รมว.แรงงานลงพื้นที่สานงานพัฒนาศักยภาพลุ่มแม่น้ำโขง

ข่าวทั่วไป Friday January 25, 2019 17:50 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 ม.ค.--กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เมื่อวันที่ 25 ม.ค. 62 พล.ต.อ. อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมคณะ ลงพื้นที่ จ.นครพนม เพื่อติดตามและประเมินผลความคืบหน้า โครงการพัฒนาศักยภาพแรงงานกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง และการจัดตั้งสถาบันนานาชาตินครพนม โดยมีผู้บริหาร หน่วยงานภาครัฐ และสถาบันการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาฝีมือแรงงาน จากประเทศ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม เข้าร่วม 20 คน นอกจากนี้ ยังมอบวุฒิบัตร ให้ผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรภายใต้โครงการพัฒนาฝีมือแรงงานนานาชาติ เพื่อการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง และภูมิภาค เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในหลักสูตรการวางแผนธุรกิจ และ ออกแบบเว็บไซด์ โดยใช้โปรแกรม Words Press ซึ่งเป็นบุคลากรด้านแรงงานจาก สปป.ลาว 37 คน และ ผู้ผ่านการฝึกอบรมสาขาภาษาเกาหลีเพื่อการทำงานชาวไทย 20 คน จากสำนักพัฒนาฝีมือแรงงานนครพนม ซึ่งเป็นการดำเนินการตามนโยบาย 3A ที่มุ่งเน้นยกระดับทักษะฝีมือแรงงาน และสอดรับกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของรัฐบาลด้านแรงงาน โดย รมว.แรงงาน ได้เน้นย้ำและให้ความสำคัญตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการนำประเทศ ก้าวเข้าสู่ความเป็นประเทศที่พัฒนาโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังตลอดมา จึงจำเป็นจะต้องเร่งพัฒนาปัจจัยพื้นฐานทุกด้าน ควบคู่ไปกับการยกระดับทักษะฝีมือแรงงาน เพื่อให้สอดคล้องกับอุตสาหกรรมเป้าหมาย และการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี พร้อมทั้งขยายความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงกับมิตรประเทศ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จึงบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ในการฝึกอบรมแก่แรงงานทั้งชาวไทยและเพื่อนสมาชิกในกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงเพื่อสร้างสัมพันธภาพที่ดีระหว่างประเทศสมาชิก ทั้งนี้ พื้นที่เศรษฐกิจ อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ที่มีความร่วมมือในการพัฒนาศักยภาพแรงงานประกอบด้วย 5 ประเทศได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม และประเทศไทย โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ได้จัดตั้งสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานนานาชาติขึ้น ที่ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย เพื่อเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาฝีมือและศักยภาพแรงงานในกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง รับผิดชอบจังหวัดริมโขงได้แก่ เชียงราย เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร ศีรษะเกษ สุรินทร์ อำนาจเจริญ อุบลราชธานี ซึ่งเป็นพื้นที่เป้าหมายในการดำเนินการในปี 2562 จำนวน 2,000 คน โดยสาขาที่ฝึกอบรม ได้แก่ สาขาเทคโนโลยียานยนต์ ช่างไฟฟ้าอุตสาหกรรม ตรวจซ่อมเครื่องปรับอากาศ ช่างไม้เฟอร์นิเจอร์ เทคนิคการบริการอาหารและเครื่องดื่ม และสาขาความปลอดภัยในการขนส่งสินค้าอันตรายในแม่น้ำโขง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ