“การ์ดเกม” โดนใจเด็กยุคใหม่ ฝ่ากระแสเกมออนไลน์

ข่าวทั่วไป Tuesday October 30, 2018 11:55 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--30 ต.ค.--คิดซ์ แอนด์ คิทซ์ ช่วงปิดเทอมที่ผ่านมา มีการรวมตัวของเด็กๆจำนวนหลายพันคน ในงานมหกรรมการ์ดเกม (Bushiroad Card Festival Thailand) ณ สถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ มักกะสัน เป็นงานรวมตัวการ์ดเกมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย จัดเป็นประจำทุกปี และก็ยังคงได้รับความสนใจอย่างมาก ทำให้อดแปลกใจไม่ได้ว่าทำไมยังมีเด็กจำนวนมากที่ให้ความสนใจและเล่นการ์ดเกมอยู่อย่างต่อเนื่อง บางคนเริ่มเล่นตั้งแต่ชั้นประถม จนปัจจุบันเริ่มต้นทำงานแล้วก็เล่นอยู่ เรียกว่าได้รับการยอมรับ เป็นที่นิยมฝ่ากระแสเทรนด์มาแรงอย่าง อี-สปอร์ต (E-Sport) และเกมออนไลน์ก็ว่าได้ แล้วการ์ดเกมมีเสน่ห์ตรงไหน สนุกอย่างไร ทั้งที่มีเกมมือถือ และ เกมคอมพิวเตอร์มากมาย และทำไมเด็กกลุ่มนี้ยังหลงใหลในการเล่นการ์ดเกม นายวีระรัตน์ กิจเลิศไพโรจน์ กรรมการและผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท คิดซ์ แอนด์ คิทซ์ จำกัด กล่าวว่า "กว่า 10 ปี จากการเริ่มต้นทำธุรกิจการ์ดเกม ซึ่งเกิดจาก Passion ส่วนตัวที่ชื่นชอบและเล่นการ์ดเกมมาตั้งแต่เด็ก เล็งเห็นว่า เป็นกิจกรรมที่ดี มีประโยชน์ จึงได้หันมาทำธุรกิจนี้อย่างจริงจัง ปัญหาในช่วงแรกคือ คนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจว่าการ์ดเกมคืออะไร? และ ตลาดการ์ดเกมเล็ก กลุ่มคนเล่นเป็นวงแคบๆ ราคาแพงเพราะต้องนำเข้าจากต่างประเทศ เราจึงอยากให้ การ์ดเกมเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย จึงเริ่มจากการที่นำเข้าการ์ตูนการ์ดเกมมาออกอากาศทางทีวี และสามารถชมย้อนหลังได้ทาง YouTube และที่สำคัญคือการซื้อสิทธิมาผลิตในประเทศไทย ทำให้ต้นทุนต่ำลง พร้อมทั้งกระจายสินค้าผ่าน 7 – 11 ทั่วประเทศ ทำให้เด็กๆสามารถเข้าถึงการ์ดเกมได้ง่ายในราคาที่ถูกลงมาก ซึ่งถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญมากของตลาดการ์ดเกม ในประเทศไทย ด้านตัวแทนผู้ปกครอง นางสุจิตรา ชมภูงาม คุณแม่ของน้องมิค อายุ 10 ขวบ และน้องแม็ค อายุ 6 ขวบ เล่าว่า "วันนี้มาทั้งครอบครัว พาลูกชายทั้งสองมาร่วมงาน ลูกๆ ชอบเล่น ตอนแรกไม่เข้าใจว่าคืออะไร ดีอย่างไร ทำไมเด็กๆ ถึงเล่นกัน แต่หลังจากที่หาข้อมูล ก็เริ่มสนับสนุนเพราะเป็นเกมที่ฝึกสมอง ต้องบวกเลข คิดวางแผนตามวัยของเด็กๆ ส่วนตัวมองว่าดี ลูกยังใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ สองคนพี่น้องนั่งเล่นกัน ไปเล่นกับเพื่อนบ้าง อยู่ในสายตาของเรา ลูกได้ออกไปเล่นกับเพื่อนๆ รู้จักการเข้าสังคม พบปะผู้คน ดีกว่าให้เด็กติดมือถือ แม้ที่บ้านจะมีการ์ดเยอะมากแต่ราคาก็ไม่ได้แพงจนเราซื้อให้ลูกไม่ไหว" และ นายพาทิศ สิริประภาสุข หรือ น้องต๊าด เรียนอยู่ชั้น ม.6 สายวิทย์-คณิต โรงเรียนวชิรธรรมสาธิต เล่าว่า ตนเริ่มเล่นการ์ดเกมมาตั้งแต่เด็กๆ ตอนแรกผู้ปกครองก็ไม่เข้าใจ ซึ่งตนก็ได้อธิบายให้พ่อแม่เข้าใจว่าเกมนี้ "นอกจากจะเป็นกิจกรรมที่เล่นสนุก ไปอีกแบบไม่แพ้เกมมือถือ และ เกมคอมพิวเตอร์ แต่ยังช่วยพัฒนาความจำ ฝึกสมอง เพิ่มทักษะในการบวกเลข รู้จักวางแผน เป็นคนช่างสังเกตและเรียนรู้การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า และที่สำคัญคือการได้พบปะเพื่อน ได้พูดคุย รู้จักสังคมเพื่อนใหม่ๆมากขึ้น ส่วนตัวชอบ และมองว่าเกมก็มีประโยชน์ แม้ตอนนี้จะเรียนหนัก เพราะมีความฝันอยากเป็นหมอ แต่ก็สามารถแบ่งเวลา ถ้าว่างก็ยังคงเล่นการ์ดเกมต่อไป" นายจักริน จงสถิตมั่น หรือน้องเต้าหู้ เรียนอยู่ชั้น ม.6 สายวิทย์-คณิต โรงเรียนวชิรธรรมสาธิต "ตนอยากเรียนวิศวะ พ่อแม่ก็เข้าใจ และไม่ได้ห้ามเพราะเห็นว่าผลการเรียนดีขึ้น และส่วนตัวมองว่าการเล่นการ์ดเกมนอกจากความสนุกสนาน และมีประโยชน์อีกด้วย ผู้เล่นจะต้องบวกเลขและมีสมาธิตลอดเวลา การ์ดเกมช่วยฝึกทักษะให้รู้จักการวางแผน ฝึกความจำ ประเมินสถานการณ์ และหาทางรับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ตนก็เล่นเกมโมบาย ออนไลน์เหมือนคนอื่น แต่ส่วนตัวชอบการ์ดเกมมากกว่า" ปัจจุบันเด็กและวัยรุ่นติดเกม และติด Social เป็นสังคมก้มหน้า กิจกรรมที่ช่วยสร้างการมีส่วนร่วม และ ปฎิสัมพันธ์ทางสังคมเป็นสิ่งที่ควรสนับสนุน ซึ่งเกมทุกเกมที่ออกแบบมาล้วนมีจุดเด่นที่ไม่เหมือนกัน ผู้ปกครองควรเลือกและให้คำแนะนำ ว่าสิ่งไหนเหมาะสมกับบุตรหลานหรือครอบครัวของเรา

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ