ก.แรงงาน สร้างเครือข่าย พัฒนาอุตฯ ยานยนต์

ข่าวทั่วไป Thursday November 1, 2018 16:16 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--1 พ.ย.--กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน วันที่ 1 พฤศจิกายน 2561 ณ สมาคมการซ่อมรถยนต์แห่งประเทศไทย พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานเปิดอาคารสมาคมการซ่อมรถยนต์แห่งประเทศ หนุนสร้างเครือข่าย พัฒนาทักษะกำลังคนด้านยานยนต์ ต่อยอด 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยหลังจากเปิดอาคารสมาคมการซ่อมรถยนต์แห่งประเทศ ว่า ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก และอุตสาหกรรมยานยนต์ยังส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ หรือ GDP ของประเทศไทยเติบโตอย่างต่อเนื่องตลอดหัวงระยะเวลาที่ผ่านมา โดยในปัจจุบันมีการจ้างงานในอุตสาหกรรมยานยนต์กว่า 447,000 อัตรา รัฐบาลจึงได้มีนโยบายที่จะต่อยอดอุตสาหกรรมยานยนต์เดิม ซึ่งประเทศไทยมีความได้เปรียบในการแข่งขัน ไปสู่อุตสาหกรรมใหม่ ซึ่งเป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ ตามแนวทางของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และนโยบาย ไทยแลนด์ 4.0 และได้มีการขับเคลื่อนการพัฒนาเพื่อรองรับอุตสาหกรรมยานยนต์ ภายใต้นโยบายเร่งด่วนในการพัฒนาแรงงานคุณภาพ (Super Worker) จำนวน 11,216 คน จากเป้าหมายรวม 59,300 คน ทั่วประเทศ พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับการซ่อมรถยนต์ที่เป็นธุรกิจต่อเนื่องนั้น กระทรวงแรงงานได้ดำเนินการฝึกอบรมในสาขาช่างที่เกี่ยวข้อง เพื่อป้อนเข้าสู่ธุรกิจปีละประมาณ 6,000 คน อาทิ ช่างเคาะตัวถังรถยนต์ และช่างซ่อมรถยนต์ เป็นต้น ซึ่งที่ผ่านมา สมาคมการซ่อมยานยนต์แห่งประเทศไทยได้มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการพัฒนากำลังคนในธุรกิจนี้อย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด และในปี 2562 นี้ มีเป้าหมายสร้างเครือข่าย ขยายการพัฒนากำลังคนด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยร่วมกับภาคส่วนต่างๆ รวมถึงสมาคมการซ่อมยานยนต์แห่งประเทศไทย ดำเนินการฝึกอบรมฝีมือแรงงานให้กับแรงงาน จำนวน 13,646 คน นอกจากนี้ ยังมีการกำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงานในสาขาที่เกี่ยวกับช่างซ่อมรถยนต์และยานยนต์ จำนวน 10 สาขา เพื่อให้แรงงานที่มีทักษะอาชีพได้มาตรฐานได้รับค่าจ้างที่เหมาะสมกับฝีมือและผลิตภาพของตน อาทิ ผู้ผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน ระดับ 1 ช่างเคาะตัวถังรถยนต์ จะได้รับค่าจ้างไม่น้อยกว่าวันละ 420 บาท ระดับ 2 ค่าจ้างไม่น้อยกว่าวันละ 500 บาท และระดับ 3 ค่าจ้างไม่น้อยกว่าวันละ 590 บาท เป็นต้น อีกทั้งยังส่งเสริมสถานประกอบกิจการให้พัฒนาฝีมือแรงงานตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545 โดยมีมาตรการส่งเสริมด้านสิทธิประโยชน์ทางภาษี ในการนำค่าใช้จ่ายจากการฝึกอบรมให้กับพนักงานในสถานประกอบกิจการไปหักลดหย่อนภาษีได้ร้อยละ 100 อีกด้วย "การบูรณาการร่วมกันกับสมาคมการซ่อมรถยนต์แห่งประเทศไทย จะช่วยสร้างประโยชน์ให้แก่ธุรกิจ ซ่อมยานยนต์ของไทย รวมถึงแรงงานที่ทำงานในอุตสาหกรรมนี้ ให้มีทักษะฝีมือได้มาตรฐาน เป็นกำลังแรงงาน ที่มีคุณภาพ (Super Worker) เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี และได้รับค่าจ้างที่สอดคล้องกับทักษะฝีมือที่สูงขึ้นด้วย และมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนต่อไป" รมว.แรงงาน กล่าวทิ้งท้าย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ