กระทรวงพาณิชย์ เปิด “ศูนย์ปฏิบัติการข้อมูลการตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์” จับมือ 3 กระทรวง 1 จังหวัด เพิ่มความแข็งแกร่งในตลาดโลก

ข่าวทั่วไป Friday January 11, 2008 17:49 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 ม.ค.--อินทิเกรเต็ด คอมมูนิเคชั่น
กระทรวงพาณิชย์ มั่นใจตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์เติบโตทั้งในประเทศและตลาดโลก เร่งพัฒนาขีดความสามารถผู้ประกอบการ ด้วยการเปิด “ศูนย์ปฏิบัติการข้อมูลการตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์” (Commerce Intelligence of MOC : CIM )ผู้สนใจสามารถใช้ข้อมูลด้านตลาดเพื่อวางแผนบริหารจัดการด้านการผลิตและการตลาดเชิงรุก ผ่านเว็ปไซต์ www.organic.moc.go.th โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ไทยภายใต้ความร่วมมือของ 3 กระทรวง 1 จังหวัด ระหว่างกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย และจังหวัดสุรินทร์
นายศิริพล ยอดเมืองเจริญ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ปัจจุบันผู้บริโภคไทยคำนึงถึงสุขภาพมากขึ้น ทำให้กระแสความตื่นตัวในสุขภาพ การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และความต้องการบริโภคอาหารเกษตรอินทรีย์เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว มีมูลค่าปีละประมาณ 1,000 ล้านบาท สินค้าหลัก ได้แก่ ข้าว สมุนไพร ผักสด และผลไม้ โดยส่งออกกว่า 50% ของผลผลิต ไปยังตลาดที่สำคัญ คือ สหภาพยุโรป อเมริกา ญี่ปุ่น และสิงคโปร์
“การบริโภคสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้กระทรวงพาณิชย์ได้เล็งเห็นโอกาสที่ผู้ประกอบการไทยจะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก จึงจัดตั้ง CIM ขึ้นที่สำนักงานพาณิชย์จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีแหล่งผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ครบวงจร เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลการผลิต การตลาดทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งให้บริการข้อมูลสินค้าเกษตรอินทรีย์แก่หน่วยงานภาครัฐ เอกชน ผู้ประกอบการ เกษตรกร และประชาชนทั่วไป เช่น ข้อมูลสถิติ ข้อมูลการผลิต ข้อมูลการตลาด การรับรองมาตรฐานจากหน่วยงานสากล
นอกจากนี้ CIM จะเชื่อมโยงและมีเครือข่ายด้านข้อมูลกับหน่วยงานรัฐและเอกชน เช่น สมาคมการค้าเกษตรอินทรีย์ไทย สำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ สำนักงานพาณิชย์จังหวัด องค์กรระหว่างประเทศ GTZ และ ITC- WTO ทำให้ผู้ประกอบการของไทยสามารถพัฒนาสินค้าและรับทราบถึงสถานการณ์การค้า แนวโน้มตลาด มีความพร้อมและสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก”
การส่งเสริมและพัฒนาตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ของกระทรวงพาณิชย์ ยังมีแผนปฏิบัติการที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ ความร่วมมือพัฒนาและส่งเสริมสินค้าเกษตรอินทรีย์ ระหว่างกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และจังหวัดสุรินทร์ ภายใต้ความร่วมมือนี้ กระทรวงพาณิชย์ มีบทบาทในการส่งเสริมและพัฒนาตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ โดยใช้ 4 กลยุทธ์ คือ
1) รณรงค์และให้คำแนะนำเกี่ยวกับตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์แก่ผู้ผลิต ผู้รวบรวม ผู้แปรรูปและผู้ส่งออก รวมทั้งผลักดันให้มีความช่วยเหลือด้านแหล่งเงินทุนแก่ผู้ประกอบการ
2) ขยายตลาดทั้งในและต่างประเทศ เช่น สนับสนุนข้อมูลด้านการตลาดเชิงลึก จัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดทั้งงานแสดงสินค้าในและต่างประเทศ จับคู่ธุรกิจ พัฒนาช่องทางการตลาดใหม่ๆ เช่น การค้าอิเล็กทรอนิกส์ การค้าระบบสมาชิก
3) สร้างมูลค่าให้สินค้าเกษตรอินทรีย์และผลิตภัณฑ์ เช่น สร้างตราสินค้า พัฒนาบรรจุภัณฑ์ และยกระดับมาตรฐานสู่สากล
4) สนับสนุนการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกทางการค้า เช่น การส่งเสริมการจัดตั้งเครือข่ายกระจายสินค้า ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ศูนย์รวบรวมและกระจายผลผลิต ร้านค้าชุมชน ร้านค้าเพื่อสุขภาพ ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านค้าปลีกสมัยใหม่ ตลาดนัด เป็นต้น
กระทรวงพาณิชย์และศูนย์ปฏิบัติการข้อมูลการตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ ได้ดำเนินกิจกรรมตามกลยุทธ์ในด้านการตลาด และส่งเสริมภาพลักษณ์สินค้าเกษตรอินทรีย์ ได้แก่ การนำสินค้าเกษตรอินทรีย์เข้าร่วมงานแสดงสินค้าในประเทศและต่างประเทศ จัดเจรจาธุรกิจ จัดกิจกรรมการขายร่วมกับห้างสรรพสินค้า รวมทั้งให้ความรู้ผู้ผลิตและผู้ประกอบการเกี่ยวกับการตลาดและมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ รณรงค์ผ่านสื่อต่าง ๆ เพื่อให้มีการบริโภคสินค้าเกษตรอินทรีย์เพิ่มขึ้น
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีบทบาทในการส่งเสริมและพัฒนาการผลิต มาตรฐานและระบบการรับรองสินค้าเกษตรอินทรีย์ไทย ให้ได้รับการยอมรับระดับสากล เกษตรกรผู้ผลิตได้รับประโยชน์จากการเทียบเคียงมาตรฐานในการ ลดค่าใช้จ่ายในการตรวจรับรองการขยายตลาดและสามารถอำนวยความสะดวกให้เกษตรกร ที่ต้องการผลิตตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าได้สะดวกยิ่งขึ้น เพื่อสร้างความเชื่อถือเชื่อมั่นยกระดับคุณภาพ ให้ผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศยอมรับ โดยมีแนวทางดำเนินงาน 6 ด้าน คือ
1) ด้านมาตรฐานและระบบการรับรอง เพื่อพัฒนาระบบมาตรฐานและการรับรองเกษตรอินทรีย์ไทยให้เป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศและประเทศคู่ค้า
2) ด้านการส่งเสริม สนับสนุนเกษตรกร และเครือข่าย เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรและกลุ่มเกษตรกร เข้าสู่ระบบการผลิตตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ และให้ได้สินค้าที่ผ่านการรับรองและเป็นที่ยอมรับ
3) ด้านระบบเชื่อมโยงการผลิต การแปรรูป และการตลาด เพื่อให้ได้สินค้าเกษตรอินทรีย์ทั้งปริมาณและคุณภาพ ตามความต้องการของตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ และการมีระบบข้อตกลงการซื้อผลผลิตของเกษตรกร
4) ด้านการส่งเสริม และประชาสัมพันธ์ตลาด เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
5) ด้านการวิจัยและพัฒนา เพื่อให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสม และสามารถนำไปปฏิบัติเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรอินทรีย์
6) ด้านนโยบายและการบริหารจัดการ เพื่อสร้างความร่วมมือและการเชื่อมโยงในระดับต่างๆ ในการกำหนดนโยบายการบริหารจัดการในลักษณะบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
กระทรวงมหาดไทย มีบทบาทในการส่งเสริมและผลักดันให้มีการขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอินทรีย์แบบครบวงจรอย่างเป็นรูปธรรมในทุกจังหวัด ผลักดันให้ชุมชน องค์กรในท้องถิ่นมีความเข้มแข็งเพื่อสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ซึ่งนำไปสู่การแก้ไขปัญหาความยากจน มุ่งหวังให้ประชาชนในพื้นที่ในภูมิภาค ช่วยเหลือตนเองและพึ่งพาตนเอง รวมทั้งเพิ่มรายได้ให้ครอบครัว ชุมชนในท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง และสอดคล้องกับทิศทาง การพัฒนา และส่งเสริมการบริโภคสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่มีคุณภาพ และยังเป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรดิน น้ำ และการรักษาระบบนิเวศอย่างยั่งยืน
ส่วน จังหวัดสุรินทร์ จะมีการบูรณาการดำเนินการส่งเสริมสินค้าเกษตรอินทรีย์ของทุกหน่วยงานในจังหวัดให้เห็นผลเป็นรูปธรรม เช่น 1) ปรับปรุงบำรุงดิน และส่งเสริมการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ทดแทนปุ๋ยเคมี, ส่งเสริมการปลูกพืชหมุนเวียนในนา 2) พัฒนาความรู้ด้านเกษตรอินทรีย์ โดยถ่ายทอดความรู้ผ่านกระบวนการโรงเรียนเกษตร ส่งเสริมและพัฒนาเป็นหมู่บ้านเกษตรอินทรีย์ ด้านข้าว พืชผัก ปศุสัตว์ ประมง การทำปุ๋ยอินทรีย์ 3) ตรวจสอบและรับรองมาตรฐานโดยจัดทำทะเบียนเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์ ตรวจสอบและให้การรับรองมาตรฐาน ตั้งศูนย์ปฏิบัติการเกษตรอินทรีย์ระดับจังหวัด 4) จำหน่ายสินค้าโดยนำข้าวหอมมะลิอินทรีย์วางจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าระดับบนในกรุงเทพฯและปริมณฑล จัดสถานที่จำหน่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์ในจังหวัด ส่งเสริมการจัดตลาดนัดสีเขียว รณรงค์ให้ร้านอาหารในจังหวัดใช้ข้าวหอมมะลิและสินค้าเกษตรอินทรีย์บริการลูกค้า สนับสนุนให้โรงพยาบาลในจังหวัดใช้ข้าวหอมมะลิและผักอินทรีย์บริการผู้ป่วย จัดงานเกษตรอินทรีย์ของดีเมืองสุรินทร์ทั้งในจังหวัดสุรินทร์และกรุงเทพมหานคร นำผู้ผลิต ผู้แปรรูป และผู้ค้าสินค้าเกษตรอินทรีย์พบปะเพื่อเจรจาซื้อขายล่วงหน้า
ในความร่วมมือของ 3 กระทรวง 1 จังหวัด จะทำให้เกษตรอินทรีย์ได้รับการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศ และมีผลเป็นรูปธรรม มุ่งเน้นการรักษาฐานทรัพยากรและความสมดุลของระบบนิเวศ การสร้างสภาพแวดล้อมเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต การพัฒนาที่ยั่งยืน การพัฒนาคุณค่า ความหลากหลายทางชีวภาพ และภูมิปัญญาท้องถิ่น รวมทั้งขยายตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ไทยสู่ตลาดโลก เกษตรกรมีรายได้ ความเป็นอยู่ดีขึ้น สร้างรายได้เข้าสู่ประเทศส่งผลให้เศรษฐกิจเข้มแข็ง
ทั้งนี้ ในงานแถลงคำมั่นความร่วมมือในการพัฒนาและส่งเสริมสินค้าเกษตรอินทรีย์ ระหว่างกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย และจังหวัดสุรินทร์ ในวันที่ 10 มกราคม 2551 ได้จัดให้มีการเจรจาธุรกิจ (Business Matching) ระหว่างผู้ซื้อและผู้ผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ โดยมีผู้ซื้อซึ่งเป็นห้างสรรพสินค้า โรงพยาบาล และอื่นๆ มาร่วมงาน 68 ราย ส่วนผู้ขายเป็นเครือข่ายผู้ผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์จากจังหวัดสุรินทร์ เพชรบูรณ์ และร้อยเอ็ด รวม 78 ราย
ข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ
อุษณีย์ ถาวรกาญจน์
บริษัท อินทิเกรเต็ด คอมมูนิเคชั่น จำกัด
โทร.0 2354 3588 Email : usanee@incom.co.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ