หนุนเสริมพลังชุมชนต้นแบบ ร่วมบ่มเพาะทักษะสมอง EF เด็กปฐมวัย ตอบโจทย์ “สร้างบ้านแปงเมืองด้วยการสร้างเด็ก”

ข่าวทั่วไป Monday March 11, 2019 15:51 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 มี.ค.--อวตารเวิร์ล มีเดีย สถาบันอาร์แอลจี (รักลูก เลิร์นนิ่ง กรุ๊ป) ร่วมกับคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตอำเภอพญาเม็งราย จ.เชียงราย โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส. นำความรู้เรื่องการพัฒนาทักษะสมองส่วนหน้า หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า EF ไปพัฒนาเด็กปฐมวัยทุกคนในอำเภอพญาเม็งราย และพัฒนาอำเภอพญาเม็งรายเป็นพื้นที่ส่งเสริม EF ต้นแบบ เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีความพร้อม ชุมชนเข้มแข็ง มีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในอำเภอและวางเป้าหมายชัดที่จะมุ่งพัฒนาบ้านเมือง ผ่านการพัฒนาเด็กเยาวชน หลังการส่งเสริม EF อย่างจริงจังทั้งอำเภอ ผ่านการทำความเข้าใจแก่ผู้นำชุมชน บุคลากร เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และครูปฐมวัยทุกคน พบว่า เด็กปฐมวัยอำเภอพญาเม็งรายมีความสุขมากขึ้น ชอบมาโรงเรียน พัฒนาการทั้ง 4 ด้านและพฤติกรรมต่างๆ ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปนัดดา ธนเศรษฐกร ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาทักษะสมองและพัฒนาการเด็กปฐมวัย จากสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล หนึ่งในคณะนักวิชาการและนักวิจัยของโครงการฯ เน้นว่า การพัฒนาสมองส่วนหน้าหรือ EF (Executive Functions) ในเด็กปฐมวัยมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะทักษะสมอง EF คือความสามารถของสมองมนุษย์ที่ใช้ในการกำกับควบคุมความคิด อารมณ์ และการกระทำเพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย มีงานวิจัยทั้งในและต่างประเทศชี้ว่าเด็กที่ EF ดี จะเป็นคนมีวินัย รู้จักคิด รับผิดชอบ มุ่งมั่น อยู่กับคนอื่นได้ดี และมีความสุข ซึ่งทักษะเหล่านี้ฝึกฝนได้ดีที่สุดในช่วงปฐมวัยหรืออายุ 3-6 ปี แล้วจะ "ฝังชิป" กลายเป็นอุปนิสัยของคนคนนั้นไปตลอดชีวิต สถาบันอาร์แอลจีและภาคีเครือข่าย Thailand EF Partnership ได้จัดการความรู้เรื่อง EF ให้เข้าใจง่าย พร้อมต่อการนำไปใช้ในครอบครัว และ ห้องเรียน แล้วนำความรู้นี้ไปอบรมและเผยแพร่แก่พยาบาลพัฒนาการเด็กในโรงพยาบาลประจำอำเภอ เจ้าหน้าที่และอสม. โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ครูผู้ดูแลเด็ก ผู้บริหารโรงเรียน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในอำเภอพญาเม็งราย โดยแบ่งเป็น 2 ช่วงวัย ได้แก่ (1) วัยแรกเกิดถึง 3 ปี ใช้เครื่องมือ "7 วิธีพัฒนาลูกสมวัย สมองดี มี EF" โดยให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุข นำไปแนะนำความรู้ EF แก่พ่อแม่ผู้ปกครองของเด็กในวันที่มารับวัคซีน หรือตรวจสุขภาพเด็กที่โรงพยาบาล ซึ่งจากการทำวิจัยประสิทธิภาพของเครื่องมือพบว่า หลังใช้เครื่องมือฯ เจ้าหน้าที่ให้เสียงสะท้อนว่า ตนเองก็มีการเปลี่ยนแปลง คือ วางระบบการบริการได้ดีขึ้น ละเอียดรอบคอบ พูดคุยกับผู้ปกครองได้อย่างมั่นใจและเข้าใจมากขึ้น ตรวจและพูดคุยกับเด็กและผู้ปกครองอย่างมีความหมายมากขึ้น ความหงุดหงิดลดลงเพราะเข้าใจสาเหตุของพฤติกรรมต่างๆ ที่เด็กแสดงออกมา ส่งผลให้ทั้งผู้ปกครองและเด็กผูกพันกับเจ้าหน้าที่ การให้คำแนะนำต่างๆ จึงมีประสิทธิภาพ และผู้ปกครองยินดีที่จะปฏิบัติตามคำแนะนำมากขึ้น (2) ช่วงอายุ 3 – 6 ปี มีเครื่องมือ EF Guideline ที่ช่วยครูจัดระบบคิด วิเคราะห์ และออกแบบแผนจัดประสบการณ์ในชั้นเรียนของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและชั้นเรียนอนุบาลให้สอดคล้องกับเป้าหมายมากขึ้น และสามารถสังเกตพฤติกรรม EF ของเด็กว่ามีจุดแข็ง จุดอ่อนในด้านใด เพื่อจะส่งเสริมหรือช่วยเหลือได้เหมาะสม หลังการใช้เครื่องมือนี้อย่างต่อเนื่องเพียง 2 ภาคการศึกษา พบว่า ค่าประเมินทักษะสมอง EF ของเด็กในพื้นที่อำเภอพญาเม็งรายสูงขึ้น เด็กๆ มีพัฒนาการและพฤติกรรมต่างๆ โดยเฉพาะมีทักษะการเรียนรู้ที่เหมาะสมตามวัยดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ปัจจัยความสำเร็จอีกส่วนหนึ่ง มาจากการสร้างความเข้าใจกับผู้บริหารโรงเรียนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการส่งเสริมบทบาทของครูปฐมวัยให้ทำหน้าที่ได้อย่างเต็มที่ เมื่อครูไม่ต้องไปทำหน้าที่อื่น ครูจึงมีเวลาคิด วิเคราะห์และออกแบบกิจกรรมที่ไม่ใช่แค่การสอน แต่เป็นการจัดสภาพแวดล้อมและประสบการณ์ให้เด็กๆ ได้ลงมือปฏิบัติจริง เป็นการเรียนรู้อย่างมีความหมาย ที่เด็กปฐมวัยควรได้รับอย่างต่อเนื่อง จึงจะเกิดเป็นวงจรประสาทที่พัฒนาเป็นทักษะชีวิต ฝังติดตัว เป็นอุปนิสัยที่จะนำไปใช้เพื่ออยู่รอดและพัฒนาตนเองให้เป็นพลเมืองโลกที่มีคุณภาพได้ต่อไป แพทย์หญิงอัมพวัน ศรีครุฑรานันท์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพญาเม็งราย กล่าวว่า การพัฒนาทักษะสมอง EF เปรียบเสมือนการให้วัคซีนกับเด็กในทางการแพทย์ คือเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันชีวิตให้กับเด็ก เมื่อเติบโตไปอยู่กับสังคมที่เต็มไปด้วยสิ่งเร้า ถ้ามีวัคซีนหรือภูมิคุ้มกันชีวิต เขาจะสามารถเข้าใจ รู้เท่าทัน จัดการกับชีวิตตัวเองและอยู่ร่วมกับสังคมนั้นๆได้อย่างเป็นฝ่ายกระทำ ไม่ตกเป็นเหยื่อ ดังนั้นผู้ใหญ่จะต้องร่วมกันสร้างภูมิคุ้มกันชีวิตให้กับเด็กๆ อย่างจริงจัง นางประภาพร เชื้อเมืองพาน นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ (พยาบาลวิชาชีพ) กล่าวว่า EF เป็นกระบวนการการทำงานของสมองส่วนหน้าที่ทำให้เด็กเติบโตไปเป็นคนที่ "คิดเป็น ทำเป็น เรียนรู้เป็น แก้ปัญหาเป็น อยู่กับคนอื่นเป็น มีความสุขเป็น" คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตอำเภอพญาเม็งราย จ.เชียงรายได้ร่วมมือกับภาคีทุกส่วนในท้องถิ่น บูรณาการความรู้และแนวทางการพัฒนา EF เข้าไปปฏิบัติใช้ ในงานดูแลเด็กปฐมวัยของอำเภอ รวมทั้งให้ความรู้พ่อแม่ ผู้ปกครองและผู้ดูแลเด็กให้เข้าใจถึงการทำงานของสมองเด็ก จากเดิมปัญหายาเสพติดในเด็กและเยาวชนและปัญหาพฤติกรรมต่างๆ ที่ผ่านมา เกิดจากการเลี้ยงดูที่ไม่สอดคล้องกับพัฒนาการเด็กของผู้ใหญ่ทุกวันนี้ ที่ขาดการศึกษาหาความรู้ ยังยึดติดกับค่านิยมแบบเดิม ไม่ตอบโจทย์การพัฒนาพลเมืองยุค 4.0 เราจึงได้ทำการฝังชิป EF ลงไปกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับเด็กทั่วทั้งอำเภอ ให้ฝังรากลงไปเลยว่า EF เป็นส่วนหนึ่งที่ทุกคนต้องร่วมมือกันในการพัฒนาเด็กในอำเภอพญาเม็งรายทุกคน เมื่อทุกฝ่ายมีความเข้าใจร่วมกัน ผลสำเร็จที่น่าชื่นใจก็เกิดขึ้นกับเด็ก และครอบครัว นางสุภาวดี หาญเมธี ประธานสถาบันอาร์แอลจี (รักลูก เลิร์นนิ่ง กรุ๊ป) กล่าวปิดท้ายว่า ความรู้ความเข้าใจเรื่องทักษะสมองเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ใหญ่ทุกคนควรเข้าใจ และนำไปพัฒนาเด็กและเยาวชนอย่างง่ายๆ ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิต เพื่อว่าจะสามารถสร้างเด็กไทยคุณภาพได้ด้วยมือของเราเอง แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งก็คือ การที่ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมกับครอบครัว ดังนั้น ความมุ่งมั่นของทุกฝ่ายในอำเภอพญาเม็งราย ที่มีเป้าหมายมุ่งพัฒนาบ้านเมืองและคุณภาพชีวิตของประชาชน ด้วยการปักธงที่การพัฒนาเด็กปฐมวัย จึงเป็นตัวอย่างที่ดียิ่งของการเรียนรู้และการมีส่วนร่วมที่เข้มแข็ง และนำไปสู่ผลสัมฤทธิ์ที่ตัวเด็กอย่างแท้จริง ต้องขอบคุณ สสส. ที่มุ่งสร้างสุขภาวะของประเทศด้วยการร่วมสนับสนุนการสร้างสุขภาวะโดยเริ่มที่ตัวเด็ก ซึ่งจะเติบโตเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบสังคมในอนาคต บทเรียนความสำเร็จคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตอำเภอ (พชอ.) พญาเม็งรายในครั้งนี้ ควรที่จะได้นำไปขยายผลทั่วประเทศแก่อำเภออื่นๆต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ