“บีไอจี” พร้อมส่งน้ำแข็งแห้ง สนับสนุนการทำฝนเทียมแก้ปัญหาฝุ่นเกินมาตรฐาน

ข่าวทั่วไป Friday January 18, 2019 14:42 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 ม.ค.--บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส "บีไอจี" พร้อมส่งน้ำแข็งแห้งบริสุทธิ์ ให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตร สำหรับปฏิบัติการทำฝนเทียมในเขตภาคตะวันออกเพื่อช่วยเหลือทั้งเกษตรกร และเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดฝุ่น โดยอาศัยลมตะวันออกพัดกลุ่มเมฆ สร้างฝนในเขต กทม. และปริมณฑล เพื่อบรรเทาปัญหาฝุ่นขนาดเล็ก PM 2.5 นายปิยบุตร จารุเพ็ญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด หรือ บีไอจี ผู้นำนวัตกรรมก๊าซอุตสาหกรรมครบวงจรของประเทศไทย เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้เตรียมความพร้อมในการจัดส่งน้ำแข็งแห้งส่วนที่ยังคงเหลือจากโครงการส่งมอบน้ำแข็งแห้งเพื่อปฎิบัติการฝนหลวงให้แก่กรมฝนหลวงฯ ในปีที่ผ่านมาจำนวนทั้งสิ้น 70 ตันรวมมูลค่ากว่า 1 ล้านบาท ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการเพื่อตอบแทนสังคม (Corporate Social Responsibility) ของบริษัทฯ ในการเป็นส่วนหนึ่งของสนับสนุนการทำฝนเทียมในเขตภาคตะวันออกเพื่อลดปัญหาภัยแล้ง และในช่วงเวลานี้จะช่วยนำมาช่วยลดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กที่เกิดขึ้นในเขตกรุงเทพและปริมณฑล "ปริมาณน้ำแข็งแห้งที่มีการส่งมอบในปีที่ผ่านมา ยังคงมีปริมาณคงเหลือที่สามารถนำไปใช้ทำฝนเทียมได้ บริษัทฯ จึงเตรียมความพร้อมในการสนับสนุนเพื่อการปฎิบัติการดังกล่าว หากกรมฝนหลวงและการบินเกษตร มีความต้องการนำไปใช้เพื่อทำฝนเทียม บริษัทฯ ยินดีจัดเตรียมน้ำแข็งแห้งเพื่อให้กรมฝนหลวงฯ สามารถนำไปใช้ได้ทันที อีกทั้งบีไอจียังเล็งเห็นถึงปัญหาภัยแล้ง การขาดแคลนน้ำทั้งเพื่อการอุปโภค บริโภค รวมถึงการเกษตรกรรมที่มักเกิดขึ้น จึงมีการสานต่อโครงการส่งมอบน้ำแข็งแห้งให้กับกรมฝนหลวงฯ ในปีถัด ๆ ไปอีกด้วย" นายปิยบุตรกล่าว บีไอจีได้ทำการส่งมอบน้ำแข็งแห้งซึ่งเป็นผลผลิตจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของบริษัทฯ และแปรรูปเป็นน้ำแข็งแห้งแบบเกล็ดละเอียด ทั้งนี้ กรมฝนหลวงฯ สามารถนำไปใช้ปฏิบัติการทำฝนเทียมได้ทันที ซึ่งจะช่วยในการลดขั้นตอนการเตรียมน้ำแข็งแห้งสำหรับโปรยบริเวณกลุ่มเมฆในขั้นนตอนสุดท้าย (โจมตี) ของการทำฝนเทียม อีกทั้งยังง่ายต่อการขนส่งและจัดเก็บ สำหรับแนวทางการทำฝนเทียมเพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองในเขตกรุงเทพและปริมณฑล บริษัทฯ ได้ปรึกษาร่วมกับกรมฝนหลวงฯ หาแนวทางความเป็นไปได้ในทางปฎิบัติการที่จะนำน้ำแข็งแห้งมาช่วยสนับสนุน โดยความเป็นไปได้คือการใช้น้ำแข็งแห้งในการช่วยสร้างเมฆฝนในเขตภาคตะวันออก และอาศัยลมจากทางภาคตะวันออกพัดนำกลุ่มเมฆเคลื่อนเข้าสู่เขตกรุงเทพและปริมณฑลตามลำดับ ซึ่งขณะนี้กรมฝนหลวงฯ อยู่ระหว่างการดำเนินการและเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ