กยท. เตรียมเดินเครื่องโครงการสร้างความเข้มแข็งฯ หวังเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต/ช่วยค่าครองชีพ ดันสร้างถนนยาง 1 หมู่บ้าน 1 กิโลเมตร เพื่อดูดซับยางกว่า 1 ล้านตัน

ข่าวทั่วไป Friday November 30, 2018 17:52 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--30 พ.ย.--การยางแห่งประเทศไทย กนย. ไฟเขียวเห็นชอบ 2 โครงการ แก้ปัญหายางพาราช่วยเกษตรกร มอบ กยท. ดำเนินโครงการสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง ให้ความช่วยเหลือตามพื้นที่สวนยางเปิดกรีดจริง 1,800 บาท/ไร่ ไม่เกินรายละ 15 ไร่ เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและช่วยค่าครองชีพ เร่งโครงการ 1 หมู่บ้าน 1 กิโลเมตร ผลักดันสร้างถนนพาราซอยด์ซีเมนต์เพิ่มเป้าใช้ยางในประเทศให้สูงขึ้น นายเยี่ยม ถาวโรฤทธิ์ รักษาการผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย เผยมติที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) ครั้งที่ 1/2561 เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2561 ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ดำเนินโครงการสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรชาวสวนยางและคนกรีดยาง โดยการสนับสนุนเงินไร่ละ 1,800 บาท ไม่เกินรายละ 15 ไร่ โดยแบ่งจ่ายให้เกษตรกรเจ้าของสวนยาง ผู้เช่าหรือผู้ทำสวนยาง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และปรับปรุงคุณภาพผลผลิต จำนวน 1,100 บาท/ไร่ และเป็นค่าครองชีพให้คนกรีดยาง จำนวน 700 บาท/ไร่ ซึ่งต้องเป็นเกษตรกรชาวสวนยางที่มีสวนยางในพื้นที่มีเอกสารสิทธิ์ที่เปิดกรีดแล้ว และขึ้นทะเบียนกับ กยท. ก่อนวันที่ 14 พฤศจิกายน 2561 จำนวน 999,065 ราย และคนกรีดยาง 304,266 ราย คิดเป็นพื้นที่ 9,448,447 ไร่ โดยผ่านความเห็นชอบจาก กนย. แล้ว ขั้นต่อไปจะนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาอีกครั้งในวันที่ 4 ธันวาคม 2561 ทั้งนี้ เมื่อ ครม.พิจารณาอนุมัติโครงการฯ แล้วจะสามารถดำเนินการได้ทันทีตามขั้นตอนการดำเนินงานตามโครงการฯ คือ 1.แต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบสิทธิ์โครงการฯ ระดับตำบล และคณะกรรมการบริหารโครงการฯ ระดับอำเภอ และระดับจังหวัด 2.ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิ์ 3.เปิดรับแจ้งเข้าร่วมโครงการฯ 4.ตรวจสอบคุณสมบัติพร้อมให้การรับรอง โดยคาดว่าจะสามารถเข้าสู่กระบวนการจ่ายเงินได้ในช่วงเดือนธันวาคม เป็นต้นไป อีกหนึ่งโครงการที่ผ่านการเห็นชอบในหลักการจาก กนย. คือ โครงการ 1 หมู่บ้าน 1 กิโลเมตร ที่จะร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการดำเนินงานสร้างถนนพาราซอยด์ซีเมนต์ทั่วประเทศ จำนวน 75,032 หมู่บ้าน หมู่บ้านละ 1 กิโลเมตร รวมระยะทาง 75,032 กิโลเมตร ตามแผนปฏิบัติงานโครงการปรับปรุงถนนภายในหมู่บ้านให้เป็นถนนที่มีการนำยางพารามาผสม เพื่อปรับปรุงคุณสมบัติของดินให้ดีขึ้น เป็นการกระตุ้นให้เกิดการใช้ยางภายในประเทศ ซึ่งการสร้างถนนดังกล่าวตามโครงการฯ จะใช้น้ำยางสดปริมาณ 1,440,614.4 ตัน หรือคิดเป็นน้ำยางข้น 720,320.2 ตัน คิดเป็นมูลค่าน้ำยางสดกว่า 1.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งขณะนี้ อยู่ระหว่างจัดทำข้อกำหนดพิเศษในการก่อสร้างถนนดินซีเมนต์ปรับปรุงคุณภาพด้วยยางธรรมชาติ (ยางพารา) ของกรมทางหลวง ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในวันที่ 10 ธันวาคม นี้ ด้านงบประมาณอยู่ระหว่างการสำรวจเงินสะสมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่จะนำมาใช้สร้างถนนตามโครงการฯ พร้อมสำรวจความต้องการในการนำยางมาสร้างถนนเพิ่ม โดยตั้งงบประมาณโครงการฯ รวมทั้งสิ้นกว่า 9.2 หมื่นล้านบาท เป้าหมายเพื่อดูดซับน้ำยางออกจากระบบ เมื่อมีการปรับแผนและวิธีการดำเนินงานสมบูรณ์แล้ว กยท. จะนำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป ทั้งนี้ ขอให้เกษตรกรชาวสวนยางติดต่อ การยางแห่งประเทศไทยในพื้นที่ใกล้บ้านท่าน หากเกษตรกรชาวสวนยางต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อไปที่ศูนย์ปฏิบัติการโครงการยางตามนโยบายของรัฐ สำนักงานใหญ่ การยางแห่งประเทศไทย เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ โทร 0-2433-3674

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ