ทีเอ็มบีรายงานกำไรสุทธิปี 2561 ที่ 11,601 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 34% จากปีก่อน พร้อมเพิ่มอัตราส่วนสำรองฯ ต่อ NPL มาอยู่ที่ 152% เพื่อเตรียมรับ IFRS 9 และสะท้อนถึงการดำเนินธุรกิจอย่างรอบคอบ

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday January 22, 2019 09:25 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--22 ม.ค.--ทีเอ็มบี ทีเอ็มบีรายงานกำไรสุทธิปี 2561 ที่ 11,601 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 34% จากปีก่อน พร้อมเพิ่มอัตราส่วนสำรองฯ ต่อ NPL มาอยู่ที่ 152% เพื่อเตรียมรับ IFRS 9 และสะท้อนถึงการดำเนินธุรกิจอย่างรอบคอบ สำหรับปี 2562 ธนาคารตั้งเป้าขยายฐานลูกค้าอย่างต่อเนื่องด้วยกลยุทธ์ Get MORE with TMB ทีเอ็มบี หรือ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัทย่อย แจ้งผลประกอบการปี 2561 ซึ่งยังคงเติบโตต่อเนื่องจากปีก่อนหน้า โดยธนาคารมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักสำรองฯ 30,540 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 54.7% หนุนโดยรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นจากการรับรู้กำไรจากดีลอีสท์สปริง ประกอบกับค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่ลดลง โดยยังคงดูแลคุณภาพสินทรัพย์อย่างใกล้ชิด ทั้งยังเตรียมความพร้อมรับ IFRS 9 ด้วยการตั้งสำรองฯ เพิ่มจากระดับปกติเป็นจำนวน 7,000 ล้านบาท ในปี 2561 ธนาคารดำเนินการตั้งสำรองฯ ทั้งสิ้น 16,100 ล้านบาท ส่งผลให้สัดส่วนสำรองฯ ต่อ NPL (Coverage Ratio) ซึ่งสะท้อนถึงความสามารถในการรองรับความเสี่ยงเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 152% จาก 143% ในปีก่อนหน้า ขณะที่อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพอยู่ที่ 2.76% โดยหลังหักสำรองฯ และภาษี ธนาคารรายงานกำไรสุทธิที่ 11,601 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 33.6% จากปีที่แล้ว นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบี กล่าวว่า "ปี 2561 ที่ผ่านมา นับเป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงของวงการธนาคารไทย นับตั้งแต่การยกเลิกค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมในช่องทางดิจิทัล ไปจนถึงการพัฒนาการให้บริการใหม่ๆ บน Digital Banking ของธนาคารต่างๆ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่ายินดี เพราะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อลูกค้า สำหรับทีเอ็มบี เรายกเลิกการเก็บค่าธรรมเนียมมาตั้งแต่ 9 ปีที่แล้ว และทุกวันนี้ ทีเอ็มบีก้าวผ่านเรื่องของค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมไปสู่การมอบสิทธิประโยชน์กลับคืนให้กับลูกค้าภายใต้แนวคิด Get MORE with TMB "จากแนวคิดดังกล่าวและการพัฒนาการให้บริการในทุกๆ ช่องทางเพื่อยกระดับ Customer Experience และรองรับรูปแบบการใช้ชีวิตในยุคดิจิทัลของลูกค้า ทำให้ในปี 2561 ทีเอ็มบีสามารถขยายฐานลูกค้า Retail Active Customer เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.6 ล้านคน จากปีก่อนหน้าที่ 2.5 ล้านคน และมีสัดส่วนลูกค้าดิจิทัล (Digital Active Customers) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 48% จาก 35% ในปีที่แล้ว และขยายฐานเงินฝากเพิ่มขึ้นได้ 6.2% จากปีก่อน มาอยู่ที่ 6.50 แสนล้านบาท โดยเงินฝากซึ่งเป็น Flagship product ล้วนเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง นำโดย TMB No Fixed (+14%) และ TMB All Free (+4%) บัญชีคู่ที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้ารายย่อยทั้งเรื่องการออมและการทำธุรกรรม ตามมาด้วยเงินฝากเพื่อการทำธุรกรรมสำหรับลูกค้าธุรกิจ TMB One Bank (+15%) ขณะที่เงินฝากดิจิทัล ME SAVE โดย ME by TMB ก็ยังคงเติบโตได้ต่อเนื่องเช่นกัน (+12%) ซึ่งในปี 2561 ME by TMB ตอกย้ำความเป็นผู้นำด้าน Digital Bank ด้วยการนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในขั้นตอนการแสดงพิสูจน์ตัวตน หรือ E-KYC เพื่อให้บริการเปิดบัญชีเงินฝาก ME SAVE ด้วยตัวเอง นอกจากนี้ ยังเปิดตัวผลิตภัณฑ์ ME SURE ถือเป็นธนาคารแรกที่ให้ลูกค้าสามารถซื้อประกันชีวิตได้เองผ่านโมบายแอปพลิเคชัน" ในส่วนของสินเชื่อนั้น ธนาคารเน้นการให้สินเชื่ออย่างรอบคอบเพื่อให้การโตของพอร์ตเป็นไปอย่างมีคุณภาพ โดยสามารถขยายสินเชื่อได้ที่ 6.6% จากปีก่อนหน้า มาอยู่ที่ 6.86 แสนล้านบาท นำโดยสินเชื่อรายย่อย (+18%) โดยเฉพาะสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (+20%) ซึ่งธนาคารได้เน้นกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่ำสอดคล้องกับแนวทางของธนาคารแห่งประเทศไทย สำหรับสินเชื่อลูกค้าธุรกิจขยายตัวต่อเนื่องเช่นกัน นำโดยลูกค้าธุรกิจรายใหญ่ (+7%) โดยเฉพาะจากสินเชื่อ Trade Finance (+18%) ขณะที่สินเชื่อเอสเอ็มอีขนาดเล็กฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปและเติบโตได้ที่ 1.7% จากปีก่อนหน้า และเนื่องจากสินเชื่อเอสเอ็มอีขนาดเล็กยังค่อยๆ ฟื้นตัว ส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิจึงชะลอตัวลงจากปีก่อน โดยอยู่ที่ 2.94% จาก 3.13% ทำให้รายได้ดอกเบี้ยสุทธิปรับตัวลดลงเล็กน้อย หรือ 1.0% มาอยู่ที่ 24,497 ล้านบาท อย่างไรก็ดี รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเติบโต 85.3% มาอยู่ที่ 23,545 ล้านบาท ปัจจัยหลักมาจากการรับรู้รายได้จากการบันทึกกำไร 1.2 หมื่นล้านบาท จากการขายหุ้นในบลจ.ทหารไทย จำนวน 65% ในไตรมาส 3 ปี 2561 เพื่อเข้าร่วมเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจกับอีสท์สปริง อินเวสต์เมนทส์ (สิงคโปร์) โดยมีจุดประสงค์เพื่อยกระดับการให้บริการด้านกองทุนรวม หรือ 'TMB Open Architecture' ทำให้ธนาคารมีรายได้จากการดำเนินงานทั้งสิ้น 48,042 ล้านบาท ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานอยู่ที่ 17,475 ล้านบาท ลดลง 1.8% กำไรจากการดำเนินงานก่อนหักสำรองฯ ทั้งสิ้นจึงอยู่ที่ 30,540 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 54.7% และจาก PPOP ที่เพิ่มขึ้น ธนาคารจึงเตรียมความพร้อมรองรับ IFRS 9 และการปรับลดชั้นสินเชื่ออย่างรอบคอบด้วยการตั้งสำรองฯ เพิ่มจากระดับปกติเป็นจำนวน 7,000 ล้านบาท โดยรวมทั้งปี ธนาคารดำเนินการตั้งสำรองฯ ทั้งสิ้นจำนวน 16,100 ล้านบาท เทียบกับ 8,915 ล้านบาทในปีที่แล้ว โดยหลังจากหักสำรอง และภาษี ธนาคารมีกำไรสุทธิทั้งสิ้น 11,601 ล้านบาท เติบโต 33.6% นายปิติ กล่าวเสริมว่า "การตั้งสำรองฯ ที่สูงขึ้นในปี 2561 ไม่ใช่สิ่งที่น่ากังวล เพราะเป็นผลจากการที่ธนาคารเน้นการบริหารจัดการอย่างรอบคอบและการเตรียมรับ IFRS 9 ไม่ได้มีสาเหตุจากคุณภาพสินทรัพย์ที่แย่ลง แท้จริงแล้วคุณภาพสินทรัพย์ค่อนข้างทรงตัวและมีแนวโน้มดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งจากสำรองฯ ที่สูงขึ้นและสัดส่วนหนี้เสียที่อยู่ที่ 2.76% ทำให้อัตราส่วนสำรองฯ ต่อหนี้เสียเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 152% จาก 143% ในปีก่อนหน้า สะท้อนถึงความสามารถในการรองรับความเสี่ยงที่ดีขึ้น ขณะที่ความเพียงพอของเงินกองทุน CAR และ Tier I อยู่ที่ 17.5% และ 13.6% เป็นไปตามเกณฑ์ Basel III และสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ 10.375% และ 7.875% ตามลำดับ ถือเป็นการสร้างฐานเพื่อก้าวสู่ปี 2562 อย่างแข็งแกร่ง ซึ่งธนาคารก็ยังคงตั้งเป้าที่จะขยายฐานลูกค้าต่อด้วยกลยุทธ์ Get MORE with TMB" www.facebook.com/TMB

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ