กรมวิทย์ฯเตือนภัยแมลงมีพิษในประเทศไทยถึงตายได้ แนะเลี่ยงไม่บริโภคและป้องกันตัวเองจากการถูกกัดต่อย

ข่าวทั่วไป Thursday April 19, 2018 13:50 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--5 ก.พ.--โฟร์ พี แอดส์ (96) กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เตือนอันตรายจากแมลงมีพิษ โดยเฉพาะด้วงก้นกระดกและด้วงน้ำมัน ชี้พิษอันตรายโดยทำให้ปวดแสบปวดร้อน และอาจทำให้เสียชีวิตถ้านำไปบริโภค แนะหลีกเลี่ยงไม่บริโภคแมลงที่ไม่รู้จักและป้องกันตัวเองจากการถูกแมลงกัดต่อย นอกจากนี้ได้จัดทำหนังสือรวบรวมข้อมูลแมลงมีพิษที่เข้าใจง่าย สำหรับหน่วยงาน และประชาชนที่สนใจฟรี นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า อันตรายที่เกิดจากแมลงมีพิษเป็นภัยด้านสุขภาพอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง ซึ่งแมลงหลายชนิดมีพิษโดยธรรมชาติในตัวของมันเอง คนจะได้รับพิษจากการถูกกัด ดูดกินเลือด หรือจากการไปสัมผัส รวมทั้งการบริโภคแมลงมีพิษเหล่านั้น โดยหลังจากได้รับพิษจะมีอาการตั้งแต่เล็กน้อยจนถึงขั้นร้ายแรงเสียชีวิต ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของแมลงรวมทั้งสภาพร่างกาย อายุ บริเวณที่ได้รับพิษ รวมทั้งปริมาณสารพิษที่ได้รับ โดยอาการทางร่างกายหรือผิวหนังจะมีลักษณะบวมแดง เจ็บปวดหรือปวดแสบปวดร้อน ผื่นคันระคายเคือง ตัวอย่างการได้รับพิษทางผิวหนังที่เป็นข่าวอยู่บ่อยๆ คือ ได้รับพิษจากด้วงก้นกระดกที่มีสารพีเดอริน (Pederin) เมื่อลำตัวแมลงแตกหัก สารพิษดังกล่าวจะสัมผัสกับผิวหนัง ส่วนอาการที่เกิดจากการบริโภคแมลงจะมีได้ 2 แบบ คือ 1.อาการแพ้ที่เกิดจากการบริโภคแมลงทั่วไป โดยร่างกายจะมีการตอบสนองที่คล้ายกับคนที่แพ้อาหาร เช่น แพ้อาหารทะเล จะมีได้ตั้งแต่อาการเล็กน้อยๆ ได้แก่ ลิ้นและหลอดอาหารบวม กลืนอาหารลำบาก คลื่นไส้ อาเจียน กระวนกระวาย เป็นลม ปวดท้องเนื่องจากกระเพาะอาหารหดเกร็ง ท้องเสีย จนถึงขั้นรุนแรงคือความดันโลหิตลดลงอย่างรวดเร็ว หายใจไม่สะดวก ช็อค และอาจทำให้เสียชีวิตได้ 2.อาการที่เกิดจากการบริโภคแมลงที่มีพิษร้ายแรง ได้แก่ ด้วงน้ำมันที่มีรายงานผู้เสียชีวิตอยู่เสมอโดยประชาชนเข้าใจผิดคิดว่ากินได้ จึงจับมาเผาไฟกินจะได้รับสารพิษแคนทาริดิน (Cantaridin) ถึงแม้ด้วงจะถูกเผาไฟแล้วแต่สารพิษยังคงอยู่ ในแต่ละปีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้รับตัวอย่างด้วงน้ำมันส่งมาตรวจวิเคราะห์เนื่องจากมีคนได้รับพิษ โดยพบว่าการกินด้วงน้ำมันเกิน 3 ตัวแล้วรักษาไม่ทันจะทำให้เสียชีวิตได้ อาการของผู้ที่กินด้วงน้ำมัน คือ ปวดท้องอย่างรุนแรง คลื่นไส้ อาเจียน มีเลือดปน รวมทั้งถ่ายอุจจาระและปัสสาวะมีเลือดปน เนื่องจากสารพิษดังกล่าวเข้าไปทำอันตรายอย่างรุนแรงต่อเยื่อเมือกในระบบต่างๆ ของร่างกาย นอกจากนั้นยังมีแมลงอีกหลายชนิดที่ดูดกินเลือดโดยตรง เช่น มวนเพชฌฆาต แมลงชนิดนี้ในเวลากลางวันจะหลบซ่อนตัวอยู่บริเวณที่รกรุงรังหรือรอยแตกของผนังห้อง รวมทั้งพุ่มไม้รอบบ้านแล้วออกมาดูดกินเลือดคนและสัตว์ในเวลากลางคืน รวมทั้งตัวเรือด หมัด เห็บ และไร เป็นต้น และหากไม่ดูแลรักษาบาดแผลที่ถูกกัดอาจทำให้เกิดการติดเชื้อและเป็นแผลอักเสบลุกลามได้ หรือแม้แต่แมลงบางชนิด เช่น แมลงวันตา ชอบมาดูดกินเลือดและน้ำเหลืองบนแผลที่ผิวหนัง ทำให้เกิดการปนเปื้อนของเชื้อโรคเข้าสู่บาดแผล เกิดเป็นแผลเรื้อรังที่รักษาไม่หายขาดได้ ดังนั้นประชาชนควรหลีกเลี่ยงไม่บริโภคแมลงที่ไม่รู้จักหรือไม่เคยมีการนำมาบริโภคมาก่อน ป้องกันตัวเองจากการถูกแมลงกัดต่อย ถ้าได้รับพิษทางผิวหนังให้ล้างแผลให้สะอาด ทาด้วยยาปฏิชีวนะประเภทครีม ถ้ามีอาการรุนแรงทั้งจากการแพ้หรือบริโภคแมลง ควรรีบไปพบแพทย์ทันที "กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ตระหนักถึงความสำคัญของสุขภาพประชาชนจากการได้รับพิษจากแมลง จึงได้จัดทำหนังสือแมลงมีพิษที่เข้าใจง่าย โดยรวบรวมข้อมูลที่ได้จากการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับชนิดของแมลงพิษว่ามีลักษณะอย่างไร เพื่อให้ประชาชนได้รู้จักกับแมลงพิษชนิดต่างๆ รวมทั้งวิธีป้องกันตัวและการดูแลตัวเองเบื้องต้นเมื่อได้รับพิษและหนังสือ แมลง สัตว์ และพืชที่มีพิษและเป็นอันตราย ซึ่งได้รวบรวมข้อมูลของทั้งแมลง สัตว์และพืชที่มีพิษแจกจ่ายให้กับหน่วยงานและประชาชนที่สนใจสามารถติดต่อรับได้ที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โทรศัพท์ 0-2591-1707" นายแพทย์สุขุม กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ