มรภ.สงขลา รวมทีมสร้าง “ห้องสมุดมีชีวิต” ภารกิจสร้างสุขให้น้อง

ข่าวทั่วไป Wednesday February 27, 2019 17:17 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--27 ก.พ.--มรภ.สงขลา คณะมนุษยศาสตร์ฯ มรภ.สงขลา นำทีมนักศึกษาเอกภาษาไทย เนรมิตห้องสมุดมีชีวิต ร.ร.บ้านน้ำกระจาย หวังปลูกฝังนิสัยรักการอ่าน พร้อมสร้างโอกาสให้เด็กเข้าถึงสื่อที่ช่วยเสริมพัฒนาการ เตรียมต่อยอดสู่ศูนย์เรียนรู้ของชุมชน ผศ.ดร.นิวัต กลิ่นงาม อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) กล่าวระหว่างเป็นประธานเปิดโครงการห้องสมุดมีชีวิต ณ ร.ร.บ้านน้ำกระจาย อำเภอเมืองสงขลา เมื่อเร็วๆ นี้ว่า รู้สึกดีใจแทนเด็กๆ ที่ผู้ใหญ่เห็นความสำคัญของการศึกษา เพราะแสงสว่างใดเสมอด้วยปัญญาไม่มี การที่เราปลูกฝังให้เด็กรักการอ่าน รักการเรียนรู้ ย่อมเป็นการเพาะเมล็ดพันธุ์ให้เติบโตขึ้นมาเป็นคนใฝ่รู้ ใฝ่เรียน ซึ่งห้องสมุดถือเป็นศูนย์กลางแห่งการเรียนรู้ ไม่ใช่แค่กับเด็กนักเรียนเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงชุมชนด้วย เช่นเดียวกับ มรภ.สงขลา ที่มุ่งมั่นให้การศึกษาแก่เยาวชนในท้องถิ่น หากมีสิ่งใดที่จะสามารถร่วมมือกับชุมชนได้ก็ยินดีอย่างยิ่ง เพราะเราเป็นสถาบันการศึกษาที่อยู่คู่กับท้องถิ่นมายาวนานนับ 100 ปีแล้ว อาจารย์สุกานดา จันทวี สาขาบรรณารักษ์ศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มรภ.สงขลา ผู้ดูแลโครงการห้องสมุดมีชีวิต กล่าวถึงที่มาของการจัดกิจกรรมว่า ต้องการที่จะพัฒนาห้องสมุดมุ่งสู่การเป็นห้องสมุดมีชีวิต รองรับกระแสความเปลี่ยนแปลงที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสังคม โดยเฉพาะด้านการสร้างนิสัยรักการอ่าน ส่งเสริมสู่การเป็นนักอ่าน นักคิด นักปฏิบัติ โดยให้หนังสือจุดประกายความคิด สร้างแรงบันดาลใจแก่เด็กๆ ขับเคลื่อนสังคมไทยให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ และเป็นกลไกสนับสนุนวาระแห่งชาติเรื่องการอ่านให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น โดยได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากอาจารย์สาขาบรรณารักษศาสตร์ และอาจารย์สาขาวิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์ฯ มรภ.สงขลา เข้ามาช่วยในโครงการนี้ด้วย อาจารย์สุกานดา กล่าวว่า ตนได้ชวนนักศึกษาหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาไทย (ศศ.บ.ภาษาไทย) ที่สนใจเข้าร่วมเป็นจิตอาสามาร่วมกันคิดและปรับปรุงห้องสมุด ร.ร.บ้านน้ำกระจาย แม้หลายฝ่ายจะไม่มีความรู้ด้านบรรณารักษ์มาก่อน แต่ตนใช้การอบรมให้ความรู้เบื้องต้นและทดลองทำร่วมกัน และให้โอกาสนักเรียนในโรงเรียนได้ออกความคิดเห็นมีส่วนร่วมในการวางแผนด้วย เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้มากที่สุด แม้โครงการนี้จะไม่ได้ขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากทางมหาวิทยาลัย แต่ด้วยความเสียสละของนักศึกษาที่ตั้งใจช่วยอย่างเต็มที่ รวมถึงการช่วยเหลือจากทางคณะมนุษยศาสตร์ฯ มรภ.สงขลา และบุคคลภายนอกที่ทราบข่าวมาร่วมบริจาคสิ่งของด้วย ทำให้ภารกิจนี้สำเร็จลุล่วง ต่อไปก็เป็นการติดตามขยายผลดูแลให้ห้องสมุดอยู่ในสภาพดีคงเดิม และต่อยอดโดยการพัฒนาให้ที่นี่เป็นศูนย์เรียนรู้ และลานกิจกรรมของชุมชน มีการจัดแบ่งโซนให้ผู้ปกครองสามารถเข้ามาใช้บริการได้ด้วย "ที่เขาพูดกันว่า เด็กสมัยนี้ไม่รักการอ่านนั่นอาจไม่ใช่ความจริงทั้งหมด แต่คงเพราะหลายคนไม่มีโอกาสเข้าถึงหนังสือและสื่อที่เสริมสร้างพัฒนาการมากกว่าจึงทำให้ขาดแรงกระตุ้นจนกลายเป็นหลงลืมเรื่องความสำคัญของการอ่านไป" อาจารย์สาขาบรรณารักษ์ศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์ กล่าว ด้าน น.ส.ญาณิศา ทองปาน นักศึกษาชั้นปีที่ 3 หลักสูตร ศศ.บ.ภาษาไทย กล่าวว่า ห้องสมุดเป็นแหล่งสะสมปัญญาและต่อยอดความรู้ในแขนงต่างๆ ทั้งวิชาการและตามความสนใจของแต่ละคน นอกจากจะมีหนังสือแล้วในปัจจุบันยังมีเครื่องมือเทคโนโลยีดิจิตอล ซึ่งเป็นอีกสื่อสำคัญที่เข้ามามีส่วนช่วยในการสืบค้นข้อมูลร่วมด้วย แต่ยังมีห้องสมุดโรงเรียนอีกมากมายที่ยังคงขาดแคลน ตนและเพื่อนๆ จึงอยากช่วยกันทำให้น้องๆ มีโอกาสได้อ่านหนังสือดีๆ และมีทักษะการเรียนรู้เหมาะสมตามวัย เพื่อจะได้เติบโตเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาสังคมต่อไป นายวิศลย์ เรืองกิจชู นักศึกษาชั้นปีที่ 2 หลักสูตร ศศ.บ.ภาษาไทย กล่าวบ้างว่า สมาชิกในโครงการทุกคนได้รับมอบหมายงานในแต่ละฝ่ายอย่างชัดเจน ตนมีหน้าที่หลักอยู่ที่โซนของเล่นเสริมการเรียนรู้ และได้ประดิษฐ์เครื่องบินของเล่นจากกระดาษลัง บ้านของเล่นสำหรับเด็กชั้นประถมศึกษา รวมไปถึงส่วนอื่นๆ ที่พอช่วยได้ เช่น เล่านิทาน ชวนน้องเล่นเกม ซึ่งการดำเนินงานจนมีกิจกรรมเหล่านี้ต้องใช้ทักษะด้านการสื่อสารเพื่อให้เกิดความร่วมมือและเข้าใจ ทุกคนได้แสดงศักยภาพของตัวเองออกมา แม้ในการทำงานจะไม่ได้ราบรื่นเสมอไป บางครั้งมีปัญหาเข้ามาท้าทาย จำเป็นต้องอาศัยการมีส่วนร่วมช่วยกันระดมความคิด นี่จึงถือเป็นการนำเอาศาสตร์ความรู้ด้านทักษะการสื่อสาร คิดวิเคราะห์ในสาขาภาษาไทยที่เรียนมาใช้จนเกิดผลจริงๆ และด้วยกำลังใจที่ดีไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นระหว่างทาง พวกเราต่างมีเป้าหมายที่ชัดเจนคือการได้เห็นเด็กๆ มีความสุขอยู่ในโลกของห้องสมุด ปิดท้ายด้วย น.ส.ธนัญญา แซ่ว่อง นักศึกษาชั้นปีที่ 1 หลักสูตร ศศ.บ.ภาษาไทย กล่าวว่า เหตุผลที่เข้าร่วมโครงการห้องสมุดมีชีวิต เพราะเป็นโครงการที่น่าสนใจ และเป็นครั้งแรกที่ได้ออกไปทำกิจกรรมนอกมหาวิทยาลัย ทุกคนได้ใช้ความสามารถอย่างเต็มที่ ซึ่งตนมีหน้าที่หลักๆ ในการจัดหมวดหมู่และลงทะเบียนหนังสือก่อนนำขึ้นชั้น ด้วยความตั้งใจอยากปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงห้องสมุดให้ดูน่าใช้บริการมากขึ้น ส่วนผลตอบแทนที่ได้กลับคืนมาคือความประทับใจจากรอยยิ้มและความสุขของเด็กๆ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ