Anglo-Thai & UMW รวมใจภักดิ์ รักษ์ป่าทั่วไทย

ข่าวทั่วไป Wednesday January 16, 2008 16:42 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--16 ม.ค.--เจดับบลิวที
ความผันผวนของสภาพภูมิอากาศและสภาพภูมิประเทศทั่วทุกหนแห่งของโลก ยังคงทวีความรุนแรงและสร้างผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพความเป็นอยู่ของสิ่งมีชีวิตทุกชนิด ความเปลี่ยนแปลงนี้มิใช่การเปลี่ยนแปลงที่เพิ่งอุบัติขึ้น หากแต่เป็นปัญหาที่สะสมและส่งสัญญาณการเปลี่ยนแปลงให้มนุษย์รับรู้มานานแล้ว
แต่เดิมนั้นประเทศไทยถือได้ว่า เป็นประเทศที่มีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรป่าไม้ ทั้งป่าไม้ผลัดใบและป่าไม้ไม่ผลัดใบ ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ โดยภาคเหนือเป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้สูงสุด ป่าที่สำคัญจะเป็นป่าเบญจพรรณ อันเป็นแหล่งของไม้มีค่าโดยเฉพาะ “ไม้สัก” ซึ่งถือเป็นไม้เศรษฐกิจ นอกจากนี้ยังมี ไม้เต็ง รัง แดง ประดู่ และตะแบก ส่วนบริเวณพื้นที่สูงมีลักษณะเป็นป่าดิบเขา ป่าสนเขา ซึ่งเป็นแหล่งของไม้กำยาน ไม้ก่อ ต้นสนสองใบ ต้นสนสามใบ สำหรับภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้น มีพื้นที่ป่าไม้น้อย โดยป่าที่พบเป็นส่วนใหญ่ จะเป็นป่าเบญจพรรณและป่าแดง ซึ่งเป็นป่าโปร่งสลับกับไม้พุ่มและหญ้าใบยาว ส่วนภาคกลางและภาคตะวันออกนั้น พื้นที่ป่าไม้ที่พบในภาคนี้ จะมีทั้งป่าเบญจพรรณ ป่าแดง ป่าดิบเขา ป่าสนเขา และในพื้นที่ที่ติดกับชายฝั่งทะเลก็จะพบป่าชายเลนด้วย สำหรับภาคใต้ เป็นภาคที่มีฝนตกชุก ทำให้มีต้นไม้มีความเขียวชอุ่ม ป่าไม้ที่สำคัญ ได้แก่ ป่าดงดิบ ป่าชายเลน ป่าแดง และป่าพรุ
จากความอุดมสมบูรณ์และความสมดุลของสภาพพื้นที่ป่าไม้ในอดีต ที่สามารถให้ประโยชน์ต่อมนุษย์ทั้งทางตรงและทางอ้อม เป็นต้นว่า ช่วยรักษาความสมบูรณ์ของดินและการไหลอย่างสม่ำเสมอของลำน้ำ ป้องกันการชะล้างการพังทลายของดินป่าไม้ ทำให้ภูมิประเทศชุ่มชื้น ทำให้มีฝนตกสม่ำเสมอ เป็นแหล่งที่มาของปัจจัยในการดำรงชีพของมนุษย์และสัตว์ ตลอดจนเป็นแหล่งรายได้ให้แก่ประเทศชาติจำนวนมาก โดยเฉพาะการส่งไม้เป็นสินค้าออก แต่เมื่อความเจริญทางเทคโนโลยีได้พัฒนามากขึ้น ความสัมพันธ์เกื้อกูลกันระหว่างมนุษย์กับป่าไม้ เริ่มลดน้อยลง จากภาวะการอาศัยเกื้อกูลกัน กลับกลายเป็นการแสวงหาประโยชน์แต่เพียงด้านเดียวของมนุษย์ จึงเป็นที่มาของการปัญหาความเสื่อมโทรมของพื้นที่ป่าและการลดลงของพื้นที่ป่าไม้ ซึ่งจะเห็นได้ว่าตัวเลขของพื้นที่ป่าทั่วประเทศลดลงอย่างน่าใจหาย
จากปัญหานี้เอง บริษัท แองโกล-ไทย จำกัด และบริษัท ยูไนเต็ดมอเตอร์เวิกส์ (สยาม) จำกัด (มหาชน) จึงได้ริเริ่มโครงการ “60ปี Anglo-Thai & United Motor Work (Siam) ปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ 4 ภาค” ขึ้น โดยกำหนดพื้นที่ดำเนินการปลูกป่าครอบคลุมทั้ง 4 ภาคของประเทศไทย ซึ่งมีสภาพของพื้นที่ป่าแตกต่างกันไปตามลักษณะภูมิประเทศ โดยจุดมุ่งหมายหลักของโครงการนี้ ก็เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ในประเทศไทยให้มากขึ้น
มร.เฮง โค้ว มุ่ย เฮนรี่ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูไนเต็ด มอเตอร์เวิร์ก (สยาม) จำกัด (มหาชน) พูดถึงความเป็นมาของโครงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมนี้ว่า “เนื่องจากบริษัท แองโกล-ไทย จำกัด และบริษัท ยูไนเต็ดมอเตอร์เวิกส์ (สยาม) จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือฮัพซูน โกลบอล คอร์ปอเรชั่น ได้ดำเนินธุรกิจครบ 60 ปี เราจึงมีแนวความคิดที่อยากจะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยส่งเสริมและอนุรักษ์ทรัพยากรทางธรรมชาติของประเทศ พร้อมทั้งยังเป็นการร่วมแสดงพลังความสามัคคี และส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างบริษัทฯ หน่วยงานรัฐบาลและเอกชนส่วนท้องถิ่น ในการสร้างสมดุลของระบบนิเวศของธรรมชาติ และเพิ่มพื้นที่ป่าของประเทศไทย และเป็นอีกแรงหนึ่งที่ช่วยสนับสนุนและปลูกจิตสำนึกให้ประชาชนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ป่าไม้และทรัพยากรธรรมชาติ”
“สำหรับโครงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมนี้ เราโฟกัสไปที่เรื่องการปลูกป่าก่อนเป็นอันดับแรก เพราะเราเล็งเห็นว่า “ป่าไม้” มีความสำคัญต่อการดำรงชีพของทั้งมนุษย์และสัตว์ เพราะป่าไม้เป็นแหล่งกำเนิดและปรับสมดุลของระบบนิเวศโลก หากเราสามารถเพิ่มพื้นที่สีเขียวได้เพิ่มมากขึ้น เท่ากับว่าเราจะสามารถปรับสมดุลโลกได้มากขึ้น ปัญหาการผันผวนของสภาพอากาศก็จะลดลง และนอกจากนี้ยังถือเป็นโอกาสอันดี ที่เราได้เจริญรอยตามแนวพระราชดำริขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ในเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ เพื่อฟื้นฟูสภาพป่าของไทยทั้ง 4 ภาคให้กลับมาสมบูรณ์และใช้ประโยชน์ได้ดังเดิม” มร.เฮนรี่ กล่าว.
อีกหนึ่งกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนโครงการฯ นายเสรี กุลเอกลักษณ์ ผู้จัดการใหญ่ประจำประเทศไทย บริษัท ฮัพซูน โกลบอล คอร์ปอเรชั่น จำกัด และกรรมการผู้จัดการ บริษัท แองโกล-ไทย จำกัด กล่าวเพิ่มเติมว่าโครงการ “60ปี Anglo-Thai & United Motor Work (Siam) ปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ 4 ภาค” “เราเริ่มต้นโครงการปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ 4 ภาค โดยกำหนดพื้นที่ป่าให้มีความครอบคลุมกับลักษณะของป่าไม้ในประเทศไทย โดยเราเริ่มต้นที่โครงการปลูกป่าชายเลนก่อนเป็นอันดับแรก ในพื้นที่ตำบลคลองโคน จังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งมีพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบชายฝั่งทะเล และชาวบ้านส่วนใหญ่ก็ยึดอาชีพประมง ซึ่งเขาก็ต้องอยู่กับทะเล อยู่กับป่าชายเลน ชาวบ้านที่นี่ให้ความสำคัญกับป่าชายเลนเป็นอย่างมาก และมีความพร้อมในการให้ความร่วมมือกับหน่วยงานราชการและเอกชนที่ประสงค์จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการปลูกป่าชายเลนในพื้นที่ โดยเขาจะร่วมมือร่วมใจกันจัดเตรียมพื้นที่ และจัดเรือประมงขนาดเล็กที่สามารถเข้าไปในพื้นที่ป่าชายเลนได้ โดยในครั้งนี้เราเข้าไปปลูกป่าในพื้นที่ที่เรียกว่า “พื้นดินงอกใหม่” ซึ่งตรงนี้จะมีส่วนช่วยขยายพื้นที่ป่าชายเลนในมีพื้นที่มากยิ่งขึ้น โดยกล้าไม้ที่เรานำมาปลูก เป็นไม้ป่าชายเลนจำพวก ...ต้นโกงกาง.....ต้นแสม... กว่า 400 ต้น ซึ่งสามารถเราก็หวังว่า กล้าไม้ที่เราไปปลูก อีกไม่กี่ปีข้างหน้า จะสามารถเพิ่มความสมบูรณ์กลับสู่พื้นที่ป่าชายเลนในพื้นที่ได้มากขึ้น ชาวบ้านในละแวกนั้นก็ได้รับประโยชน์จากต้นไม้ที่เราไปปลูกด้วย เราก็ดีใจที่ป่าที่เราปลูกได้เป็นแหล่งทรัพยากรสำคัญให้กับชาวบ้าน ที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อม อาทิ เป็นแหล่งพลังงานและอาหาร แหล่งประมงท้องถิ่น เป็นเครื่องป้องกันแนวชายฝั่งทะเล ช่วยป้องกันสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ โดยรากของต้นไม้ในป่าชายเลนที่งอกออกมาเหนือพื้นดิน จะทำหน้าที่คล้ายตะแกรงธรรมชาติ คอยกลั่นกรองสิ่งปฏิกูลต่าง ๆ ที่มากับกระแสน้ำ ทำให้น้ำในแม่น้ำ ลำคลอง และชายฝั่งทะเลสะอาดขึ้น ช่วยทำให้พื้นดินบริเวณชายฝั่งทะเลงอกขยายออกไปในทะเลเกิดเป็นหาดเลน อันเหมาะสมแก่การเกิดของพันธุ์ไม้ป่าชายเลน เมื่อมีพื้นที่ป่าชายเลนมากขึ้น ก็จะช่วยทำให้คุณภาพชีวิตของชาวบ้านสมบูรณ์มากขึ้น”
นายจิระ แก้วมณี นายกองค์การบริหารส่วนตำบลคลองโคน ในส่วนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ กล่าวว่า “พื้นที่ป่าชายเลนตำบลคลองโคน ถือเป็นพื้นที่หนึ่งที่มีอัตราการขยายของพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้นทุกปี ทางเรายินดีที่หน่วยงานต่างๆ ให้ความสนใจและแจ้งความประสงค์เข้ามาจัดตั้งโครงการปลูกป่าฯ เพื่อฟื้นสภาพป่าให้สามารถกลับคืนมาสมบูรณ์อีกครั้ง เมื่อระบบนิเวศป่าชายเลนเกิดความสมดุล ชาวบ้านเองก็จะได้ประโยชน์จากผืนป่าที่มากขึ้น”
โครงการ “60ปี Anglo-Thai & United Motor Work (Siam) ปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ 4 ภาค” ในครั้งนี้ ถือได้ว่า เป็นโครงการนำร่องที่ประสบความสำเร็จ จากความร่วมมือเป็นอย่างดีทั้งพนักงานของบริษัท แองโกล-ไทย จำกัด และบริษัท ยูไนเต็ดมอเตอร์เวิกส์ (สยาม) จำกัด (มหาชน) ตลอดจนหน่วยงานราชการและประชาชนในท้องถิ่น ถึงแม้เส้นทางในการเดินทาง สภาพพื้นที่จะเป็นอุปสรรคต่อการเดินทางบ้าง แต่ทุกคนก็รู้สึกสนุกและมีความภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในโครงการปลูกป่าชายเลน เทิดไท้ 80 พรรษามหาราชา ในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา
สำหรับโครงการปลูกป่านี้ ยังเหลือพื้นที่การดำเนินการอีก 3 ภาค ทั้งพื้นที่ป่าในเขตภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ ซึ่งในขณะนี้ยังอยู่ในช่วงของการดำเนินการสำรวจพื้นที่ และเตรียมจัดหากล้าไม้ให้มีความเหมาะสมต่อสภาพป่าในพื้นที่นั้นๆ หากเมื่อดำเนินการครบทั้ง 4 ภาค และผลจากสำเร็จการโครงการนี้ จะเป็นส่วนหนึ่งที่สามารถเพิ่มพื้นที่สีเขียว เติมออกซิเจนกลับคืนสู่กลไกของธรรมชาติ สร้างสมดุลทางสภาพอากาศและสภาพภูมิประเทศให้กลับมาสมบูรณ์ดังเดิม ก็จะถือได้ว่า 2 มือของทุกคนที่มีส่วนร่วมปลูกป่านั้น ได้เป็น 2 มือที่มีส่วนในการบรรเทาปัญหาภาวะโลกร้อน ซึ่งเป็นปัญหาที่ทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ และเป็นอีกหนึ่งความดี ในฐานะประชาชนชาวไทย ถวายเป็นพระราชกุศลแด่องค์พ่อหลวงอีกด้วย.
เมื่อพื้นที่ป่าสมบูรณ์ ความสมดุลทางธรรมชาติกลับคืนมา... ความสมดุลนั้นก็จะยังประโยชน์กลับมาสู่มวลมนุษย์.. ถึงเวลาแล้วที่เราต้องหันมาใส่ใจและให้ความสำคัญกับทรัพยากรธรรมชาติอย่างจริงจัง!!
ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม : บริษัท เมนสตรีม จำกัด
คุณประสิทธิ์ กฤษฎาอริยชน (บ๊อบ) โทร. 02-204-8216, มือถือ 081-586-2813 หรือ
คุณพรทิพย์ วิริยะกิจพัฒนา (บี) โทร. 02-204-8210, มือถือ 086-813-1981

แท็ก ภูมิอากาศ  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ