บีโอไอหนุนคนไทยใช้รถยนต์ไฟฟ้า ไฟเขียวตั้งสถานีบริการ 3,000 หัวจ่ายทุกภาคทั่วประเทศ

ข่าวยานยนต์ Tuesday December 25, 2018 15:32 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 ธ.ค.--บีโอไอ บีโอไอเผยไฟเขียวเอกชนรายแรกของไทยลงทุนกว่า 1,000 ล้าน ตั้งสถานีบริการอัดประจุไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า 3,000 หัวจ่าย กระจายในทุกภาคทั่วประเทศ พร้อมอนุมัติโครงการผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า หนุนการเติบโต หลังค่ายรถยนต์ชั้นนำของโลกหันลงทุนในไทยป้อนความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าส่วนบุคคลกว่า 1.2 ล้านคันภายในปี 2564 นายโชคดี แก้วแสง รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ คณะอนุกรรมการพิจารณาโครงการส่งเสริมการลงทุน ได้อนุมัติส่งเสริมการลงทุนโครงการสถานีบริการอัดประจุไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า ของบริษัทพลังงานมหานคร จำกัด เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,092 ล้านบาท ซึ่งนับเป็นโครงการลงทุนแห่งแรกในกิจการสถานีบริการอัดประจุไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าของภาคเอกชนที่ได้รับส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ ทั้งนี้โครงการดังกล่าวเป็นการลงทุนเพื่อรองรับการขยายตัวของรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมเสียบปลั๊ก หรือปลั๊กอินไฮบริด (Plug-In Hybrid Electric Vehicle: PHEV) และรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicle: BEV) ซึ่งปัจจุบันค่ายรถยนต์ชั้นนำของโลกได้ให้ความสนใจและวางแผนจะตั้งฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย โดยตามแผนของการขับเคลื่อนด้านพลังงาน และส่งเสริมการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าของรัฐบาล คาดว่าจะมีรถยนต์ไฟฟ้าส่วนบุคคลไม่น้อยกว่า 1.2 ล้านคันภายในปี 2564 "ปัจจุบันมีหน่วยงานต่างๆ เช่น ขสมก. กฟน. กฟผ. และปตท. จัดให้มีสถานีอัดประจุไฟฟ้าบ้างแล้ว แต่เป็นเพียงโครงการนำร่องสำหรับรถโดยสารสาธารณะไฟฟ้า หรือรถไฟฟ้าในหน่วยงาน ดังนั้นการลงทุนของบริษัทครั้งนี้ซึ่งมีแผนกระจายการจัดตั้งสาขาสถานีบริการทั่วประเทศ มากกว่า 3,000 หัวจ่าย ทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด อาทิ เชียงใหม่ นครราชสีมา ขอนแก่น ระยอง ชลบุรี ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ภูเก็ต สงขลา และสุราษฎร์ธานี เป็นต้น นอกจากจะเป็นการบริการและอำนวยความสะดวก สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ใช้รถ ยังเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญให้บริษัทรถยนต์ลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น" นายโชคดีกล่าว นายโชคดี กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้คณะอนุฯ ยังได้อนุมัติส่งเสริมการลงทุนแก่บริษัท ดีทีเอส แดร็คเซิลไมเออร์ ออโทโมทีฟ ซีสเท็มส์ (ประเทศไทย) จำกัด ในกิจการผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า เงินลงทุนกว่า 542 ล้านบาท โดยโครงการนี้เป็นการสนับสนุนอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ที่เป็นอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า โดยเฉพาะแบตเตอรี่ซึ่งเป็นชิ้นส่วนสำคัญของระบบขับเคลื่อน ต้องใช้เทคโนโลยีทันสมัย และมีกระบวนการผลิตเพื่อให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งนี้นอกจากการลงทุนในกิจการครั้งนี้แล้ว บริษัทยังวางแผนจัดฝึกอบรมและส่งพนักงานคนไทยไปต่างประเทศ เพื่อเรียนรู้เทคโนโลยีในการผลิตและการตรวจสอบคุณภาพการผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าและการประกอบผลิตภัณฑ์ในรูปแบบใหม่อีกด้วย ทั้งนี้บีโอไอประกาศให้การส่งเสริมการลงทุนในกิจการรถยนต์ไฟฟ้า ครอบคลุมทั้ง 3 ประเภท ได้แก่ รถยนต์ไฟฟ้าแบบไฮบริด (Hybrid Electric Vehicle: HEV) รถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมเสียบปลั๊ก หรือปลั๊กอินไฮบริด (Plug-In Hybrid Electric Vehicle: PHEV) และรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicle: BEV) รวมถึงกิจการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้า และกิจการสถานีบริการอัดประจุไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่มีคุณค่าต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทย และสอดคล้องกับการเปลี่ยนเทคโนโลยียานยนต์ของโลก ปัจจุบันมีค่ายรถยนต์ได้รับส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าประเภทต่างๆ แล้วหลายโครงการ อาทิ โครงการผลิตรถยนต์ไฮบริดของ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท นิสสันมอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท ออโต้อัลลายแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด ส่วนกิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมเสียบปลั๊ก หรือ ปลั๊กอินไฮบริด ได้แก่ เมอร์เซเดสเบนซ์ บีเอ็มดับเบิลยู เป็นต้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ