เด็กไทย สุดเจ๋ง แชร์ประสบการณ์การใช้เทคโนโลยีดาต้า อนาลิติกส์ แก้ปัญหาสังคม

ข่าวเทคโนโลยี Tuesday January 22, 2019 15:55 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--22 ม.ค.--SAP ในขณะที่โลกกำลังพัฒนาเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างรวดเร็ว แรงงานที่มีทักษะดิจิทัลจึงเป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้น หนึ่งในทักษะดิจิทัลที่กำลังเป็นที่จับตามอง คือ ดาต้า อนาลิติกส์ หรือการวิเคราะห์เพื่อค้นหาข้อมูลเชิงลึก ซึ่งคือหนึ่งในทักษะดิจิทัลที่องค์กรต่างๆ ทั่วโลกเริ่มหันมาให้ความสำคัญ โดยองค์กรต่างๆ ต้องการบุคลากรที่มีทักษะด้านนี้เพิ่มมากขึ้น เพราะผู้เชี่ยวชาญด้านดาต้า อนาลิติกส์ จะสามารถช่วยวิเคราะห์เทรนด์ของตลาดและข้อมูลที่มีนัยสำคัญ เพื่อสร้างกลยุทธ์ที่เป็นประโยชน์แก่ธุรกิจได้ ยิ่งไปกว่านั้น ดาต้า อนาลิติกส์ ยังถูกนำมาใช้มากขึ้นเพื่อวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อแก้ปัญหาสังคม ตัวแทนเยาวชนจากประเทศไทยสองคน ได้แก่ นายอัมรินทร์ อุดมผล และนายธีระพงษ์ ศรีสุพรรณ จากคณะบริหารธุรกิจ (วิทยาลัยนานาชาติ) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้รับโอกาสในการเรียนรู้และพัฒนาทักษะด้านดาต้า อนาลิติกส์ ผ่าน การแข่งขัน "อาเซียน ดาต้า ไซเอนซ์ เอ็กซ์พลอเรอส์" (ASEAN Data Science Explorers หรือ ADSE) ซึ่งจัดโดยมูลนิธิอาเซียน ร่วมกับ เอสเอพี โดยเปิดโอกาสให้เยาวชนในภูมิภาคอาเซียนมาร่วมวิเคราะห์หาข้อมูลเชิงลึกโดยใช้ซอฟต์แวร์อนาลิติกส์ คลาวด์ ของเอสเอพี เพื่อเสนอแนวทางในการแก้ปัญหาทางสังคมที่เกิดขึ้นในภูมิภาค ตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ 6 เป้าหมาย ได้แก่ (1) สุขภาพที่ดีและความเป็นอยู่ที่ดี (2) การศึกษาที่มีคุณภาพ (3) ความเท่าเทียมทางเพศ (4) การทำงานที่ดีและการเติบโตทางเศรษฐกิจ (5) อุตสาหกรรม นวัตกรรม และโครงสร้างพื้นฐาน และ (6) เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน ซึ่งมีเยาวชนกว่า 5,000 คน จาก 175 สถาบันอุดมศึกษาในอาเซียนได้เข้าร่วมโครงการนี้ และในปีนี้มีจำนวนโครงการที่ถูกส่งเข้าประกวดเพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึงสามเท่า และมีทีมนักเรียน 801 คน จากหลากหลายสาขาวิชา เช่น สาขาวิชารัฐศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และสถาปัตยกรรม เข้าร่วมพัฒนาทักษะในการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาทางสังคม นายอัมรินทร์ อุดมผล หรือวิน จากคณะบริหารธุรกิจ (วิทยาลัยนานาชาติ) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยความรู้สึกว่า "ผมมีความฝันว่าอยากเรียนดาต้า ไซเอนซ์ (data science) มานานแล้วครับ แต่ไม่ค่อยมีคอร์สในเมืองไทยในตอนนั้น จึงหันมาเรียนด้านธุรกิจ แล้วก็ตั้งใจว่าค่อยเรียนต่อไปทางนั้นในภายหลัง ผมได้มาเจอกับโครงการนี้จากเฟสบุ๊คของมูลนิธิอาเซียน ซึ่งบอกว่าเราไม่ต้องกังวลเรื่องทักษะเลยเพราะทางโครงการจะช่วยสอนเอง ผมก็เลยคิดว่ามันเจ๋งดีที่จะให้โอกาสกับตัวเองลองเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ แล้วก็พบว่าผมคิดไม่ผิดเลย เป็นประสบการณ์ที่สนุกมาก ผมได้เรียนรู้หลายอย่าง อันดับแรก ผมได้เข้าใจจากโครงการนี้ว่าทำไมคนบางคนถึงเรียกดาต้าว่า the new currency เพราะทักษะด้านดาต้า อนาลิติกส์ มีความสำคัญมากๆ ซึ่งประเทศไหนหรือองค์กรไหนก็สามารถใช้ได้ อยู่ที่ว่าคุณจะมองเห็นโอกาสหรือเปล่า อันดับที่สอง ผมได้เรียนรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีของเอสเอพี ในการช่วยระบุปัญหาและแก้ปัญหาสังคม ซึ่งเทคโนโลยีสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ในหลายๆ ด้าน ไม่ใช่เฉพาะด้านธุรกิจเท่านั้น และอันดับสุดท้าย ผมได้เรียนรู้ด้านการเข้าสังคมใหม่ๆ ด้านการทำงานเป็นทีม การพูดคุย และการสร้างทักษะการแก้ปัญหา ซึ่งล้วนแต่มีความสำคัญในสังคมปัจจุบัน ผมประทับใจมากที่ได้ร่วมโครงการนี้ ที่นี้คือเวทีที่เปิดโอกาสให้ผมได้พูดในสิ่งที่ผมคิดและสิ่งที่ผมอยากทำ และเปิดโลกทัศน์ให้ผมได้มองเห็นอะไรใหม่ๆ ที่ไม่เคยคิดมาก่อน" ทั้งนี้ ตัวแทนเยาวชนจากประเทศไทยได้วิเคราะห์ข้อมูลผ่านซอฟต์แวร์ของเอสเอพี และค้บพบสถิติที่น่าสนใจว่าอัตราการฆ่าตัวตายของเด็กนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาช่วงอายุ 13-17 ปี ในอาเซียน มีจำนวนเพิ่มขึ้น ในขณะที่ความขาดแคลนของบุคลากรทางสุขภาพจิต (ต่ำกว่า 1:100,000) และงบประมาณคืออุปสรรคที่ทำให้ปัญหาไม่ได้รับการแก้ไข จึงเลือกนำเสนอประเด็นด้านสังคมนี้ในเวทีการแข่งขันพร้อมนำเสนอแนวทางการแก้ไข โดยนายอัมรินทร์กล่าวถึงความสำคัญของปัญหาทางสังคมที่ค้นพบว่า "สิ่งสำคัญคือการสร้างความตระหนักของคนในอาเซียนต่อสุขภาพจิตของนักเรียนมัธยมฯ ซึ่งหลายคนอาจมองข้าม และไม่ได้มีการตั้งนโยบายที่ชัดเจน แต่สุดท้ายแล้ว เราต้องไม่ลืมว่าเยาวชนก็คือผู้ใหญ่ในวันหน้า" ในขณะที่นักศึกษาทีมอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียน ได้นำเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาทางสังคม จากการใช้เทคโนโลยี ดาต้า อนาลิติกส์ ได้อย่างน่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็น การพัฒนาชุมชนแออัดให้กลายเป็นพื้นที่สีเขียวที่ยั่งยืน การเสริมสร้างทักษะและความรู้ด้านผู้ประกอบการ รวมถึงการแก้ปัญหาเพื่อสร้างความได้เปรียบทางการค้าทางทะเลในภูมิภาค แล้วดาต้า อนาลิติกส์ จะช่วยสร้างสะพานไปสู่อนาคตของประเทศได้อย่างไร? ในประเด็นนี้ นายธีระพงษ์ ศรีสุพรรณ หรือเจมส์ กล่าวว่า "ทักษะด้าน ดาต้า อนาลิติกส์เป็นทักษะที่สำคัญมาก เพราะเราจะสามารถหาข้อมูลมาใช้ในการวิเคราะห์ เพื่อหาอินไซต์ที่แสดงถึงปัญหาออกมาได้ จากตรงนี้เราก็จะต้องคิดว่าจะแก้ไขปัญหาอย่างไร ถ้าบุคลากรของประเทศมีทักษะด้านนี้เพิ่มมากขึ้น ก็จะช่วยพัฒนากระบวนการคิดให้เป็นระบบมากขึ้นและมีการวางแผนที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น นำไปสู่การพัฒนาหรือแก้ไขปัญหาที่มีในสังคมได้ดีและครอบคลุมมากยิ่งขึ้น" แม้ว่าในปีนี้โครงการของเยาวชนไทยจะไม่ได้คว้ารางวัลชนะเลิศ แต่สิ่งที่พวกเขาได้มีคุณค่ากว่านั้นมาก "สิ่งที่ผมได้จากการเข้าร่วมโครงการนี้คือการก้าวข้ามข้อจำกัดของตัวผมเองและหันมาเรียนรู้ทักษะดิจิตัลใหม่ๆ ผมมองว่าเยาวชนไทยทุกคนควรรู้จักแสดงความคิดเห็น ควรพูดเสียงของตัวเองออกมา โดยใช้ข้อมูลเป็นพื้นฐานรองรับ เราจำเป็นต้องรู้จักการค้นหาข้อมูล การคิดและการวางแผนอย่างเป็นระบบ ความรู้เกี่ยวกับดาต้า อนาลิติกส์ มีความสำคัญกับอนาคตของเราอย่างมาก นี่คือทักษะที่เราจะมองข้ามไม่ได้เลย" นายธีระพงษ์กล่าว นาง อีเลน ตัน ผู้อำนวยการบริหาร มูลนิธิอาเซียน กล่าวว่า "การศึกษาเป็นหนึ่งในรากฐานที่สำคัญของการบูรณาการอาเซียนและแผนงานการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ด้วยเหตุนี้โครงการริเริ่มต่างๆ เช่น อาเซียน ดาต้า ไซเอนซ์ เอ็กซ์พลอเรอส์ จึงช่วยส่งเสริมการมีปฏิสัมพันธ์ข้ามพรมแดนระหว่างประเทศต่างๆ ในภูมิภาคได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังช่วยเสริมสร้างให้เยาวชนมีทักษะที่จำเป็นในอนาคต โดยเฉพาะด้านดิจิทัลที่ทวีความสำคัญมากขึ้นทุกวัน ทั้งนี้จากโครงการต่างๆ ที่ส่งเข้ามาร่วมประกวด เป็นที่น่ายินดีที่ได้เห็นความคิดสร้างสรรค์ ความทุ่มเทในการทำงานเป็นทีมเพื่อพัฒนานวัตกรรมอย่างเต็มที่ เพราะแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของเยาวชนในภูมิภาคนี้ที่ล้วนใส่ใจต่ออนาคตที่ดียิ่งขึ้นของสังคมที่พวกเขาอาศัยอยู่" นางสาวเวเรน่า เซียว กรรมการผู้จัดการ ประจำภูมิภาคอินโดไชน่า บริษัท เอสเอพี ซิสเต็มส์ แอพพลิเคชั่นส์ แอนด์ โปรดักส์ อิน ดาต้า โปรเซสซิ่ง (ไทยแลนด์) จำกัด ในนามตัวแทนผู้ร่วมจัดการแข่งขัน ADSE กล่าวว่า "สำหรับเอสเอพี นวัตกรรมเป็นมากกว่าเครื่องมือสู่ความเติบโตทางธุรกิจ แต่คือสะพานสู่ความเป็นอยู่ที่ดียิ่งขึ้นของสังคม โดยความร่วมมือของเรากับมูลนิธิอาเซียนในช่วงสองปีที่ผ่านมาได้ส่งผลดีอย่างมากต่อการส่งเสริมนวัตกรรมเพื่อสังคม เรารู้สึกเป็นเกียรติและยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเสริมทักษะดิจิทัลให้กับเยาวชนซึ่งคืออนาคตของประเทศไทย พร้อมมอบแพลตฟอร์มพื้นฐานที่จะช่วยสร้างประโยชน์ทางสังคมให้ชุมชนที่พวกเขามีส่วนร่วมดูแล เราหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะต้อนรับเยาวชนหรือบุคคลที่สนใจเข้าร่วมโครงการในปีต่อๆ ปี เพื่อให้ดาต้า อนาลิติกส์เป็นหนึ่งในสะพานที่ทอดสู่อนาคตของประเทศไทยอย่างมั่นคง ทั้งในเชิงรายได้และเชิงคุณค่า" ภาพประกอบบทความประชาสัมพันธ์ ภาพที่ 1 ตัวแทนเยาวชนไทย นายธีระพงษ์ ศรีสุพรรณ (ซ้ายสุด) และ นายอัมรินทร์ อุดมผล (ขวาสุด) นักศึกษาคณะบริหารธุรกิจ (วิทยาลัยนานาชาติ) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ผู้เข้าร่วมการแข่งขันโครงการ "อาเซียน ดาต้า ไซเอนซ์ เอ็กซ์พลอเรอส์" ซึ่งจัดโดยมูลนิธิอาเซียน ร่วมกับ เอสเอพี ถ่ายภาพร่วมกับ นางสาวภาสพร สังฆสุบรรณ์ เอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรไทยประจำอาเซียน (ที่สองจากขวา) และนางสาวอรวรรณ ศรีบุญเรือง เจ้าหน้าที่โครงการ สำนักงานเลขาธิการอาเซียน องค์การรัฐมนตรีแห่งเอเชียนตะวันออกเฉียงใต้ (ที่สองจากซ้าย) ที่ให้เกียรติมาร่วมงาน ภาพที่ 2 เยาวชนไทยและตัวแทนจากกลุ่มประเทศอาเซียนอื่นๆ ร่วมถ่ายภาพหมู่กับตัวแทนจากมูลนิธิอาเซียนและเอสเอพี ภาพที่ 3,4 ตัวแทนเยาวชนไทย นายอัมรินทร์ อุดมผล (ซ้าย) และนายธีระพงษ์ ศรีสุพรรณ (ขวา) นักศึกษาคณะบริหารธุรกิจ (วิทยาลัยนานาชาติ) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ผู้เข้าร่วมการแข่งขัน "อาเซียน ดาต้า ไซเอนซ์ เอ็กซ์พลอเรอส์" ซึ่งจัดโดยมูลนิธิอาเซียน ร่วมกับ เอสเอพี เกี่ยวกับ เอสเอพี (SAP) ในฐานะบริษัทด้านคลาวด์ที่ขับเคลื่อนด้วย SAP HANA(R) เอสเอพี เป็นผู้นำตลาดซอฟต์แวร์แอพพลิเคชั่นระดับองค์กร ที่ได้ช่วยเหลือองค์กรขนาดต่างๆในทุกอุตสาหกรรมให้สามารถทำงานได้ดีขึ้น โดย 77% ของรายได้ที่เกิดจากการทำธุรกรรมของโลกนั้นทำบนระบบของเอสเอพี นอกจากนี้เทคโนโลยีแมชชีน เลิร์นนิ่ง อินเตอร์เน็ต ออฟ ธิงส์ (IoT) และเทคโนโลยีการวิเคราะห์ขั้นสูงของเอสเอพี ช่วยเปลี่ยนธุรกิจของลูกค้าให้เป็นอินเทลลิเจนท์ เอ็นเตอร์ไพรซ์ เอสเอพีช่วยให้ผู้คนและองค์กรเข้าใจในธุรกิจอย่างลึกซึ้ง รวมถึงส่งเสริมการทำงานร่วมกันเพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันทางธุรกิจ เราลดความซับซ้อนของเทคโนโลยีเพื่อให้องค์กรต่างๆ สามารถใช้ซอฟต์แวร์ของเราได้อย่างที่ต้องการและต่อเนื่อง ชุดแอพพลิเคชั่นและบริการครบวงจรของเอสเอพี ช่วยให้ลูกค้าธุรกิจและภาครัฐกว่า 413,000 ราย สามารถทำกำไร ปรับตัว และสร้างความแตกต่างได้ ด้วยเครือข่ายลูกค้าพาร์เนอร์ พนักงาน และผู้นำทางความคิดที่มีอยู่ทั่วโลก เอสเอพีช่วยให้โลกดำเนินงานได้ดีขึ้นและปรับปรุงชีวิตของผู้คน ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.sap.com
แท็ก ข้อมูล  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ