ข่าวดี "ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะสุดท้าย" ไฟเซอร์บริจาคยาใหม่ โรคสงบ 2 เท่า

ข่าวทั่วไป Tuesday October 30, 2018 12:30 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--30 ต.ค.--Med Agency เป็นโครงการที่เปรียบ "เหมือนแสงสว่างปลายอุโมงค์" เนื่องจากเป็นที่ทราบกันดีว่า "มะเร็งเต้านมระยะแพร่กระจาย" ผู้ป่วย และ ญาติ แทบจะหมดหวังต่อการรักษา ซึ่งปัจจุบันมีเพียงแค่การรักษาแบบประคับประคอง 3 เดือน หรือ 6 เดือนก็อยู่กับสภาพร่างกาย และเงินค่ารักษา โดยพบว่ามีผู้ป่วยชาวต่างประเทศได้รักษาด้วยนวัตกรรมใหม่นี้ จากที่ชีวิตมีเวลาจำกัด เหลือแค่ 3 เดือน แต่เขาสามารถสู้ชีวิตไปกระทั่งส่งลูกๆ เรียนจบมีครอบครัว แต่งงาน ซึ่งเป็นสิ่งที่วิเศษมาก ล่าสุด medhubnews.com เว็บไซต์สุขภาพ สาธารณสุข การท่องเที่ยว วาไรตี้ และ เพจ sasook รายงานว่า บริษัท ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้บริจาคยารักษาโรคมะเร็งเต้านมแบบพุ่งเป้าให้กับมะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทยในโอกาสครบรอบ 1 ปีของการเปิดตัวนวัตกรรมยารับประทานสำหรับรักษามะเร็งเต้านมในระยะลุกลามและแพร่กระจาย นวัตกรรมยารับประทานนี้ จะยับยั้งการทำงานของโปรตีนซีเคดี 4/6 ซึ่งได้รับอนุมัติตำรับยาจาก อย. ในปีที่ผ่านมา เพื่อช่วยผู้ป่วยมะเร็งเต้านมในระยะแพร่กระจายจำนวน 50 คนให้มีโอกาสเข้าถึงยาได้ ปัจจุบันมะเร็งเต้านม เป็นมะเร็งที่พบบ่อยที่สุดในหญิงไทย ข้อมูลจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติในปี 2557 หญิงไทยป่วยด้วยมะเร็งเต้านมรายใหม่ 31.36 ต่อประชากรหนึ่งแสนคน หรือมีจำนวน 14,804 คน หรือ 40 คนต่อวัน และเสียชีวิต 3,455 คน หรือ 10 คนต่อวัน โดยผู้ชายก็มีสิทธิ์เป็นมะเร็งเต้านมได้ 1 ใน 100 ของผู้ป่วยเป็นมะเร็งเต้านม "บริษัทไฟเซอร์ให้ความสำคัญกับผู้ป่วยเป็นลำดับแรก เราตระหนักถึงปัญหาของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะลุกลาม และความต้องการในการเข้าถึงการบำบัดรักษาอย่างเหมาะสม เราจึงมีความยินดีและภูมิใจในการมีส่วนช่วยผู้ป่วยมะเร็งเต้านมในระยะแพร่กระจายในการเข้าถึงยาที่เหมาะสมตามมาตรฐานการรักษาเพื่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย เป็นการสร้างเสริมสุขภาพที่ดีให้กับสังคมไทย รวมถึงการรักษาและการให้ความรู้เกี่ยวกับวิธีการป้องกันโรคต่างๆ คือ หนึ่งในพันธกิจหลักของบริษัทฯ" ลักษณวรรณ ตั้งไพบูลย์ ผู้อำนวยการกลุ่มธุรกิจไฟเซอร์ อินโนเวทีฟ เฮลท์, ประเทศไทยและอินโดนีเซีย, บริษัท ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าว "มะเร็งเต้านมระยะแพร่กระจาย หรือรู้จักกันว่ามะเร็งเต้านมระยะที่ 4 ซึ่งถือเป็นระยะสุดท้าย โดยเป็นระยะที่มะเร็งจะแพร่กระจายจากเต้านมและต่อมน้ำเหลืองโดยรอบไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกาย ซึ่งที่พบมากจะกระจายไปสู่กระดูก ปอด ตับ และสมอง โดยสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตคือการแพร่กระจายของมะเร็งสู่ส่วนอื่นๆ ของร่างกาย ยานวัตกรรมช่วยให้การรักษาผู้ป่วยกลุ่มนี้มีประสิทธิภาพมากขึ้นได้ หากแต่การเข้าถึงยาในสิทธิ์การรักษาต่างๆ ในปัจจุบันยังมีข้อจำกัด ยาที่รับบริจาคนี้นับว่าเป็นประโยชน์อย่างมากทางการแพทย์ซึ่งจะสามารถช่วยให้การดูแลผู้ป่วยมะเร็งเต้านมมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยการทำให้การเข้าถึงยาเพิ่มขึ้นซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยอย่างยิ่ง" ผู้ช่วยศาสตราจารย์นายแพทย์ เอกภพ สิระชัยนันท์ หัวหน้าอายุรศาสตร์มะเร็งวิทยา คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และ นายกมะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย กล่าว ด้าน รศ.ดร.นพ.วิโรจน์ ศรีอุฬารพงศ์ หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ โรคมะเร็งครบวงจร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวเสริมว่า ยาที่บริษัทไฟเซอร์บริจาคนั้นนับเป็นยาตัวแรกของยาต้านมะเร็งชนิดที่ยับยั้งการทำงานของโปรตีนซีดีเค 4/6 ซึ่งใช้ร่วมกับการรักษาโดยการให้ยาต้านฮอร์โมนได้อย่างมีประสิทธิผลที่ดีขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับยาต้านฮอร์โมนเพียงอย่างเดียว โดยยาดังกล่าวได้รับการรับรองจากคณะกรรมการอาหารและยา ให้ใช้เป็นยาอันดับแรก ( First Line ) ในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะลุกลามหรือแพร่กระจายชนิด ER+/HER 2- วัยหมดประจำเดือน และเป็นทางเลือกใหม่ในการรักษาเพื่อยืดอายุ และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของผู้ป่วยในประเทศไทย ซึ่งยาชนิดนี้เมื่อใช้ร่วมกับเลทโทรโซล ( Letrozole ) สามารถเพิ่มอัตราการรอดชีวิตโดยโรคสงบเกือบ 2 เท่าเมื่อเทียบกับการรักษา โดยให้เลทโทรโซล ( Letrozole )เพียงอย่างเดียว ซึ่งถือเป็นมาตรฐานการรักษาสำหรับผู้ป่วยมะเร็งกลุ่มนี้ มะเร็งเป็นโรคที่มีความซับซ้อนสูงทำให้บริษัทไฟเซอร์พยายามคิดค้น และนำเสนอยาที่สามารถยืดอายุให้กับผู้ป่วยมะเร็งในประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่องโดยยาดังกล่าวเป็นทางเลือกใหม่ให้กับแพทย์ เพื่อใช้ควบคู่กับการให้ยาต้านฮอร์โมนที่ยับยั้งสัญญาณที่ทำให้เซลล์เจริญเติบโต เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษามะเร็งเต้านมระยะแพร่กระจายชนิด มีผลการตรวจตัวรับฮอร์โมนเป็นบวก ( HR+ ) และมีผลการตรวจตัวรับเฮอร์ทูเป็นลบ ( HER2- ) สำหรับการรักษาด้วยนวัตกรรมนี้ ต้องยอมรับว่าต้นทุนสูงมาก ดังนั้น medhubnews.com เว็บไซต์สุขภาพ จึงแนะนำผู้ป่วย และ ญาติ ตรวจสอบที่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย อาจได้รับการพิจารณารักษาฟรี ด้วยตัวยาที่มีราคาแพงมาก เดือนละหลายแสนบาท ซึ่งแน่นอนว่า ยังไม่มีสิทธิของกองทุนไหนบรรจุยาชนิดนี้เข้าไปแน่นอน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ