สวทน. – จุฬาฯ - สวทช. เปิดรับฟังความคิดเห็นสถานประกอบการ กับโครงการพลิกโฉมการศึกษาไทย เปลี่ยนแนวคิด “จบตรีไม่รู้จะทำอะไร” เป็น “เรียนต่อโทและทำงานในอุตสาหกรรม” พร้อมรับเงินเดือนขั้นต่ำ 1.5 หมื่นบาท

ข่าวทั่วไป Wednesday December 12, 2018 17:42 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--12 ธ.ค.--สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ โรงแรมแมนดาริน กรุงเทพฯ – สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) ร่วมกับ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดรับฟังความคิดเห็นสถานประกอบการและผู้เกี่ยวข้องเกี่ยวกับโครงการ "วิทยาศาสตร์เพื่ออุตสาหกรรม (Science for Industry: Sci-FI)" หลักสูตรการศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ในรูปแบบบูรณาการการศึกษาร่วมกับการทำงานในสถานประกอบการ เมื่อวันพุธที่ 12 ธันวาคม 2561 ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมแมนดาริน BC ชั้น 1 โรงแรมแมนดาริน กรุงเทพฯ เชื่อ! ช่วยตอบโจทย์ทั้งภาคอุตสาหกรรมที่ต้องการบุคลากรที่มีทักษะ และมหาวิทยาลัยที่ต้องการผลิตบุคลากรที่ตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรม โดยหวังว่า Sci-FI จะเป็นกุญแจสำคัญในการพัฒนากำลังคนที่มีทักษะและศักยภาพเพื่อปฏิบัติงานในอุตสาหกรรมไทยยุคอุตสาหกรรม 4.0 อุตสาหกรรม 4.0 เป็นยุคก้าวกระโดดที่ต้องการกำลังคนที่มีความรู้หลากหลายด้านและสามารถผสมผสานกันเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและรองรับกับเทคโนโลยีใหม่ให้กับสถานประกอบการ แต่ด้วยระบบการศึกษาไม่สามารถผลิตกำลังคนที่มีทักษะตรงตามความต้องการที่มีการเปลี่ยนแปลงไปตามความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ส่งผลให้สถานประกอบการประสบปัญหาการขาดแคลนกำลังคนที่มีความรู้และทักษะเฉพาะด้าน โดยเฉพาะบุคลากรระดับกลาง (Middle Manager/Engineer) ที่มีความรู้ทั้งด้านกระบวนการผลิตอุตสาหกรรม (Production Process) และการบริหารจัดการเทคโนโลยี (Technology Management) ทำให้ยากต่อการสร้างนวัตกรรมผลิตภัณฑ์และกระบวนการ (Product-Process of Innovation) ดังนั้นหากสามารถพัฒนารูปแบบความเชื่อมโยงระหว่างอุตสาหกรรมและการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างเป็นระบบที่เข้ากันได้อย่างพอดี ก็จะสามารถลดปัญหาเหล่านี้ได้ สวทน. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ สวทช. จึงได้ร่วมมือพัฒนา โครงการ Sci-FI เพื่ออุตสาหกรรม โดยการสร้างกำลังคนที่มีทักษะตรงตามความต้องการของสถานประกอบการ และเป็นทางเลือกหรือเส้นทางอาชีพใหม่สำหรับผู้เรียนจบปริญญาตรี สายวิทยาศาสตร์ ให้สามารถเรียนต่อในระดับปริญญาโทควบคู่ไปกับการทำงานในภาคอุตสาหกรรม อีกทั้ง Sci-FI ยังช่วยตอบโจทย์ในระดับประเทศ ในการยกระดับการพัฒนาการศึกษาไปพร้อมกับการแก้ปัญหาด้านกำลังคนของภาคอุตสาหกรรมร่วมกับมหาวิทยาลัย โดยใช้โจทย์ปัญหาจริงที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมมาเป็นตัวตั้ง สำหรับแนวคิดโครงการ "วิทยาศาสตร์เพื่ออุตสาหกรรม หรือ Science for Industry: Sci-FI" เป็นโครงการที่รับผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาวิทยาศาสตร์ เพื่อทำงานในสถานประกอบการเป็นระยะเวลา 2 ปี ในตำแหน่งผู้ช่วยวิศวกร ผู้ช่วยหัวหน้างาน หรือผู้ช่วยหัวหน้าแผนก กับสถานประกอบการที่มีความต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ปรับปรุงกระบวนการผลิต หรือออกแบบ ทดลอง ทดสอบ หรือวิจัยนวัตกรรมใหม่ โดยในขณะเดียวกัน นิสิต Sci-FI ก็จะเข้าศึกษาในระดับปริญญาโท หลักสูตรวิทยาศาสตร์เพื่ออุตสาหกรรม (Science for Industry: Sci-FI) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ควบคู่ไปด้วยนอกเวลาการทำงาน ทั้งนี้ ระหว่างโครงการระยะเวลา 2 ปี คณาจารย์หลักสูตร Sci-FI สามารถให้คำปรึกษา ร่วมดำเนินการ หรือร่วมพัฒนา ปรับปรุง ทดสอบ และร่วมวิจัยในหัวข้อที่สถานประกอบการสนใจได้ ซึ่งจะถือเป็นส่วนของวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโท อย่างไรก็ตาม โครงการ Sci-FI เป็นโครงการที่ต่างจากการฝึกงานทั่วไป โดยปกติแล้วการฝึกงานระยะสั้น จะไม่สามารถทำให้นิสิตปฏิบัติงานได้เช่นพนักงานทั่วไป และความสนใจของนิสิตในการฝึกงานจะมีน้อย เนื่องจากพอหมดระยะเวลาการฝึกงานแล้วก็ต้องกลับไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัย ในขณะที่ Sci-FI กำหนดให้นิสิตปฏิบัติงานให้สถานประกอบการเป็นระยะเวลา 2 ปี ซึ่งเป็นเวลาให้นิสิต Sci-FI ปฏิบัติงานให้แก่สถานประกอบการได้อย่างคุ้มค่ากับทรัพยากรที่สถานประกอบการลงทุน โดยสถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการจะต้องจ่ายค่าตอบแทนนิสิตเป็นค่าเบี้ยเลี้ยง ไม่ต่ำกว่าเดือนละ 15,000 บาท รูปแบบของโครงการ Sci-FI จะเป็นการพลิกโฉมแนวคิดการทำงานร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยกับสถานประกอบการอย่างแท้จริง โดยสถานประกอบการจะได้บุคลากร (นิสิต) ที่มีทักษะตรงกับงานมามาปฏิบัติงานเต็มเวลา รวมถึงร่วมแก้ปัญหาหรือพัฒนาด้านต่าง ๆ ร่วมกับบุคลากรในสถานประกอบการเอง โดยผู้เชี่ยวชาญทางเทคโนโลยี หรืออาจารย์ที่ปรึกษาให้คำแนะนำตลอดระยะเวลาเข้าร่วมโครงการ ซึ่งโครงการรูปแบบดังกล่าวจะสร้างผลกระทบทางบวกให้กับภาคอุตสาหกรรม และมหาวิทยาลัยมากกว่าการนำเพียงโจทย์วิจัยจากสถานประกอบการมาทำวิจัยในมหาวิทยาลัยเท่านั้น และยังสามารถเปลี่ยนความคิดของผู้ศึกษาจบในระดับปริญญาตรี จาก "เรียนจบตรีแต่ไม่รู้จะทำอะไร" มาเป็น "เรียนต่อโทและทำงานในอุตสาหกรรม" ได้อีกด้วย อย่างไรก็ตาม ในการเปิดรับฟังความคิดเห็น มีผู้ประกอบการให้ความสนใจในหลายประเด็น พร้อมทั้งให้ข้อคิดเห็นในเรื่องของการรักษาความลับทางการค้าของสถานประกอบการในระหว่างที่นิสิต นักศึกษามาทำงานในช่วงโครงการว่าเป็นเรื่องสำคัญมาก หากโครงการไม่สามารถดูแลเรื่องการเก็บรักษาความลับในช่วงเวลาของโครงการได้ โอกาสที่นิสิต นักศึกษาจะได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการวิจัยขั้นสูงของสถานประกอบการจะเกิดขึ้นได้ยากมาก ซึ่งในเรื่องดังกล่าว รศ.ดร.ประเสริฐ เรียบร้อยเจริญ คณะทำงานคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ชี้แจงว่า ทางโครงการให้ความสำคัญกับเรื่องการรักษาความลับทางการค้าของสถานประกอบการระหว่างช่วงดำเนินโครงการเป็นลำดับต้น ๆ อีกทั้งพันธมิตรที่ร่วมโครงการทั้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ITAP เองก็มีประสบการณ์ในการทำงานในสถานประกอบการมาพอสมควร สถานประกอบการหมดกังวลในประเด็นนี้ได้ ทั้งนี้ สถานประกอบการ หรือนิสิต นักศึกษาสาขาวิทยาศาสตร์ ในระดับปริญญาตรี ที่สนใจเข้าร่วมโครงการสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์บริหารโครงการ Sci-FI คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รศ.ดร.ประเสริฐ เรียบร้อยเจริญ โทรศัพท์ 08-6733-7528 อีเมล Prasert.R@chula.ac.th หรือ น.ส.เจนจิรา รัตถิวัลย์ โทรศัพท์ 08-5080-9870 อีเมล scifi.cu@gmail.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ