ฟิทช์คงอันดับเครดิต บมจ. ไออาร์พีซี ที่ 'A- (tha)’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday March 13, 2019 12:43 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--13 มี.ค.--ฟิทช์ เรทติ้งส์ บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Rating) ระยะยาวของ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ 'A-(tha)' อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ 'F2(tha)' และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวสำหรับหุ้นกู้ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิของบริษัทฯ ที่ระดับ 'A-(tha)' แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ การคงอันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะการดำเนินงานที่ปรับตัวดีขึ้นหลังจากโครงการพัฒนาต่างๆแล้วเสร็จ ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินของ IRPC จะเพิ่มขึ้นสูงกว่าเกณฑ์ที่ฟิทช์คิดว่าเป็นปัจจัยลบต่ออันดับเครดิตชั่วคราวในปี 2565 เนื่องจากการลงทุนที่สูง ก่อนที่จะลดลงมาอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับอันดับเครดิตของ บริษัทฯ ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต การลงทุนเพิ่มขึ้น; อัตราส่วนหนี้สินจะเพิ่มขึ้น: ฟิทช์คาดว่าค่าใช้จ่ายในการลงทุนของ IRPC จะเพิ่มขึ้นเป็น 6.8 หมื่นล้านบาทในปี 2562-2565 จากที่เคยคาดการณ์ก่อนหน้านี้ที่ 4.6 หมื่นล้านบาท เนื่องจากบริษัท มีแผนที่จะลงทุนในโครงการปรับปรุงการผลิตเพื่อที่จะรองรับมาตรฐานน้ำมัน EURO 5 อีกทั้งฟิทช์คาดว่า บริษัท จะลงทุนในโครงการพาราไซลีน (PX) หลังจากการศึกษาการลงทุนที่เสร็จสิ้น ดังนั้นฟิทช์คาดว่า อัตราส่วนหนี้สินของบริษัทฯ ที่คำนวณจากอัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดที่ได้จากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของสินทรัพย์และหนี้สินจากการดำเนินงาน (FFO-adjusted net leverage) จะเพิ่มขึ้นไปที่ 4.5 เท่า – 5.5 เท่าในปี 2564-2565 (2561: 3.0 เท่า) ก่อนที่จะลดลงตั้งแต่ปี 2566 ลงมาต่ำกว่า 4.5 เท่า หลังจากการลงทุนลดลง การขยายเทอมการชำระเงินช่วยเสริมความคล่องตัวทางการเงิน: ฟิทช์มองว่าการขยายเทอมการค้าในการซื้อน้ำมันดิบกับ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (อันดับเครดิตที่ AAA(tha)/แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทฯนั้น จะช่วยเพิ่มความคล่องตัวทางการเงินและสภาพคล่องให้กับ IRPC ในการบริหารอัตราส่วนหนี้สิน ซึ่งเทอมการค้าฯ 60 วัน จากปตท. ได้มีการขยายระยะเวลาออกไปอีกหนึ่งปีจนถึงสิ้นปี 2562 ก่อนจะกลับสู่เทอมปกติที่ 30 วัน โดยทั้งสองบริษัทจะทำการทบทวนข้อตกลงต่างๆในเทอมการค้านี้เป็นรายปี และสามารถต่ออายุได้โดยตกลงร่วมกัน สถานะทางธุรกิจที่ดีขึ้น: ฟิทช์คาดว่ารายได้และส่วนต่างกำไรของ IRPC จะเพิ่มขึ้นจากการผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น และการกลั่นน้ำมันดิบที่สูงขึ้น การเริ่มดำเนินการของโครงการ polypropylene expansion (PPE) และ polypropylene inline compound (PPC) ได้ช่วยเพิ่มอัตราส่วนกำไร ของบริษัทฯ เนื่องจากผลิตภัณฑ์เหล่านี้มีส่วนต่างกำไรที่สูงกว่าโพรพิลีนเกรดสินค้าโภคภัณฑ์ นอกจากนี้ กำลังการกลั่นน้ำมันดิบของ Atmospheric Distillation Unit (ADU 2) ได้เพิ่มขึ้นหลังจากได้ทำการ major turnaround ในปี 2560 ฟิทช์คาดว่าโครงการอัพเกรด EURO5 และ PX จะช่วยทำให้กำไรดีขึ้น หลังจากเริ่มดำเนินการในปี 2565-2566 โรงกลั่นน้ำมันแบบครบวงจร: IRPC มีความได้เปรียบในการแข่งขันในฐานะบริษัทที่ดำเนินธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันและธุรกิจผลิตปิโตรเคมีแบบครบวงจรที่มีความชำนาญและมีประวัติอันยาวนานในประเทศไทย นอกจากนี้การลงทุนในช่วงที่ผ่านมาและแผนการลงทุนในอนาคตของ IRPC ยังเป็นการปูทางไปสู่การผลิตปิโตรเคมีที่มากขึ้น ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีแบบครบวงจรจากต้นน้ำไปยังปลายน้ำมีข้อได้เปรียบด้านค่าใช้จ่าย ความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ และความผันผวนของรายได้ที่น้อยกว่าเมื่อเทียบกับผู้ผลิตที่ไม่ได้ผลิตแบบครบวงจร ความผันผวนของธุรกิจ: อันดับเครดิตของ IRPC ยังพิจารณารวมถึงปัจจัยเสี่ยงจากการที่บริษัทฯ ต้องเผชิญกับความผันผวนที่สูงของวัฏจักรของธุรกิจ และความเสี่ยงจากการมีฐานการผลิตเพียงแห่งเดียว ความผันผวนของราคาน้ำมัน ค่าการกลั่น ส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีกับต้นทุน และความต้องการเงินทุนหมุนเวียนที่สูง อาจส่งผลกระทบอย่างมากต่อกำไร และกระแสเงินสดของบริษัทฯ ความเชื่อมโยงกับปตท: อันดับเครดิตภายในระยะยาวของ IRPC ได้รับการปรับเพิ่มขึ้นหนึ่งอันดับเครดิต จากความเชื่อมโยงในระดับปานกลางกับบริษัท ปตท. ตามหลักเกณฑ์การพิจารณาอันดับเครดิตในเรื่อง Parent and Subsidiary Rating Linkage IRPC อยู่ภายใต้กรอบการบริหารการเงินส่วนกลางของปตท. ในขณะที่กลุ่มผู้บริหารหลักจากปตท. จะถูกหมุนเวียนในกลุ่ม บริษัทย่อยของปตท. รวมถึง IRPC ด้วย นอกจากนี้ปตท. ได้ให้การสนับสนุนทางด้านการค้าให้แก่ IRPC ในด้านต่างๆ เช่นการให้สินเชื่อสำหรับน้ำมันดิบ และ การต่อสัญญาการกู้ยืมเงินระหว่างกันกับ IRPC การกำหนดอันดับเครดิตโดยสรุป อันดับเครดิตของ IRPC สะท้อนถึงการดำเนินธุรกิจที่ต่อเนื่องครบวงจรตั้งแต่การกลั่นน้ำมันไปจนถึงการผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นปลาย อย่างไรก็ตามสถานะทางธุรกิจของ IRPC อยู่ในระดับปานกลางเมื่อเทียบกับบริษัทในธุรกิจการกลั่นน้ำมันและปิโตรเคมีในประเทศไทยที่ฟิทช์จัดอันดับเครดิต ในขณะที่ IRPC มีอัตราส่วนหนี้สินที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับคู่แข่งดังกล่าว IRPC มีขนาดธุรกิจที่เล็กกว่าบริษัท พีทีทีโกลบอลเคมิคอล จำกัด (มหาชน) ((AA) (tha) / แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ/F1+(tha),สถานะทางเครดิตโดยลำพัง AA- (tha)) และ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) ((AA- (tha) / แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ/ F1+(tha), สถานะทางเครดิตโดยลำพัง A+(tha)) และมีอัตราส่วนหนี้สินที่สูงกว่ามาก เมื่อเปรียบเทียบกับบริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (ตั๋วแลกเงินอันดับเครดิตที่ F1+(tha)) IRPC มีขนาดธุรกิจที่ใหญ่กว่า อัตรากำไรที่ดีกว่า แต่มีอัตราส่วนหนี้สินที่สูงกว่า อย่างไรก็ตาม ESSO มีความเชื่อมโยงกับบริษัทแม่ที่มากกว่ามาก สมมติฐานที่สำคัญของฟิทช์ที่ใช้ในการประมาณการ: - ราคาน้ำมันดิบ (เบรนท์) ที่ราคา 65.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในปี 2562, 62.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในปี 2563, 60.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในปี 2564 และ 57.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในปี 2565 เป็นต้นไป โดยมีการปรับปรุงด้วยส่วนต่างราคาน้ำมันตามการซื้อน้ำมันดิบของ IRPC - Gross integrated margins ดีขึ้นในปี 2562 และลดลงเล็กน้อยจากปี 2563 เป็นต้นไป - จำนวนเงินลงทุนมูลค่า 7.1 หมื่นล้านบาทในช่วง 2562-2566 - สินเชื่อระยะเวลา 60 วันจากปตท. ขยายไปในปี 2562 และจะลดลงเหลือ 30 วันในปี 2563 - อัตราการจ่ายเงินปันผล 50% ปัจจัยที่อาจมีผลกับอันดับเครดิตในอนาคต ปัจจัยบวก: - ความสามารถในการรักษาอัตราส่วน FFO-adjusted net leverage ต่ำกว่า 3 เท่าอย่างต่อเนื่อง - ความสัมพันธ์ในด้านการดำเนินงานและความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ของบริษัทฯ ต่อ ปตท. ที่เพิ่มขึ้น ปัจจัยลบ: - กระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่ต่ำกว่าที่คาด การเพิ่มขึ้นของเงินลงทุนที่ใช้หนี้เป็นแหล่งเงินทุน หรือการจ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้นในระดับสูง อันเป็นผลให้อัตราส่วน FFO-adjusted net leverage สูงกว่า 4.5 เท่าอย่างต่อเนื่อง - ความสัมพันธ์ในด้านการดำเนินงานและความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ของบริษัทฯ ต่อ ปตท. ที่ลดลง สภาพคล่อง สภาพคล่องที่เพียงพอ: IRPC มีหนี้สินคงค้าง ณ สิ้นปี 2561 จำนวน 5.7 หมื่นล้านบาท โดยจำนวน 1.4 หมื่นล้านบาทจะครบกำหนดชำระคืนภายใน 12 เดือนซึ่งประกอบด้วย หุ้นกู้มูลค่า 3.4 พันล้านบาท เงินกู้ยืมระยะยาวที่ถึงกำหนดชำระคืนภายในหนึ่งปีจำนวน 3.7 พันล้านบาท และ เงินกู้ยืมระยะสั้นจากสถาบันการเงินจำนวน 6.7 พันล้านบาท สภาพคล่องของ IRPC ได้รับการสนับสนุนจากเงินสดที่มีอยู่จำนวน 2.3 พันล้านบาท วงเงินสินเชื่อหมุนเวียนจากสถาบันการเงินที่ยังไม่ได้เบิกใช้มูลค่า 5.2 พันล้านบาท ณ สิ้นปี 2561 วงเงินกู้ระยะสั้นที่สามารถเบิกกู้ได้จาก ปตท. จำนวน 10 พันล้านบาทรวมถึงเทอมการค้าสำหรับ การชำระค่าวัตถุดิบที่สามารถขยายได้จาก ปตท. หมายเหตุ: การจัดอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) เป็นการวัดระดับความน่าเชื่อถือในเชิงเปรียบเทียบกันระหว่างองค์กรในประเทศนั้นๆ โดยจะใช้ในประเทศที่อันดับเครดิตแบบสากลของรัฐบาลในประเทศนั้นอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำและเมื่อมีความต้องการใช้อันดับเครดิตภายในประเทศ อันดับเครดิตขององค์กรที่ดีที่สุดของประเทศได้จัดไว้ที่ระดับ "AAA" และการจัดอันดับเครดิตอื่นในประเทศ จะเป็นการเปรียบเทียบความเสี่ยงกับองค์กรที่ดีที่สุดนี้เท่านั้น อันดับเครดิตภายในประเทศได้ถูกจัดทำขึ้นเพื่อใช้ในตลาดในประเทศเป็นหลักและจะมีสัญลักษณ์ที่กำหนดไว้ต่อท้ายจากอันดับเครดิตสำหรับประเทศนั้นๆ เช่น "AAA(tha)" ในกรณีของประเทศไทย ดังนั้นอันดับเครดิตภายในประเทศจึงไม่สามารถใช้เปรียบเทียบระหว่างประเทศได้ ข้อมูลเพิ่มเติมหาได้ที่ www.fitchratings.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ