อาจารย์สวนสุนันทาเสนอกลวิธีสร้างอารมณ์ขัน สะท้อนความคิดสังคมในขำขันล้านนา คว้ารางวัลบทความวิจัยระดับชาติ

ข่าวทั่วไป Monday February 18, 2019 09:49 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 ก.พ.--มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา เมื่อเร็วๆ นี้ นายชิษณุพงศ์ อินทรเกษม อาจารย์หัวหน้าสาขาวิชาภาษาไทย คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ได้รับรางวัล "บทความระดับดี" จากการนำเสนอผลงานวิจัยในการประชุมวิชาการระดับชาติ เนื่องในโอกาสครบรอบ 40 ปีแห่งการสถาปนาสาขาศิลปศาสตร์ ณ มหาวิทยาลัยสุโขทัย ธรรมาธิราช เจ้าของผลงานบทความเรื่อง "กลวิธีการสร้างอารมณ์ขันในเรื่องขำขันล้านนาที่มีการล้อเลียนพฤติกรรมของคน" (STRATEGIES OF CREATING SENSES OF HUMOR FOR PARODYING HUMAN BEHAVIOR IN LANNA JEST) นายชิษณุพงศ์ กล่าวว่า "บทความเรื่องนี้ เป็นการวิจัยเพื่อศึกษากลวิธีการสร้างอารมณ์ขันในเรื่องขำขันล้านนาที่มีการล้อเลียนพฤติกรรมของคน โดยเก็บรวบรวมข้อมูลจากเอกสารที่เป็นนิทานพื้นบ้านล้านนาเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการล้อเลียนพฤติกรรมของคนได้จำนวน 57 เรื่อง โดยใช้แนวคิดทฤษฎีที่เกี่ยวกับอารมณ์ขันมาวิเคราะห์ข้อมูล พบว่า กลวิธีการสร้างอารมณ์ขันในเรื่องขำขันล้านนาแบ่งออกเป็น 2 กลวิธีหลัก คือ กลวิธีทางด้านเนื้อหา และกลวิธีทางภาษา โดยกลวิธีด้านเนื้อหาสามารถแบ่งออกเป็น 3 กลวิธีย่อย ประกอบด้วย การหักมุม การผูกเรื่องที่ไม่เกี่ยวกันโดยตรงเข้าด้วยกัน การล้อคำพูดของคนที่ตกเป็นเป้าให้รู้สึกอับอาย ส่วนกลวิธีทางภาษาสามารถแบ่งออกเป็น 4 กลวิธีย่อย คือการใช้อุปลักษณ์ การเล่นกับความกำกวมทางภาษา การกล่าวเกินจริง และการใช้คำด่าหรือดูถูกโดยแสดงตนเหนือกว่า" นอกจากนี้เรื่องขำขันล้านนายังสะท้อนให้เห็นถึงความคิดและการผ่อนคลายความกดดันอันเนื่องมาจากกฎเกณฑ์และระเบียบของสังคม ซึ่งไม่สามารถวิจารณ์ได้ในความเป็นจริงแต่กลับนำมาถ่ายทอดผ่านนิทานได้อย่างสนุกสนานและไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้งของคนในสังคม อีกด้วย นายชิษณุพงศ์ กล่าวในที่สุด

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ