ปภ.เตือนอุบัติภัยจากไฟฟ้าแรงสูง...อันตรายที่ต้องเพิ่มความระมัดระวัง

ข่าวทั่วไป Tuesday February 5, 2019 14:03 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--5 ก.พ.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แนะวิธีป้องกันอันตรายจากสายไฟฟ้าแรงสูง โดยในส่วนของคนทำงาน ห้ามทำนั่งร้าน ตั้งติดป้ายโฆษณาใกล้หรือคร่อมสายไฟฟ้าแรงสูง ห้ามติดตั้งเสาอากาศโทรทัศน์ จานดาวเทียมใกล้แนวสายไฟฟ้าแรงสูง ห้ามจับ ดึง หรือแกว่งลวดสลิงเหล็กที่ใช้ยึดโยงเสาไฟฟ้าแรงสูง ห้ามขุด เจาะ ตอก หรือปักวัสดุที่มีลักษณะเป็นโลหะใกล้แนวเสาไฟฟ้าแรงสูง เพิ่มความระมัดระวังในการทำงานใกล้แนวสายไฟฟ้าแรงสูง ในส่วนของประชาชน ห้ามประกอบกิจกรรมใกล้แนวเสาไฟฟ้าหรือสายไฟฟ้าแรงสูง ห้ามประกอบกิจกรรมเกี่ยวกับน้ำใกล้แนวเสาไฟฟ้าหรือสายไฟฟ้าแรงสูง ห้ามประกอบกิจกรรมที่ทำให้เกิดความร้อนใกล้แนวเสาไฟฟ้าหรือสายไฟฟ้าแรงสูง พร้อมตัดแต่งกิ่งไม้มิให้เข้าใกล้หรือพาดแนวสายไฟฟ้าแรงสูง ตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของป้ายโฆษณา หลีกเลี่ยงการเข้าใกล้เสาไฟฟ้าหรือสายไฟฟ้าแรงสูงขณะเกิดฝนฟ้าคะนอง เพื่อป้องกันอันตราย ทำให้ถูกไฟฟ้าดูดเสียชีวิตได้ นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า บ่อยครั้งที่มักเกิดอุบัติภัยจากไฟฟ้าแรงสูง ทำให้ผู้ที่ทำงานใกล้แนวสายไฟฟ้าแรงสูงได้รับอันตราย เพื่อความปลอดภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ขอแนะวิธีป้องกันอันตรายจากสายไฟฟ้าแรงสูง ดังนี้ คนทำงาน ห้ามทำนั่งร้าน ติดตั้งป้ายโฆษณาใกล้หรือคร่อมสายไฟฟ้าแรงสูง เพราะหากวัสดุหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายเข้าใกล้สายไฟฟ้าแรงสูง จะก่อให้เกิดอันตรายได้ ห้ามติดตั้งเสาอากาศโทรทัศน์ จานดาวเทียม ใกล้แนวสายไฟฟ้าแรงสูง เพราะอาจถูกไฟฟ้าแรงสูงดูดขณะติดตั้ง โดยเฉพาะหากเกิดพายุลมแรงพัดเสาอากาศไปแตะสายไฟฟ้าแรงสูง จะทำให้เครื่องใช้ไฟฟ้าชำรุด และผู้ที่อยู่บริเวณใกล้เคียงได้รับอันตราย ห้ามจับ ดึง หรือแกว่งลวดสลิงเหล็กที่ใช้ยึดโยงเสาไฟฟ้าแรงสูง เพราะอาจกระทบสายไฟฟ้าแรงสูง ทำให้กระแสไฟฟ้ารั่วหรือสายไฟฟ้าแรงสูงขาด ก่อให้เกิดอันตรายได้ ห้ามขุด เจาะ ตอก หรือปักวัสดุที่มีลักษณะเป็นโลหะ ใกล้แนวเสาไฟฟ้าแรงสูง เพราะอาจทำให้กระแสไฟฟ้ารั่วก่อให้เกิดอันตรายได้ เพิ่มความระมัดระวังในการทำงานใกล้แนวสายไฟฟ้าแรงสูง ไม่ให้ร่างกาย เครื่องมือ เครื่องจักร และอุปกรณ์ที่เป็นโลหะสัมผัสหรือเกี่ยวสายไฟ เพราะจะได้รับอันตรายจากการถูกไฟฟ้าดูดได้ ประชาชน ห้ามประกอบกิจกรรมใกล้แนวเสาไฟฟ้าหรือสายไฟฟ้าแรงสูง ไม่เล่นว่าว ไม่ยิงนก ไม่สอยวัสดุทุกชนิดที่ติดอยู่บนสายไฟฟ้าแรงสูง เช่น ว่าว ลูกโป่ง เป็นต้น ห้ามปีนหรือขึ้นไปอยู่บนเสาไฟฟ้า เพราะจะได้รับอันตรายจากการถูกไฟฟ้าดูด ห้ามประกอบกิจกรรมเกี่ยวกับน้ำใกล้แนวเสาไฟฟ้าหรือ สายไฟฟ้าแรงสูง เช่น รดน้ำต้นไม้ ฉีดน้ำล้างพื้น ล้างรถ ต่อท่อน้ำทิ้งจากระเบียงหรือกันสาด เป็นต้น เพราะหากมีกระแสไฟฟ้ารั่ว จะเสี่ยงต่อการ ถูกไฟฟ้าดูด ห้ามประกอบกิจกรรมที่ทำให้เกิดความร้อนใกล้แนวเสาไฟฟ้าหรือสายไฟฟ้าแรงสูง เช่น เผาขยะ เผาหญ้า จุดไฟประกอบอาหาร สุมไฟไล่แมลง เป็นต้น เพราะจะทำให้ฉนวนไฟฟ้าเสื่อมสภาพกระแสไฟฟ้ารั่วและลัดวงจร จนไฟฟ้าดับเป็นบริเวณกว้าง อีกทั้งอาจส่งผล ให้สายไฟฟ้าแรงสูงขาดได้ ตัดแต่งกิ่งไม้มิให้เข้าใกล้หรือพาดแนวสายไฟฟ้าแรงสูง เพื่อป้องกันกระแสไฟฟ้าแรงสูงรั่วลงมาตามกิ่งไม้ ก่อให้เกิดอันตรายได้ หากมีกิ่งไม้พาดแนวสายไฟแรงสูง ควรแจ้งเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าในพื้นที่หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมาดำเนินการ ตัดแต่งกิ่งไม้ ไม่ควรดำเนินการเอง เพราะอาจได้รับอันตรายได้ ตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของป้ายโฆษณา โดยเฉพาะบริเวณดาดฟ้าของอาคาร หรือริมถนนใกล้แนวสายไฟฟ้าแรงสูง เพื่อป้องกันพายุลมแรงพัดเสาไฟฟ้าล้ม สายไฟฟ้าแรงสูงขาด ก่อให้เกิดอันตรายได้ หลีกเลี่ยงการเข้าใกล้เสาไฟฟ้าหรือสายไฟฟ้าแรงสูงขณะเกิดฝนฟ้าคะนอง เพื่อป้องกันอันตรายจากฟ้าผ่า เสาไฟฟ้าล้มทับ หรือสายไฟฟ้าแรงสูงขาด ทำให้ถูกไฟฟ้าดูดเสียชีวิตได้ กรณีพบเห็นสายไฟแรงสูงขาด หย่อนยาน หรือเสาไฟฟ้าล้ม ให้โทรศัพท์แจ้งการไฟฟ้าในพื้นที่ดำเนินการตัดกระแสไฟฟ้าและแก้ไขโดยด่วน งดเว้นการประกอบกิจกรรมทุกชนิด ห้ามเข้าใกล้บริเวณดังกล่าว รวมถึงห้ามใช้วัสดุเขี่ยสายไฟฟ้า เพราะหากมีกระแสไฟฟ้ารั่ว ทำให้ถูกไฟฟ้าดูดเสียชีวิตได้ รวมถึงกรณีที่สายไฟฟ้าแรงสูงขาดและพาดรถยนต์ ควรขับรถให้พ้นจากแนวสายไฟแรงสูงให้มากที่สุด หากไม่สามารถเคลื่อนรถได้ ห้ามลงจากรถจนกว่าจะแน่ใจว่ากระแสไฟฟ้าถูกตัดหรือไม่มีสายไฟฟ้าพาดกับรถแล้ว ท้ายนี้ หากพบเห็นเสาไฟฟ้าอยู่ในลักษณะเอนหรือโค่นล้ม สายไฟขาดหรือหย่อนต่ำ รวมถึงได้ยินเสียงดังคล้ายเสียงแมลงบินบริเวณเสาไฟฟ้า ให้โทรศัพท์แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ 1299 การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 1131 การไฟฟ้านครหลวง มาดำเนินการปรับปรุงแก้ไข จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการได้รับอันตรายจากระบบไฟฟ้า

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ