พบสวนสนุกมีใบอนุญาต 19 แห่ง ที่เหลือรอตรวจสอบคาดเรียบร้อยใน 7 วัน

ข่าวทั่วไป Wednesday January 16, 2008 16:54 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--16 ม.ค.--กปส.
กทม.ตรวจเข้มสวนสนุก 30 แห่งในพื้นที่ พบมีใบอนุญาตแล้ว 19 แห่ง กำลังรอขั้นตอนการขอใบอนุญาต 11 แห่ง คาดเสร็จภายใน 7 วัน ซึ่งหากพบไม่ปลอดภัย ปล่อยปละละเลยจะสั่งปิดทันที โดยแต่ละแห่งต้องทำตามเงื่อนไขของ พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535 อย่างเคร่งครัด
นายถนอม อ่อนเกตุพล โฆษกของกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงกรณีการตรวจสอบสวนสนุกในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ว่า หลังจากที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้ออกคำสั่งให้สำนักงานเขตที่มีสวนสนุกในพื้นที่สำรวจการได้รับใบอนุญาตเมื่อ 26 ต.ค.50 หลังจากที่เครื่องเล่นล่องแก่ง สวนสนุกสวนสยาม เกิดอุบัติเหตุ และล่าสุดเครื่องเล่นซุปเปอร์สไปร์รัล ในสวนสนุกเดียวกันเกิดอุบัติเหตุขึ้นอีก ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวน 28 ราย นั้น ได้มีการรายงานจำนวนสวนสนุกในพื้นที่กรุงเทพมหานครที่เปิดให้บริการอยู่จำนวน 30 แห่ง ในพื้นที่ 16 เขต จากที่เคยรายงานไป 32 แห่ง เนื่องจากมีการปิดการให้บริการไป 2 แห่งที่เขตบางกะปิและเขตหนอกจอก ซึ่งเป็นสวนสนุกชั่วคราว ทั้งนี้สวนสนุกที่ได้รับในอนุญาตนั้น เขตรายงานว่าได้รับใบอนุญาตจำนวน 19 แห่ง และอยู่ระหว่างการขออนุญาตอีก 11 แห่ง ในพื้นที่เขตคลองสามวา บางเขน บางพลัด ปทุมวัน ประเวศ มีนบุรี ราษฎร์บูรณะ และหลักสี่ ซึ่งได้รับการชี้แจงว่าอยู่ในขั้นตอนการขออนุญาต คาดว่าจะเข้าไปตรวจสอบและให้ใบอนุญาตได้ภายใน 7 วัน
สำหรับการขออนุญาตประกอบการสวนสนุกนั้น มีเงื่อนไขต่างๆ ตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535 โดอาศัยอำนาจของเจ้าพนักงานท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร ตามมาตรา 33 ประกอบมาตรา 44 แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว กำหนดให้ผู้ประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต้อสุขภาพ ประเภทการประกอบกิจการสวนสนุก ต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น โดยใบอนุญาตที่ออกให้มีอายุ 1 ปี หากจะต่อใบอนุญาตต้องยื่นคำขอก่อนใบอนุญาตเดิมหมดอายุ นอกจากนั้นยังต้องมีหนังสือรับรองของสถาบัน หรือบุคคลที่เชื่อถือได้ เช่น วิศวกร นายช่าง หรือสถาบันทางด้านวิชาชีพอื่นพิจารณาด้วย ซึ่งผู้ประกอบการต้องตรวจตรา ซ่อมแซม บำรุงรักษาเครื่องเล่นในสวนสนุกตามที่ระบุไว้ในใบขออนุญาตให้อยู่ในสภาพที่สามารถให้บริการได้ด้วยความปลอดภัยตามระยะเวลาที่กำหนด จัดให้มีอุปกรณ์ในการป้องกันอัคคีภัยและจัดเจ้าหน้าที่เชี่ยวชาญด้านอัคคีภัยคอยควบคุมและดูแลอย่างเพียงพอ จัดให้มีศูนย์พยาบาลพร้อมเจ้าหน้าที่ประจำสวนสนุกอย่างเพียงพอ และพร้อมประสานงานกับสถานบริการทางการแพทย์ชั้นสูงเพื่อส่งต่อผู้ป่วยด้วยรถพยาบาลในกรณีฉุกเฉิน ที่สำคัยผู้รับใบอนุญาตต้องจัดทำแผนควบคุมเหตุฉุกเฉิน หรืออุบัติภัยภายในสวนสนุกด้วย
ทั้งนี้หากเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบเพื่อออกใบอนุญาตพบว่าสวนสนุกใดไม่ปลอดภัย ไม่ได้มาตรฐานตามเงื่อนไข มีการปล่อยปละละเลย สามารถสั่งปิดสวนสนุกนั้นได้ตามอำนาจที่ได้รับมอบหมาย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ