หนุนเทรนด์ “สวนผักคนเมือง” สู่การสร้างประเทศยั่งยืน

ข่าวบันเทิง Monday February 18, 2019 16:38 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 ก.พ.--สวนผักคนเมือง มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน-สสส. จัดเสวนาวิชาการเกษตรครั้งที่ 1 หนุนสร้างเทรนด์สวนผักคนเมืองปูทางสร้างประเทศยั่งยืน นักวิชาการแนะเร่งสร้างแหล่งอาหารรับมือภัยพิบัติ เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ห้องประชุมใหญ่ชั้น 3 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่าย จัดเสวนาวิชาการเกษตรในเมืองครั้งที่ 1 ภายใต้หัวข้อ "เกษตรในเมืองเพื่อเมืองยั่งยืน" รศ.ดร.บำเพ็ญ เขียวหวาน ประธานมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน กล่าวว่า แนวคิดการทำเกษตรในเมืองและโครงการสวนผักคนเมืองต้องการยกระดับการพึ่งตนเองด้านอาหารและส่งเสริมการบริโภคผักและผลไม้ปลอดภัยให้กับคนเมือง เนื่องจากหลายปีที่ผ่านมาคนเมืองได้ประสบปัญหาหลายประการ อาทิ การพบสารเคมีปนเปื้อนในอาหาร ราคาอาหารคุณภาพที่แพงขึ้นเรื่อยๆ การเข้าถึงอาหารปลอดภัยทำได้ยากขึ้น และทั้งหมดมีแนวโน้มที่รุ่นแรงมากขึ้น ทั้งนี้จากการขยายตัวของเมืองที่เพิ่มขึ้น แต่พื้นที่เกษตรกรรมลดลงคาดการณ์ว่าในปี 2050 อาหารที่คนเมืองบริโภค ต้องนำเข้าจากพื้นที่ชนบทถึงร้อยละ 80 และผู้บริโภคจะต้องจ่ายเงินกว่าร้อยละ 70 ของรายได้ครัวเรือนเพื่อซื้ออาหาร เกษตรในเมือง หรือ Urban Agriculture ก็อาจจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับการเตรียมรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น เพราะในประเทศอื่นๆ เช่น ในยุโรป อเมริกา หรือแม้แต่ในเอเชีย เรื่องของเกษตรในเมือง ได้รับความสนใจและเติบโตมาก โดยก็มีเหตุปัจจัยที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นภาวะความอดอยากในช่วงสงคราม การขาดแคลนอาหาร ความปลอดภัยของอาหาร การเข้าถึงอาหารของกลุ่มคนจนในเมือง เกษตรในเมืองก็เป็นทางออกสำหรับการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้ระดับหนึ่ง "ผลจากการสำรวจพบว่าคนเมืองต้องเสียค่าใช้จ่ายไปกับค่าอาหารมากกว่าครึ่งของรายได้ทั้งหมด และรายจ่ายที่สูญเสียไปนั้นไม่ได้หมายความว่าเขาจะได้รับอาหารที่ปลอดภัย การส่งเสริมของโครงการที่ต้องการให้คนเมืองใช้พื้นที่รกร้างสร้างอาหารเองจึงเป็นแนวทางหนึ่งที่จะแก้ปัญหา การส่งเสริมทำเกษตรในเมืองจึงเพื่อให้คนเมืองพึ่งพาตัวเองในด้านอาหาร ลดรายจ่าย และเตรียมการไว้ในยามคับขัน รับมือความเปลี่ยนแปลง ทั้งยังการเป็นเครื่องมือกลไกลดความเหลื่อมล้ำ เป็นกลไกพัฒนาชุมชนอีกด้วย" ผศ.ดร.ปิยะพงษ์ บุษบงก์ จากสถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวปาฐกถา "เกษตรในเมือง ความสำคัญ ความท้าทาย สู่เป้าหมายที่ยั่งยืน" ตอนหนึ่งว่า ปัจจุบันคนในเมืองได้หย่าร้างกับธรรมชาติไปนาน ทั้งที่แท้จริงแล้วเกษตรอยู่คู่เมืองมาตั้งแต่แรกเริ่มของการกำเนิดเมืองในโลกด้วยซ้ำ กล่าวคือในยุคโบราณ การทำเกษตรที่นำไปสู่การกระจายอาหารเกิดขึ้น คือพื้นที่ในเมือง ขณะที่พื้นที่นอกเมืองไม่ใช่พื้นที่เกษตรแต่คือพื้นที่ป่าและทุ่งหญ้า ดังนั้นการทำเกษตรในเมือง ในแต่ละชุมชน จึงไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นการรื้อทักษะเก่าของคนเมืองเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร ลดค่าใช้จ่ายของครัวเรือน สร้างสุขภาพที่ดีจากการทำเกษตรไร้สารเคมี ทั้งนี้การส่งเสริมเกษตรจะช่วยสร้างผลสะเทือนต่อการพัฒนาเมืองยั่งยืนอย่างน้อย 4 มิติ ได้แก่ 1.เกษตรในเมือง ทำให้เราตั้งคำถามกับเส้นแบ่งเรื่องเมืองกับชนบทที่ "ถูก" ขีดขึ้นและนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำและไม่เป็นธรรมในเชิงโครงสร้างมาหลายศตวรรษ 2. ในขณะที่เราคิดตั้งคำถามเรื่อง "ปริมาณ (volume)" และ "ขนาด (scale)" ของการผลิตแบบนี้ใน "ระบบใหญ่" เราได้ฉุกคิดว่าระบบต่างๆ มันจะ "ปกติ" ไปตลอดหรือไม่ กลุ่มคนที่อยู่ในขบวนของการส่งเสริมเกษตรในเมืองเป็น "นักอนาคต (Futurists)" ของจริง ซึ่งเตรียมรับมือในยามเกิดภัยพิบัติ 3.ในโลกที่ถูกทำให้ซับซ้อน กลุ่มคนที่อยู่ในขบวนของการส่งเสริมเกษตรในเมืองชวนตั้งคำถามเรื่อง "ความเป็นมนุษย์" พวกเขาชวนให้เห็นถึงความสำคัญของการมีวิชาและทักษะแห่งการอยู่รอด การพึ่งพาตนเอง 4.เกษตรในเมืองเป็นการสร้างการเปลี่ยนแปลง (transform) ตัวเองและคนรอบข้าง เป็นการ "ลงมือทำธิปไตย (do-mocracy)" เกษตรในเมืองจึงนับเป็นแกนกลางของความหวัง เป็นการสร้างการเปลี่ยนแปลงด้วยการเปิดรับความเป็นไปได้ต่างๆ ทั้งนี้ วิถีของเกษตรในเมืองยังเป็นวิถีแห่งความละเมียดละไม เช่น การสนับสนุนวิถีการบริโภคแบบช้าๆ (slow food) ซึ่งน่าจะลดทอนความไปเร็วมาเร็วของเมืองในทุกวันนี้ได้บ้าง และที่สำคัญที่สุด เกษตรในเมืองน่าจะช่วยเป็นเสมือนเรือชูชีพ (Lifeboats) ของคนเมือง ที่พอจะทำให้พวกเขาอยู่รอดได้ท่ามกลางวิกฤติ สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) องค์การสหประชาชาติ เป้าหมายที่ 11 ทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มีความปลอดภัย ความต้านทานและยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างครอบคลุมและยั่งยืน สำหรับการเสวนาวิชาการครั้งที่ 1 ถือเป็นครั้งครั้งแรกของการเสวนาด้านอาหารเกษตรในเมืองเพื่อความยั่งยืน ซึ่งจะเป็นเวทีแรกที่จะนำองค์ความรู้ ข้อคิดในมุมวิชาการ ประสบการณ์ตรงของเครือข่ายมาแลกเปลี่ยนกันเพื่อนำเสนอในเชิงนโยบาย นอกจากนี้ยังมีผลงานของกลุ่ม ผลงานวิชาการมาเผยแพร่ การถอดบทเรียนของโครงการต่างๆ ซึ่งโครงการสวนผักคนเมืองได้สนับสนุนทุนโครงการขนาดเล็ก ให้กับกลุ่ม ชุมชน องค์กรต่างๆ ที่อยากเข้ามามีส่วนร่วมในปฏิบัติการสร้างพื้นที่อาหารปลอดภัยในเมือง สร้างพื้นที่รูปธรรม และสร้างพื้นที่ต้นแบบการทำเกษตรในเมืองที่เชื่อมโยงกับประเด็นการพัฒนาต่างๆ อาทิ สวนผักกับความมั่นคงทางอาหาร สวนผักกับการบำบัดเยียวยา สวนผักกับการการสร้างพื้นที่ความสัมพันธ์รูปแบบใหม่ของสังคม และสวนผักกับกระบวนการเรียนรู้ของเด็ก โดยมีพื้นที่เป้าหมายอยู่ในกรุงเทพฯและปริมณฑล ซึ่งที่ผ่านมาเกิดพื้นที่รูปธรรมขึ้นมากกว่า 200 แห่ง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ