GSP ญี่ปุ่นเสริม JTEPA เพิ่มพลัง... ผลักดันการส่งออก

ข่าวทั่วไป Tuesday January 22, 2008 10:38 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--22 ม.ค.--คต.
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศเปิดเผยว่า การค้าระหว่างไทยกับญี่ปุ่นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คงปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้ส่งออกของไทยได้รับประโยชน์จากระบบ GSP ญี่ปุ่นมาโดยตลอด ต่อมาเมื่อรัฐบาลไทยและญี่ปุ่นมีความเห็นร่วมกันให้จัดทำความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระหว่างไทยกับญี่ปุ่น (JTEPA) โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2550 เป็นต้นมานั้น ทิศทางการส่งออกของไทยมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จะเห็นได้ว่าในช่วงระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2550 — 9 มกราคม 2551 มีการส่งออกภายใต้ความตกลง JTEPA มูลค่า 1,157.16 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 60.03 ของมูลค่าการส่งออกไทยไปญี่ปุ่น สินค้าส่งออกสำคัญที่ขอใช้สิทธิพิเศษ JTEPA ได้แก่ ไก่ปรุงแต่ง ยานยนต์และชิ้นส่วน กุ้งปรุงแต่ง น้ำมันเบนซิน และผลิตภัณฑ์พลาสติก เป็นต้น
สำหรับการส่งออกภายใต้ระบบ GSP ญี่ปุ่นในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2550 พบว่า กรมการค้าต่างประเทศได้ออกหนังสือรับรองแหล่งกำเนิดฯ Form A จำนวนทั้งสิ้น 38,916 ฉบับ คิดเป็นมูลค่า 1,120.97 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือขยายตัวเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 0.94 โดยมีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ ร้อยละ 16.49 ทั้งนี้ เป็นผลมาจากการที่สินค้าส่งออกสำคัญหลายรายการ โดยเฉพาะโมดิไฟด์สตาร์ช เดกซ์ทริน ผลิตภัณฑ์อะลูมิเนียม ฯลฯ ได้ถูกระงับสิทธิ GSP ญี่ปุ่นเนื่องจากมูลค่าการนำเข้าสินค้าดังกล่าวจากประเทศไทยเกินเพดานที่กำหนดไว้ ดังนั้น การที่มีความตกลง JTEPA จึงนับเป็นเครื่องมือสำคัญในการช่วยเหลือส่งเสริมศักยภาพในด้านการส่งออกของไทยในตลาดญี่ปุ่นให้เพิ่มสูงขึ้นกว่าเดิม
แต่ภายใต้ความตกลง JTEPA ยังคงมีสินค้าบางรายการที่ไม่สามารถหาข้อสรุปในการเปิดตลาดระหว่างกันได้ ดังนั้น การที่ญี่ปุ่นยังคงให้สิทธิ GSP แก่ไทย โดยให้สิทธิพิเศษฯ เฉพาะสินค้าที่อยู่ในบัญชีรายการสินค้าทั้ง 102 รายการ ที่ได้รับประโยชน์มากกว่าประโยชน์ที่ผู้ส่งออกของไทยได้รับจากความตกลง JTEPA โดยแบ่งเป็นสินค้า 2 กลุ่ม ดังนี้
กลุ่มแรก : สินค้าจำนวน 80 รายการ เป็นสินค้าต้องนำกลับมาหารือกันใหม่หรือเป็นสินค้าที่ยกออกจากการเจรจาฯ อาทิ สินค้าในพิกัดฯ 3505.20-000 (กาว), พิกัดฯ 4303.10-019 (เครื่องแต่งกายที่ทำด้วยหนังสัตว์อื่นๆ) พิกัดฯ 4412.99-110 (แผ่นไม้อัดที่ได้จากเศษไม้ฯ) เป็นต้น
กลุ่มที่สอง : สินค้าจำนวน 22 รายการ ที่มีอัตราภาษีภายใต้ระบบ GSP ต่ำกว่าอัตราภาษีภายใต้ความตกลง JTEPA อาทิ สินค้าในพิกัดฯ 3901.10-020 (โพลิเอทิลีนผงฯ), พิกัดฯ 3903.90-010 (โพลิเมอร์ของสไตรีน ขั้นปฐมอื่นๆ) พิกัดฯ 6405.10-300 (รองเท้าอื่นๆ ที่ทำด้วยหนังฟอก) เป็นต้น
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อให้ผู้ส่งออกของไทยสามารถรับประโยชน์จากความตกลง JTEPA และระบบ GSP ญี่ปุ่น ได้มากขึ้น กรมการค้าต่างประเทศในฐานะที่เป็นหน่วยงานหลัก ซึ่งทำหน้าที่กำกับดูแล ส่งเสริม และให้ความรู้ความเข้าใจในระบบสิทธิพิเศษทางการค้าต่างๆ จะยังคงเดินหน้าเร่งประชาสัมพันธ์ ตลอดจนจัดสัมมนา Workshop ทั้งในส่วนกลางและภูมิภาคต่างๆ และนอกจากนี้ กรมการค้าต่างประเทศยังได้จัดคลินิกส่งออกเคลื่อนที่สัญจรไปยังจังหวัดต่างๆ เพื่อสร้างความเข้าใจ และช่วยเหลือผู้ส่งออกในการปรับตัวกับรูปแบบการค้าในอนาคตต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ