ปภ.รายงานสถานการณ์อุทกภัย และการให้ความช่วยเหลือ

ข่าวทั่วไป Friday December 16, 2005 17:27 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--16 ธ.ค.--ปภ.
สำนักเลขาธิการป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ขอรายงานสถานการณ์อุทกภัย อันเนื่องมาจาก ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังแรงพัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ ทำให้ภาคใต้ฝั่งตะวันออกมีฝนตกหนัก ตั้งแต่ วันที่ 14 ธันวาคม 2548 ดังนี้.-
1. สถานการณ์อุทกภัย (ระหว่างวันที่ 14 - 16 ธันวาคม 2548)
1.1 พื้นที่ประสบภัย รวม 6 จังหวัด 35 อำเภอ 1 กิ่งอำเภอ 158 ตำบล 559 หมู่บ้าน ได้แก่ จังหวัดสงขลา นครศรีธรรมราช ปัตตานี นราธิวาส พัทลุง และตรัง
1.2 ความเสียหาย
1) ด้านชีวิต ประชาชนเดือดร้อน 33,100 ครัวเรือน 142,577 คน มีผู้เสียชีวิต 2 ราย (จ.สงขลา ได้แก่ นายสมบุญ ธรรมวงค์ อายุ 36 ปี และ เด็กชายบุรินทร์ ธรรมวงค์ อายุ 12 ปี) ผู้บาดเจ็บ 1 ราย คือ นางแสงจันทร์ ธรรมวงค์ อายุ 38 ปี บ้านเลขที่ 60/1 ถนนสะเดา ซอย 5 ตำบลบ่อยาง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา
2) ด้านทรัพย์สิน ในเบื้องต้นได้รับความเสียหาย บ้านเรือนเสียหายบางส่วน 225 หลัง ถนน 463 สาย สะพาน 14 แห่ง พื้นที่การเกษตร 85,562 ไร่ ปศุสัตว์ 34,542 ตัว บ่อปลา 1,759 บ่อ
1.3 มูลค่าความเสียหายเบื้องต้น อยู่ระหว่างการสำรวจ
2. สถานการณ์อุทกภัยแยกรายจังหวัด
2.1 จังหวัดสงขลา มีพื้นที่ประสบภัย 7 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง ระโนด สิงหนคร กระแสสินธุ์ สทิงพระ เทพา และบางกล่ำ
1) อำเภอเมือง ได้เกิดฝนตกหนักและน้ำทะเลหนุน ทำให้เกิดน้ำท่วมบริเวณถนนกาญจนวินิช ช่วงหน้าโรงเรียนอนุบาลสายพิณ ระยะทางประมาณ 120 เมตร ระดับน้ำสูง 0.40 เมตร รถเล็กสัญจรได้เพียงช่องจราจรเดียว นอกจากนั้น ได้มีน้ำท่วมขังที่ชุมชนเตาอิฐ และชุมชนประมงใหม่ ระดับน้ำสูงประมาณ 0.10 เมตร
2) อำเภอระโนด ได้เกิดน้ำท่วมในที่ลุ่ม จำนวน 11 ตำบล 2 เทศบาลตำบล ได้แก่ ตำบลระโนด ปากแตระ ระวะ คลองแคน แดนสงวน ตะเครียะ ท่าบอน พังยาง วัดสน บ้านขาว บ้านไม้ เทศบาลตำบลระโนด และเทศบาลตำบลบ่อตรุ ระดับน้ำสูงประมาณ 1.20 เมตร เพราะว่าน้ำไม่สามารถไหลลงสู่ทะเลสาบสงขลาได้ เนื่องจากน้ำทะเลหนุน ทั้งนี้ ถนนสายหลัก ยังสามารถสัญจรไปมาได้ตามปกติ
3) อำเภอสิงหนคร เกิดน้ำท่วมขังในพื้นที่ 6 ตำบล ได้แก่ ตำบลรำแดง ทำนบ ป่าขาด ปากรอ ชะแล้ บางเขียด และสะทิงหม้อ โดยเฉพาะที่ตำบลรำแดง ทำนบ และสะทิงหม้อ ระดับน้ำสูง ประมาณ 1.00-1.50 เมตร เพราะว่าน้ำในคลองสะทิงหม้อ ไม่สามารถระบายลงสู่ทะเลสาบสงขลาได้ เนื่องจากน้ำทะเลหนุน โรงเรียนในพื้นที่ได้ทำการปิดเรียนชั่วคราว ทั้งนี้ ถนนสายหลัก ยังสามารถสัญจรไปมาได้ตามปกติ
4) อำเภอกระแสสินธุ์ เกิดน้ำท่วมขัง 3 ตำบล ได้แก่ ตำบลโรง เชิงแส และกระแสสินธุ์ ถนนสายหลัก หมู่ที่ 1,4 ตำบลเชิงแส มีน้ำท่วมขังเป็นบางช่วง สูง 0.10 เมตร ส่วนในพื้นที่ลุ่ม ระดับน้ำสูงประมาณ 0.75-1.00 เมตร ราษฎรได้เคลื่อนย้ายปศุสัตว์ไว้บนถนน พร้อมกับขอรับการสนับสนุนหญ้า เพื่อเลี้ยงสัตว์
5) อำเภอสทิงพระ เกิดน้ำท่วมขัง 3 ตำบล ได้แก่ ตำบลท่าหิน คูขุด และคลองรี ระดับน้ำสูง 2.00 เมตร โดยน้ำได้ไหลมาจังหวัดพัทลุง ประกอบกับเป็นพื้นที่ติดกับทะเลสาบสงขลา จึงไม่สามารถระบายน้ำลงสู่ทะเลสาบได้ เนื่องจากน้ำทะเลหนุน
6) อำเภอเทพา ได้เกิดฝนตกต่อเนื่อง ทำให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 4 ตำบล ได้แก่ ตำบลปากบาง หมู่ที่ 1 ตำบลเทพา หมู่ที่ 3 ตำบลสะกอม หมู่ที่ 5 และตำบลท่าม่วง หมู่ที่ 14ระดับน้ำสูงประมาณ 0.30 - 0.40 เมตร
7) อำเภอบางกล่ำ ได้เกิดน้ำท่วมในที่ลุ่มริมคลอง ร.1 จำนวน 2 ตำบล ได้แก่ ตำบลท่าช้าง (หมู่ 1, 2, 7, 11) และตำบลบางกล่ำ (หมู่ 1, 2, 4) ระดับน้ำสูงประมาณ 0.50 เมตร
การป้องกันและการให้ความช่วยเหลือ
(1) ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ได้ระดมเครื่องจักรกล (รถแบคโฮ) ของชลประทาน ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 12 (สงขลา) นพค. และภาคเอกชน จำนวน 15 คัน ดำเนินการขุดทางระบายน้ำ จากคลอง ร.1 ในจุดที่มีปัญหาเวนคืนที่ดิน เพื่อระบายน้ำลงสู่ทะเลสาบสงขลา (หากไม่ดำเนินการจะมีปัญหาต่อชุมชน/หมู่บ้าน ในพื้นที่ตำบลควนลัง อำเภอหาดใหญ่ ประมาณ 3,000 ครัวเรือน และพื้นที่ในเขตเทศบาลนครหาดใหญ่บางส่วน) ดังนี้
- บริเวณบ้านโคกเมา หมู่ที่ 7,13 ตำบลท่าช้าง อำเภอบางกล่ำ ขนาดกว้าง 10 เมตร ยาว 680 เมตร ลึก 5 เมตร เริ่มขุดเมื่อ 16.00 น. ของวันที่ 12 ธันวาคม 2548 และแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2548
- บริเวณบ้านบางหยี หมู่ที่ 4,6 ตำบลบางกล่ำ อำเภอบางกล่ำ ขนาดกว้าง 10 เมตร ยาว 600 เมตร ลึก 5 เมตร เริ่มขุดเมื่อ 09.00 น. ของวันที่ 14 ธันวาคม 2548 กำหนดแล้วเสร็จวันที่ 15 ธ.ค.48 (ขณะนี้ยังดำเนินการขุดลอกคลอง เนื่องจากได้เกิดฝนตกหนักต่อเนื่อง เป็นอุปสรรคต่อการขุดลอก)
อนึ่ง เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2548 รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช) ได้ไปตรวจติดตามการปฏิบัติงานขุดทางระบายน้ำ เพื่อระบายน้ำคลอง ร.1 ของจังหวัดสงขลาที่บ้านบางหยี หมู่ 4,6 ตำบลบางกล่ำ อำเภอบางกล่ำ เพื่อป้องกันมิให้น้ำในคลองอู่ตะเภา ไหลผ่านเทศบาลนครหาดใหญ่
(2) สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสงขลา เทศบาลนครสงขลา องค์การบริหารส่วนจังหวัด ชลประทานจังหวัด ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ จำนวน 15 เครื่อง เร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขังในเขตอำเภอเมืองสงขลาแล้ว
(3) อำเภอระโนด ได้รับการสนับสนุนเรือท้องแบนจากกองเรือภาคที่ 2 จำนวน 4 ลำ อบจ. และมูลนิธิ มอบถุงยังชีพ จำนวน 1,100 ชุด
(4) อำเภอสิงหนคร ร่วมกับ อบต. มอบเครื่องอุปโภคบริโภคช่วยเหลือผู้ประสบภัย พร้อมสนับสนุนเรือท้องแบนให้กับตำบลรำแดง และตำบลทำนบ พื้นที่ละ 2 ลำ
(5) อำเภอกระแสสินธุ์ จัดส่งเรือท้องแบน จำนวน 4 ลำ ช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ว
(6) สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จัดส่งเรือท้องแบน จำนวน 3 ลำ ช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่อำเภอสะทิงพระ
(7) อำเภอเทพา ได้ประสานองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา นำเครื่องจักรกล ขุดพื้นที่ที่มีการขวางทางระบายน้ำ เพื่อให้การระบายน้ำเป็นไปด้วยความสะดวก
ระดับน้ำในลุ่มน้ำคลองอู่ตะเภา อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เมื่อเวลา 06.00 น. วันนี้ (16 ธ.ค.48) ดังนี้
- จุดวัดน้ำบ้านคลองแงะ (X173) วัดได้ 16.70 เมตร (ระดับตลิ่ง 18.00 เมตร) ต่ำกว่าระดับตลิ่ง 1.30 เมตร
- จุดวัดน้ำบ้านบางศาลา (X90) วัดได้ 6.55 เมตร (ระดับตลิ่ง 9.00 เมตร) ต่ำกว่าระดับตลิ่ง 2.45 เมตร
- จุดวัดน้ำบ้านหาดใหญ่ใน (X44) วัดได้ 5.02 เมตร (ระดับตลิ่ง 6.50 เมตร) ต่ำกว่าระดับตลิ่ง 1.48 เมตร
ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำลุ่มน้ำคลองอู่ตะเภา อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เวลา 06.00 น. วันนี้ (16 ธ.ค.48)
จากการตรวจสอบระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำลุ่มน้ำคลองอู่ตะเภา มีอ่างเก็บน้ำ 3 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำคลองสะเดา ซึ่งอยู่ในพื้นที่อำเภอสะเดา เป็นที่ต้นน้ำมีปริมาณน้ำ 58.08 ล้าน ลบ.ม. (ความจุ 56.74 ล้าน ลบ.ม.) ระดับน้ำเกินความจุ 1.34 ล้าน ลบ.ม. อ่างเก็บน้ำคลองหลา มีปริมาณน้ำ 17.83 ล้าน ลบ.ม. (ความจุ 25 ล้าน ลบ.ม.) ยังสามารถรับน้ำได้อีก 7.17 ล้าน ลบ.ม. อ่างเก็บน้ำคลองจำไหร มีปริมาณน้ำ 4.70 ล้าน ลบ.ม. (ความจุ 6 ล้าน ลบ.ม.) ยังสามารถรับน้ำได้อีก 1.30 ล้าน ลบ.ม.
2.2 จังหวัดนครศรีธรรมราช มีพื้นที่ประสบภัย จำนวน 7 อำเภอ ได้แก่ อำเภอร่อนพิบูลย์ เฉลิมพระเกียรติ ชะอวด เชียรใหญ่ หัวไทร ทุ่งสง และอำเภอเมือง
1) อำเภอร่อนพิบูลย์ ได้เกิดน้ำท่วมขังในพื้นที่ 6 ตำบล 57 หมู่บ้าน ได้แก่ ตำบลหินตก ร่อนพิบูลย์ เสาธง ควนเกย ควนพัง และควนชุม โดยเฉพาะที่ตำบลหินตก ร่อนพิบูลย์ และเสาธง ระดับน้ำสูง 0.80-1.00 เมตร
- ถนนสายเพชรเกษม ช่วง กม.21-22 จากตลาดสามร้อยกล้าถึงบริษัทโรงโม่หินมานะศิลา และถนนด้านทิศตะวันตก ถูกน้ำท่วมขัง รถทุกชนิดสามารถวิ่งผ่านได้เฉพาะฝั่งตะวันออกเท่านั้น จำเป็นจะต้องระบายน้ำออกจากพื้นที่โดยเร็วที่สุด โดยขออนุมัติทำลายเกาะกลางของถนนทางหลวง 3 จุด
- การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้ปิดการเดินรถสายชุมทางเขาชุมทอง — บ้านทุ่งหล่อ และ สายที่วัง อ.ทุ่งสง — ตรัง
2) อำเภอชะอวด เนื่องจากอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำใส ขนาดความจุ 80 ล้าน ลบ.ม.ระดับน้ำได้ล้นทางน้ำไหล (spill way) จึงได้ระบายน้ำออกปริมาณ 30 ลบ.ม./วินาที ทำให้น้ำได้ท่วมพื้นที่อำเภอชะอวด อำเภอเชียรใหญ่และอำเภอเฉลิมพระเกียรติ ระดับน้ำทั้ง 3 อำเภอ สูงประมาณ 1.70-2.00 เมตร
3) อำเภอเฉลิมพระเกียรติ ได้เกิดน้ำท่วมขัง 4 ตำบล 30 หมู่บ้าน ได้แก่ ตำบลทางพูน สวนหลวง ดอนตรอ และ เชียรเขา โดยที่ตำบลสวนหลวง บ้านทุ่งสร้าง ระดับน้ำสูง 2.00 เมตร ทางอำเภอจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวัง พร้อมเตรียมอพยพราษฎร หากสถานการณ์มีความรุนแรงมากขึ้น ความเสียหายอยู่ระหว่างการสำรวจ
4) อำเภอเชียรใหญ่ ได้เกิดน้ำท่วมเป็นวงกว้างเกิดน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มทุกตำบล ระดับน้ำสูงประมาณ 1.70-2.00 เมตร รถไม่สามารถสัญจรผ่านไป-มาได้
5) อำเภอหัวไทร เกิดน้ำท่วมขังเกือบทุกตำบล ระดับน้ำสูง ประมาณ 0.50-1.00 เมตร
6) อำเภอทุ่งสง ถนนสายนครศรีฯ-ทุ่งสง น้ำท่วมที่หน้าโรงโม่หินผาทอง ต.ถ้ำใหญ่ ระดับสูงประมาณ 0.60 เมตร รถเล็กไม่สามารถผ่านไปมาได้ ในตัวเมือง อ.ทุ่งสงระดับน้ำสูงประมาณ 1.00-1.50 เมตร
- เส้นทางสาย อ.ทุ่งสง-จ.ตรัง ตรงบริเวณโรงปูนซิเมนต์ ต.ที่วัง ระดับน้ำสูงประมาณ 0.40 เมตร รถเล็กไม่สามารถสัญจรผ่านไปมาได้
- ในเขตเทศบาลตำบลปากแพรก อำเภอทุ่งสง ระดับน้ำสูงประมาณ 0.70 เมตร ระดับน้ำเริ่มลดลงเนื่องจากได้มีการเปิดทางระบายน้ำ โดยการทำลายเกาะกลางถนนที่ขวางทางระบายน้ำแล้ว
7) อำเภอเมือง น้ำไหลจากอำเภอลานสกา ผ่านฝายท่าดี ทำให้น้ำล้นฝายไหลลงคลองธรรมชาติสายหลัก ทำให้ระดับน้ำสูงและไหลเข้าท่วมในเขตเทศบาลนครนครศรีธรรมราช บริเวณชุมชนมุมป้อม ชุมชนประตูขาว ชุมชนเพนียด และชุมชนท่าโพธิ์ ระดับน้ำสูงประมาณ 0.80-1.00 เมตร
การให้ความช่วยเหลือ
- แขวงการทางร่อนพิบูลย์ ได้อำนวยความสะดวกและแจ้งเตือนให้ผู้ใช้รถ ผ่านเส้นทางดังกล่าวด้วยความระมัดระวัง
- สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยสุราษฎร์ธานี ได้นำรถตักไปขุดลอกทางน้ำที่หมู่ 5 ตำบลเสาธง อำเภอร่อนพิบูลย์ เพื่อเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ท่วมขัง
- อำเภอเฉลิมพระเกียรติ ร่วมกับ อบต. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เร่งช่วยเหลือผู้ประสบภัยในเบื้องต้นแล้ว
- จังหวัด อำเภอเชียรใหญ่ อำเภอหัวไทร แจกจ่ายถุงยังชีพช่วยเหลือผู้ประสบภัย และอาหารสำหรับเลี้ยงสัตว์
- เทศบาลทุ่งสง ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ เพื่อเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่แล้ว
แนวโน้มสถานการณ์ เนื่องจากฝนตกหนักมากต่อเนื่องกันตั้งแต่วันที่ 14 ธ.ค.48 ทำให้ระดับน้ำในคลองธรรมชาติทุกสายมีระดับสูงขึ้นและมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับลักษณะอากาศซึ่งยังคงมีฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดสภาวะน้ำท่วมในหลายพื้นที่ของจังหวัดนครศรีธรรมราช และมีแนวโน้มจะมีระดับสูงขึ้นอีก ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยให้ติดตามสถานการณ์และพร้อมรับการอพยพไปอยู่ในที่ปลอดภัยตามแผนป้องกันภัยฝ่ายพลเรือนของจังหวัดแล้ว
2.3 จังหวัดปัตตานี มีพื้นที่ประสบภัย จำนวน 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง และหนองจิก
1) อำเภอเมืองปัตตานี เกิดน้ำท่วมขังในพื้นที่เขตเทศบาลเมืองปัตตานี และบริเวณพื้นที่รอบนอกของอำเภอเมืองปัตตานี บ้านจะบังติกอ ตำบลจะบังติกอ ตำบลตะลุโบะ บ้านลงอ่าง ตำบลสะบารัง ระดับน้ำสูงประมาณ 0.50 เมตร
2) อำเภอหนองจิก เกิดน้ำท่วมขังในพื้นที่ ตำบลดอนรัก (บ้านคลองขุด) ตำบลบ่อทอง (บ้านควนดิน โคกกอ บ่อทอง) ตำบลคอลอตันหยง (บ้านโคกโดด แม่โอน) ระดับน้ำทรงตัว สูงประมาณ 1.00 เมตร
- เขื่อนปัตตานียังคงระบายน้ำใน ปริมาณ 292.9 ลบ.ม./วินาที (เวลา 06.00 น.)
การให้ความช่วยเหลือ
1) สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้พระราชทานถุงยังชีพ แก่ผู้ประสบภัย จำนวน 1,000 ชุด โดยจัดส่งทางเครื่องบิน C 130 ไปถึงสนามบินบ่อทอง อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ในเวลา 13.30 น. ของวันที่ 15 ธันวาคม 2548 และผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ได้กระทำพิธีมอบถุงยังชีพพระราชทานดังกล่าว ให้แก่ราษฎรผู้ประสบภัยในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ณ ศาลากลางจังหวัดปัตตานีแล้ว
2) จังหวัด เทศบาลเมืองปัตตานี ได้จัดเรือท้องแบน จำนวน 3 ลำ และเรือบรรทุกขนาดใหญ่จำนวน 2 ลำ เข้าช่วยเหลือราษฎรที่ประสบภัยแล้ว
3) เทศบาลเมืองปัตตานี มอบถุงยังชีพ จำนวน 800 ชุด
4) เทศบาลเมืองปัตตานี แจกถุงทรายให้ประชาชนในเขตเทศบาลเพื่อเสริมแนวกั้นน้ำเพิ่มเติม และใช้เครื่องสูบน้ำขนาด 30 นิ้ว จำนวน 2 เครื่อง เร่งระบายน้ำที่ท่วมขังตลอด 24 ชั่วโมง
5) อำเภอหนองจิกได้อพยพราษฎรบ้านควนดิน จำนวน 40 ครัวเรือน ไปอยู่ที่ถนนสาย 42 (หนองจิก-โคกโพธิ์) และเร่งรัดให้ความช่วยเหลือในเบื้องต้น
6) เขื่อนปัตตานี นำรถแบคโฮ จำนวน 2 คัน ไปทำการขุดลอกทางระบายน้ำที่ตำบลเมาะมาวี และ บริเวณ กม.7-8 ตำบลกอลำ อำเภอยะรัง เพื่อเร่งระบายน้ำ
2.4 จังหวัดนราธิวาส ได้เกิดฝนตกหนักเกิดน้ำท่วมขังในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่อำเภอเมือง และอำเภอตากใบ
1) อำเภอเมือง ยังคงมีน้ำท่วมขังถนนบริเวณตำบลลำภู และบ้านทุ่งกง ตำบลโคกเคียน ระดับน้ำสูงประมาณ 0.50 เมตร โดยมีระดับน้ำสูงขึ้นเนื่องจากมีฝนตกหนัก รถเล็กไม่สามารถสัญจรได้
2) อำเภอตากใบ น้ำจากแม่น้ำสุไหงโก-ลก ได้เข้าท่วมในพื้นที่ ตำบลโฆษิต และตำบลนานาค ระดับน้ำสูงประมาณ 0.40 เมตร ความเสียหายอยู่ระหว่างการสำรวจ
การให้ความช่วยเหลือ
- อำเภอ อบต. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แจกจ่ายถุงยังชีพรวม 1,800 ชุด ช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ว
2.5 จังหวัดพัทลุง ได้เกิดฝนตกหนักตั้งแต่วันที่ 14 ธันวาคม 2548 ทำให้เกิดน้ำท่วมขังในพื้นที่ 10 อำเภอ 1 กิ่งอำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง บางแก้ว เขาชัยสน ป่าบอน ป่าพะยอม ปากพะยูน ตะโหมด กงหรา ควนขนุน ศรีบรรพต และกิ่งอำเภอศรีนครินทร์
1) อำเภอเมือง มีพื้นที่ประสบภัย 11 ตำบล 72 หมู่บ้าน ได้แก่ ตำบลเขาเจียก โคกชะงาย ลำปัว ปรางหมู่ ชัยบุรี ควนมะพร้าว พญาขันธ์ ตำนาน นาท่อม ท่าแค และร่มเมือง ระดับน้ำสูง 1.00-1.50 เมตร
2) อำเภอบางแก้ว น้ำท่วมขังที่ตำบลท่ามะเดื่อ จำนวน 5 หมู่บ้าน ระดับน้ำสูง 0.50 เมตรราษฎรได้รับความเดือดร้อน 1,156 ครอบครัว 3,860 คน
3) อำเภอเขาชัยสน น้ำท่วม 5 ตำบล 23 หมู่บ้าน ระดับน้ำสูงประมาณ 1.00-1.20 เมตร ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 564 ครัวเรือน 2,296 คน
4) อำเภอป่าบอน เกิดน้ำท่วมขังในที่ลุ่ม 3 ตำบล 5 หมู่บ้าน ระดับน้ำสูงประมาณ 0.20-0.30 เมตร ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 150 ครัวเรือน
5) อำเภอป่าพะยอม มีน้ำท่วมขัง 3 ตำบล 17 หมู่บ้าน ระดับน้ำสูงประมาณ 0.20- 0.30 เมตร ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 730 ครัวเรือน 2,611 คน
6) อำเภอปากพะยูน มีน้ำท่วมขัง 5 ตำบล 9 หมู่บ้าน ระดับน้ำสูงประมาณ 1.50-2.00 เมตร ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 1,071 ครัวเรือน
7) อำเภอตะโหมด มีน้ำท่วมขัง 2 ตำบล 2 หมู่บ้าน ระดับน้ำสูงประมาณ 0.30-0.80 เมตร
8) อำเภอกงหรา มีน้ำท่วมขัง 3 ตำบล 12 หมู่บ้าน ระดับน้ำสูงประมาณ 1.20-1.50 เมตร
9) อำเภอควนขนุน มีน้ำท่วมขัง 6 ตำบล 14 หมู่บ้าน ระดับน้ำสูงประมาณ 0.20-0.30 เมตร ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 105 ครัวเรือน 2,000 คน
10) อำเภอศรีบรรพต มีน้ำท่วมขัง 2 ตำบล 8 หมู่บ้าน
11) กิ่งอำเภอศรีนครินทร์ มีน้ำท่วมขัง 4 ตำบล 25 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 317 ครัวเรือน 824 คน
การให้ความช่วยแหลือ/แก้ไขปัญหา จังหวัดพัทลุงได้ประสานการปฏิบัติกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาและการให้ความช่วยเหลือราษฎรผู้ประสบภัย รวมทั้งได้จัดซื้อเครื่องอุปโภคบริโภคแจกผู้ได้รับความเดือดร้อนแล้วจำนวนหนึ่ง และได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนในเบื้องต้นแล้ว
- สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดพัทลุง ร่วมกับนายกเหล่ากาชาดจังหวัดพัทลุง ที่ทำการปกครองอำเภอ อบจ. และอบต. ร่วมแจกจ่ายถุงยังชีพ รวม 14,046 ชุด กระสอบทราย 8,500 ถุง
- ชลประทาน อบจ. เทศบาลเมืองพัทลุง ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ บริเวณแยกโพธิ์ฉลอง, วังเนียง เพื่อเร่งระบายน้ำออกจากเขตเทศบาลเมืองพัทลุง
- ทางหลวงชนบทพัทลุง ได้นำรถบรรทุกอพยพประชาชนหมู่ 5 ตำบลชะรัต อ.กงหรา ไปยังสถานที่ปลอดภัย
2.6 จังหวัดตรัง ได้เกิดฝนตกหนักที่อำเภอเมืองวัดได้ 150 มม. และเกิดน้ำท่วม 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง ห้วยยอด ย่านตาขาว และกันตัง
1) อำเภอเมือง เกิดน้ำท่วมขัง 5 ตำบล ได้แก่ ตำบลบ้านโพธิ์ นาโยงใต้ นาท่ามใต้ นาท่ามเหนือ และบางรัก ระดับน้ำสูงประมาณ 0.50-1.00 เมตร
- ถนนสายเลี่ยงเมือง บริเวณสี่แยกอันดามัน ไป อ.กันตัง ระดับน้ำสูงประมาณ 0.50 เมตร ระยะทางยาว 100 เมตร รถไม่สามารถสัญจรไปมาได้
2) อำเภอย่านตาขาว เกิดน้ำท่วมขัง 4 ตำบล ได้แก่ ตำบลในควน ทุ่งกระบือ ย่านตาขาว และหนองบ่อ ระดับน้ำสูงประมาณ 0.30 เมตร
3) อำเภอห้วยยอด เกิดน้ำท่วมขัง 8 ตำบล ได้แก่ ตำบลห้วยยอด บางดี เขากอบ นาวง
ทุ่งต่อ ลำภูรา เขาขาว และท่างิ้ว โดยที่หมู่บ้านหารจีนเค้า ระดับน้ำสูง 1.50 เมตร ได้อพยพประชาชนในตำบล
ทุ่งต่อ เขาขาว เขากอบ ท่างิ้ว 150 ครัวเรือน ไปไว้ในที่ปลอดภัย
4) อำเภอกันตัง เกิดน้ำท่วมขัง 2 ตำบล ได้แก่ ตำบลดอนธานี และบางหมาก ระดับน้ำสูงประมาณ 0.30 เมตร อำเภอได้อพยพประชาชน 15 ครัวเรือน ไปอยู่ในที่ปลอดภัย
การให้ความช่วยเหลือ
- สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งรัดดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบภัยในเบื้องต้น
3. การดำเนินการของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
- ในวันนี้ (16 ธ.ค.48) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้แจ้งให้ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 4 ประจวบคีรีขันธ์ จัดส่งเรือท้องแบนจำนวน 7 ลำ พร้อมเจ้าหน้าที่ ไปสนับสนุนและช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่จังหวัดสงขลาแล้ว
4. กรมอุตุนิยมวิทยาออกประกาศเตือน ณ วันที่ 16 ธ.ค. 48 เวลา 05.00 น. เรื่อง ฝนตกหนัก ถึงหนักมากในภาคใต้ตอนล่างและคลื่นลมแรงในอ่าวไทย ฉบับที่ 8 (191/2548) ว่า มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมภาคใต้ยังคงมีกำลังแรง และหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงปกคลุมอ่าวไทยตอนล่างกำลังเคลื่อนตัวทางตะวันตก คาดว่า จะเคลื่อนเข้าสู่ภาคใต้ตอนล่างในวันนี้ (16 ธ.ค.48) ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคใต้ตั้งแต่จังหวัดนครศรีธรรมราชลงไปมีฝนตกหนักถึงหนักมากในหลายพื้นที่ ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ซึ่งจะไหลลงมาจากเทือกเขาสันกาลาคีรีและตะนาวศรี รวมทั้งน้ำล้นตลิ่งในที่ลุ่มและพื้นที่เสี่ยงภัยของจังหวัดนครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ตรัง และสตูล ขอให้ประชาชนในจังหวัดดังกล่าวระมัดระวังอันตรายและความเสียหายที่เกิดจากภัยธรรมชาติในระยะนี้ สำหรับบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันจะมีคลื่นสูง 2-4 เมตร ขอให้ชาวเรือระมัดระวังอันตรายในการเดินเรือ และเรือเล็กในอ่าวไทยควรงดออกจากฝั่งในช่วงวันที่ 16-18 ธันวาคม 2548 นี้ไว้ด้วย
อนึ่ง บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังแรงจากประเทศจีนแผ่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนและอ่าวไทย ทำให้บริเวณดังกล่าวมีอากาศหนาวเย็นโดยทั่วไป อุณหภูมิจะลดลงอีก 2-3 องศา กับมีลมแรง
สำนักเลขาธิการป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้แจ้งเตือนจังหวัดชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ภูเก็ต กระบี่ ตรัง สตูล สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และ นราธิวาส รวมทั้งศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 3 (ปราจีนบุรี) เขต 4 (ประจวบคีรีขันธ์) เขต 11 (สุราษฎร์ธานี) และ เขต 12 (สงขลา) ให้เตรียมการป้องกันแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัย โคลนถล่ม และคลื่นลมแรง อันเกิดจากอิทธิพลของสภาวะอากาศดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 13 ธันวาคม 2548 แล้ว
5. ปริมาณน้ำฝน ตั้งแต่ 07.00 น วันที่ 15 ธ.ค.48 ถึง 07.00 น วันที่ 16 ธ.ค.48 วัดได้ ดังนี้
- จ.พัทลุง (อ.เมือง) 189.6 มม.
- จ.สงขลา (อ.เมือง) 170.6 มม. (อ.คอหงษ์) 126.1 มม.
- จ.ตรัง (อ.เมือง) 150.0 มม.
- จ.นครศรีธรรมราช (อ.เมือง) 127.8 มม.
- จ.ปัตตานี (อ.เมือง) 71.6 มม.
6. จากการตรวจสอบสภาวะฝนจากสถานีเรดาร์กรมอุตุนิยมวิทยา ในวันที่ 16 ธ.ค.48 เวลา 06.00 น. พบว่า มีกลุ่มฝนกำลังปานกลางถึงหนัก ปกคลุมพื้นที่บางส่วนของจังหวัดนครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ตรัง และในบริเวณอ่าวไทย
7. สำนักเลขาธิการป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวัง ติดตามสถานการณ์ และให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องแล้ว ทั้งนี้ หากมีสถานการณ์คืบหน้าประการใด จักได้ติดตามและรายงานให้ทราบต่อไป--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ