มรภ.สงขลา ร่วมเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซ ภาคใต้

ข่าวทั่วไป Friday January 25, 2019 16:33 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 ม.ค.--มรภ.สงขลา มรภ.สงขลา จับมือองค์กรพันธมิตร ร่วมพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการด้านอีคอมเมิร์ซ ภาคใต้ หลักสูตรสร้างธุรกิจยุคเศรษฐกิจดิจิทัล มุ่งเพิ่มทักษะทางภาษาควบคู่ไอซีที เล็งต่อยอดสู่ภูมิปัญญาท้องถิ่น ผศ.ดร.นิวัต กลิ่นงาม อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) กล่าวระหว่างเป็นประธานเปิดงานเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการด้านอีคอมเมิร์ซในหลักสูตรการสร้างธุรกิจในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล (ภาคใต้) สำหรับกลุ่มโรงเรียน ทสรช. ระยะที่ 3 ณ ศูนย์ภาษา มรภ.สงขลา เมื่อเร็วๆ นี้ว่า เป็นกิจกรรมภายใต้ความร่วมมือของมหาวิทยาลัยราชภัฏ ในฐานะเครือข่ายการดำเนินงานโครงการส่งเสริมการใช้ไอซีทีสร้างรายได้ในกลุ่มโรงเรียนในโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษาของโรงเรียนในชนบท (ทสรช.) ภายใต้มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยร่วมเป็นเจ้าภาพในการจัดอบรมร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีความรู้เกี่ยวกับการทำธุรกิจออนไลน์ นำไปสู่การสร้างรายได้ให้แก่สถานศึกษา ครอบครัว และชุมชน ตามบริบทของโรงเรียนและพื้นที่ ด้าน รศ.ดร.กมลรัฐ อินทรทัศน์ จากศูนย์วิจัยการจัดการความรู้การสื่อสารและการพัฒนา มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) ผู้ประสานงานโครงการฯ กล่าวว่า ในส่วนของ มสธ. เรามีความเชี่ยวชาญในการใช้สื่อไอซีที เพื่อพัฒนากลุ่มคนที่ด้อยโอกาสในสังคม ทางคณะผู้จัดงานจึงเชิญให้มาช่วยในเรื่องตลาดออนไลน์ โดยมุ่งหวังให้สามารถเป็นผู้ประกอบการและเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต จึงนำเอา MOOC (Massive Open Online Course) หรือรูปแบบการนำเสนอการเรียนรู้หลักสูตรต่างๆ ทางออนไลน์ที่เข้าถึงผู้เรียนจำนวนมากได้ผ่านทางหน้าเว็บไซต์ และสะดวกต่อการใช้กับโทรศัพท์มือถือ มาใช้ในการเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซ ทั้งในด้านไอซีทีและการเสริมสร้างทักษะทางภาษา ซึ่งจากการได้พูดคุยกับอธิการบดี มรภ.สงขลา ท่านให้ความสำคัญในการพัฒนาด้านภาษาเป็นพิเศษ และมีแนวคิดที่จะให้ทุนแก่นักศึกษาในการไปศึกษายังต่างประเทศ จำนวน 100 ทุน เพื่อฝึกฝนด้านภาษากับเจ้าของภาษาโดยตรง นอกจากนั้น ยังได้หารือกันถึงความร่วมมือทางวิชาการที่จะมีขึ้นในอนาคต เนื่องจากราชภัฏมีจุดเด่นในเรื่องการทำงานพัฒนาท้องถิ่น โดยเฉพาะเรื่องภูมิปัญญาที่มีอยู่มากในพื้นที่

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ