“Smart Durian” แอพฯวิเคราะห์ดินบนมือถือ สำหรับชาวสวนทุเรียนเมืองปทุม

ข่าวทั่วไป Wednesday January 30, 2019 13:45 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--30 ม.ค.--กองประชาสัมพันธ์ มทร.ธัญบุรี หน่วยบูรณาการวิจัยและความร่วมมือเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่ (สกว.) มทร.ธัญบุรี พัฒนาระบบวิเคราะห์และแจ้งเตือนสภาพดินในสวนทุเรียน ที่จะทำให้ชาวสวนทุเรียนเมืองปทุมธานี สามารถรู้ความชื้นและความเป็นกรดด่างของดินในสวนตนเอง ผ่านมือถือ แบบ Real Time "หอมมันนำ หวานตาม เมล็ดลีบ" คือคำจำกัดความผู้บริโภคมีให้กับทุเรียนหมอนทองของอำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานี ที่วันนี้ชาวสวนทุเรียนของที่นี่ กำลังจะมีเครื่องมือใหม่ มาช่วยรักษาชื่อเสียงของทุเรียนเมืองปทุมแห่งนี้ให้คงอยู่ต่อไป จากการลงพื้นที่เพื่อพูดคุยกับปัญหากับในชุมชนหนองเสือ ภายใต้ชุดโครงการ "การพัฒนาระบบการจัดการเชิงพื้นที่ด้วยการใช้นวัตกรรม : เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการของเสียและสร้างมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์ในเขตพื้นที่จังหวัดปทุมธานี" ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เมื่อต้นปี 2560 ทำให้กลุ่มผุ้วิจัยจากคณะวิทยศาสตร์และเทคโนโลยี ได้รับรู้จากชาวสวนทุเรียนอำเภอหนองเสือว่า หนึ่งในปัญหาของการปลูกทุเรียนที่นี่ก็คือ ปัญหาปลายใบไหม้และร่วงหล่นจากต้นในช่วงทุเรียนออกผลอ่อน ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพของทุเรียนอ่อนที่เกษตรกรกำลังเฝ้าดูแลอยู่ เพราะทุเรียนต้นนั้นจะเกิดการแตกใบอ่อน ทำให้ผลทุเรียนอ่อนที่กำลังเติบโตได้รับสารอาหารน้อยลง อาจารย์ปองพล นิลพฤกษ์ หนึ่งในทีมวิจัยชุดนี้กล่าว่า จากข้อมูลทางวิชาการและการพูดคุยกับกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนในพื้นที่ ต.บึงกาสาม อ.หนองเสือ ทำให้เราทราบว่า อาการปลายใบทุเรียนไหม้ คือการที่ต้นทุเรียนฟ้องให้เรารู้ว่าเขาน้ำมาระยะหนึ่งแล้ว ซึ่งการขาดน้ำของต้นทุเรียนส่วนใหญ่เกิดจากภสภาพดินที่มีน้ำน้อยเกินไป (ไม่เพียงพอกับความต้องการของต้นทุเรียน) ซึ่งการแก้ปัญหาหลังจากพบอาการใบไหม้เป็นการแก้ที่ปลายเหตุ ส่วนการเดินตรวจดูสภาพแปลง สภาพต้น รวมถึงการขุดดินขึ้นมาดูด้วยตาเปล่า ก็ต้องทำอย่างสม่ำเสมอและต้องเป็นผู้มีประสบการณ์ รวมถึงอาจมีความคลาดเคลื่อนได้ นั่นจึงเป็นที่มาของงานวิจัย "ระบบตรวจวัดและแจ้งเตือนสภาพดินในสวนทุเรียนแบบอัตโนมัติ กรณีศึกษา ต. บึงกาสาม อ.หนองเสือ จ.ปทุมธานี" ภายใต้ชุดโครงการวิจัย โครงการ "การพัฒนาระบบการจัดการเชิงพื้นที่ด้วยการใช้นวัตกรรม : เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการของเสียและสร้างมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์ในเขตพื้นที่จังหวัดปทุมธานี" ของ มทร.ธัญบุรี โดยการสนับสนุนของสกว. "ระบบตรวจจับและแจ้งเตือนสภาพดินในสวนทุเรียนแบบอัตโนมัตินี้ เป็นการนำความรู้ความเชี่ยวชาญของทีมวิจัยด้านคอมพิวเตอร์ ทั้งด้านระบบตรวจวัด และการเชื่อมต่อการส่งข้อมูลแบบไร้สาย พัฒนาเป็นอุปกรณ์ขนาดฝ่ามือ ที่นอกจากวัดค่าความชื้นในดินได้แล้ว ยังมีเซนเซอร์วัดค่าความเป็นกรดด่างเพิ่มให้ด้วย เพราะความเป็นกรดด่างจะมีความสัมพันธ์กับความชื้น เช่น กรณีเกิดน้ำขังและมีใบไม้มาบดบัง ก็ทำให้หน้าดินเปลี่ยนเป็นกรด ซึ่งมีผลต่อสุขภาพของต้นทุเรียนได้ เพราะเชื้อราหลายชนิดที่เจริญได้ดีในดินที่เป็นกรดหรือด่างมากเกินไปจะสามรถทำให้ต้นทุเรียนเกิดโรคได้" อาจารย์ปองพล ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัยกล่าว อาจารย์ปองพล กล่าวอีกว่า นอกเหนือจากอุปกรณ์เซนเซอร์ ที่ติดตั้งอยู่ในแปลงปลูกแล้ว สิ่งที่เป็นหัวใจของระบบนี้ก็คือ ระบบการส่งข้อมูล ที่เกษตกรเจ้าของสวนมีเพียงระบบอินเตอร์เน็ตบ้านและอุปกรณ์สื่อสารไร้สาย (เราเตอร์) ก็จะสามารถรับข้อมูลจากอุปกรณ์เซนเซอร์ เพื่อส่งต่อให้ไปที่ Server ที่ มทร.ธัญบุรี ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งเกษตรกรก็จะสามารถรู้ค่าความชื้น และความเป็นกรดด่างได้ทันที ผ่านแอพพลิเคชั่น Smart Durian บนมือถือของตนเอง "ด้วยแอพพลิชั่น 'Smart Durian' ที่เราพัฒนาขึ้นนี้นอกจาก ชาวสวนทุเรียนสามารถดูค่าความชื้นในดินและตัวเลขอื่นๆ ณ เวลานั้น ผ่านมือถือของตนเองได้ในทันทีแล้ว เรายังนำค่าที่ได้จากเซนเซอร์มาประมวลเทียบกับข้อมูลวิชาการ เพื่อดูว่าระดับความชื้น หรือค่าความเป็นกรดด่าง อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมกับความต้องการจริงของทุเรียนมากน้อยเพียงใด มาทำเป็นภาษาที่เข้าใจง่าย เช่น ดินมีความชื้นมากไปหรือน้อยไป ดินเป็นกรดสูงเกินไปควรปรับปรุงดินแบบไหน เพื่อเป็น 'คำแนะนำ' ให้เกษตรกรด้วย" อาจารย์กีรติบุตร กาญจนสเถียร หนึ่งในทีมวิจัยกล่าวเสริม ด้านนายสุพจน์ ตันพิชัย เกษตรกรที่ได้นำระบบดังกล่าวไปทดลองใช้ กล่าวว่า ระบบนี้ช่วยให้ตนเองมีความมั่นใจมากขึ้นว่าในช่วงเวลานั้นๆ ควรจะให้น้ำกับทุเรียนในจุดนั้นๆ มากขึ้นหรือน้อยลง ที่สำคัญทำให้ตนเองไม่ต้องไปเดินสวนตรวจทุกครั้งที่จะให้น้ำ เพราะไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ก็สามารถรู้ได้ทันทีจากมือถือ "สิ่งที่จะดำเนินการต่อก็คือการพัฒนาอุปกรณ์ดังกล่าวให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งการเพิ่มทางเลือกให้สามารถใช้ได้ทั้งไฟกระแสตรงจากแบตเตอรี่ หรือไฟฟ้ากระแสสลับจากไฟบ้าน (ปัจจุบันเป็นระบบที่ใช้ไฟจากแบตเตอรี่ที่ต่อกับแผงโซลาเซลล์) การเพิ่มโหมดหลับลึก (deep sleep) หรือกำหนดให้ส่งข้อมูลเฉพาะผลตรวจที่มีค่าเปลี่ยนแปลงมากกว่าที่กำหนดไว้ เพื่อการประหยัดพลังงานให้กับระบบ สร้างระบบประมวลผลในส่วนกลางให้สามารถนำข้อมูลย้อนหลังมาเปรียบเทียบกับข้อมูลปัจจุบัน รวมไปถึงการต่อยอดไปใช้กับพืชชนิดอื่นๆ ต่อไป" หัวหน้าโครงการวิจัย สรุป
แท็ก ทุเรียน   สกว.  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ