) และ ปส. - โครงการประชุมร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านโครงการความร่วมมือเชิงวิชาการจาก IAEA เพื่อพัฒนาข้อเสนอโครงการความร่วมมือให้เป็นไปตามแนวทางที่ IAEA กำหนด อันจะนำไปสู่การเสริมสร้างการพัฒนาเทคโนโลยีในสาขาที่เกี่ยวข้องกับนิวเคลียร์ในประเทศไทย โดยมีหน่วยงานด้านการศึกษา วิจัย และการแพทย์ อาทิ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน(องค์การมหาชน) รพ.ราชวิถี รพ.รามาธิบดี รพ.ศิริราช รพ.จุฬาลงกรณ์ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) รวมทั้ง ปส. เข้าร่วมด้วย วันที่ 30 ตุลาคม – 2 พฤศจิกายน 2561 จัดกิจกรรมร่วมกับ WINS จำนวน 1 กิจกรรม ได้แก่ - การฝึกอบรมระดับภูมิภาค Regional Training Course on Radioactive Source Security Management เพื่อพัฒนาและเพิ่มพูนความรู้พื้นฐานด้านความมั่นคงปลอดภัยของสารกัมมันตรังสีบริเวณชายแดนไทย โดยการประชุมครั้งนี้ มีผู้แทนประเทศที่มีพื้นที่ติดชายแดนไทย ได้แก่ พม่า ลาว กัมพูชา เข้าร่วม วันที่ 29 – 31 ตุลาคม 2561 จัดกิจกรรมร่วมกับ IAEA จำนวน 1 กิจกรรม ได้แก่ - การประชุมเชิงปฏิบัติการ หัวข้อ การดำเนินการตามแผนสนับสนุนความมั่นคงปลอดภัยทางนิวเคลียร์ (INSSP) ของประเทศไทย National Design Basis Threat : Review Information เพื่อทบทวนภัยคุกคามพื้นฐานทางนิวเคลียร์และนำแผนสนับสนุนความมั่นคงปลอดภัยทางนิวเคลียร์ มาปฏิบัติให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศไทย โดยมีผู้เข้าร่วมจากหน่วยงานด้านความมั่นคงปลอดภัยทางนิวเคลียร์ของไทยเข้าร่วม จำนวน 35 คน นางสาววิไลวรรณ กล่าวเพิ่มเติมว่า ทั้ง 4 การประชุม ได้รับการสนับสนุนวิทยากรจาก IAEA และ WINS ดำเนินการให้ความรู้ผ่านกิจกรรมรูปแบบต่าง ๆ อาทิ การบรรยาย การฝึกปฏิบัติ การนำเสนอ การอภิปรายและแลกเปลี่ยนประสบการณ์แต่ละหัวข้อจากหน่วยงานและประเทศต่าง ๆ ซึ่ง ปส. หวังเป็นอย่างยิ่งว่าข้อมูลและประสบการณ์จากทุกการประชุมจะช่วยส่งเสริมให้เกิดการดำเนินงานแบบบูรณาการและช่วยให้หน่วยงานทั้งในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับนานาชาติ มีความพร้อมในการพัฒนาความมั่นคงปลอดภัย ความร่วมมือเชิงวิชาการ และยุทธศาสตร์การสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ นำมาซึ่งการพัฒนาการดำเนินงานร่วมกันเพื่อความปลอดภัยต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อมต่อไปในอนาคต นอกจากนี้ ปส. ในฐานะเจ้าภาพจัดการประชุมทั้งหมด ยังคาดว่าการแสดงศักยภาพในการจัดประชุมระดับประเทศและระดับภูมิภาคร่วมกับองค์กรระหว่างประเทศในครั้งนี้ จะมีส่วนช่วยผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการถ่ายทอดความรู้ด้านนิวเคลียร์และรังสีของภูมิภาคอาเซียนและนานาชาติได้ในอนาคตอันใกล้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ