เปิด 5 เทรนด์เจียระไนจิวเวลรี่ไทย ให้จับใจทุกตลาดส่งออก “สร้างสตอรี่ สู่ดีเอ็นเอ พร้อมมุ่งสู่วัฒนธรรมและความเชื่อ”

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 13, 2019 15:56 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--13 มี.ค.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์ สวย หรู ดูแพง และเป็นสินค้าส่งออกที่ยังคงแรงได้อย่างต่อเนื่องสำหรับ "อัญมณีและเครื่องประดับ" สัญชาติไทย ซึ่งต้องยอมรับว่าทุกวันนี้ยังคงเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีทั้งชื่อเสียง เอกลักษณ์ และคุณภาพที่ยืนหนึ่งบนสังเวียนการค้าระดับโลก และถ้าหากใครที่ติดตามแวดวงอัญมณี ก็คงจะทราบดีว่าประเทศไทยถือเป็นศูนย์กลางพลอยสีที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยเฉพาะทับทิม ไพลิน และมรกต รวมถึงยังเป็นแหล่งจำหน่ายอัญมณีเทียมที่มากไปด้วยความประณีต การออกแบบที่สวยล้ำและเป็น ผู้นำเทรนด์สุดปังแห่งยุค นอกจากนี้ จากการสำรวจธุรกิจดังกล่าวในช่วงหลายปีที่ผ่านมาก็ยังพบอีกว่า ปัจจัยที่ทำให้สินค้าจำพวกเพชรพลอยและเครื่องประดับยังคงเติบโตได้อย่างต่อเนื่องเป็นเพราะผู้ส่งออกไทยมีความเข้าใจตลาดในระดับที่สูง และผู้ค้าในตลาดโลกก็รู้จักไทยมากกว่าคู่แข่งคนอื่นๆ อีกด้วย เมื่อเร็วๆนี้ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ได้มีการจัดงาน "Bangkok Gems & Jewelry Fair" ซึ่งในครั้งนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 63 โดยแต่ละปีจะจัดขึ้นปีละ 2 ครั้ง เพื่อเป็นการส่งเสริมและผลักดันให้ผู้ประกอบการได้โชว์ผลงานผ่านเวทีการค้าสากลระดับโลก นอกจากนี้ สถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (NEA) ยังได้มีการจัดสัมมนาโครงการเสริมสร้างความรู้ทางการค้าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยสู่สากล ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับของไทย ได้เสริมสร้างความรู้และพัฒนาสินค้าให้สามารถตอบโจทย์และเข้าถึงความต้องการของกลุ่มลูกค้าได้ตรงจุดมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการเผยเทคนิคที่จะพาธุรกิจอัญมณีให้ก้าวไกลในต่างแดนได้สำเร็จ ซึ่งประกอบด้วย 5 ปัจจัย ได้แก่ - วิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน ของสินค้า ถือว่าเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญกับการวิเคาะห์จุดแข็ง จุดอ่อนของสินค้า เพื่อนำจุดอ่อนมาพัฒนา และชูจุดแข็งให้เป็นที่ยอมรับ และเป็นที่รู้จัก ผ่านการสร้างอัตลักษณ์ของแบรนด์ให้ชัดเจนก่อน จึงจะสามารถเพิ่มมูลค่าสินค้าในแต่ละแบบได้สำเร็จ - สร้าง DNA ของสินค้าและตั้งเป้ากลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจน งานดีไซน์และการออกแบบอัญมณี เปรียบเสมือนงานศิลปะประเภทหนึ่ง แบบที่สวยแสดงความคิดและความเป็นตัวตน ย่อมมีคุณค่าและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า จนสามารถมองข้ามต้นทุนของวัตถุดิบไปได้แล้วนั้น ผู้ประกอบการจำเป็นจะต้องวิเคราะห์ธุรกิจของตนให้ได้ ตั้งกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจนว่า เหมาะกับใคร ประเทศใด กลุ่มอายุเท่าใด เพื่อจะผลิตสินค้าให้ตอบโจทย์กับกลุ่มคนเหล่านั้น - ศึกษาพฤติกรรม วัฒนธรรม และความเชื่อของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายในแต่ละประเทศที่แตกต่างกัน ความแตกต่างของพฤติกรรม วัฒนธรรม และความเชื่อของกลุ่มลูกค้าในแต่ละประเทศย่อมมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง อาทิ ประเทศจีน ในงานแต่งงาน ฝ่ายชายมักนิยมให้แหวนและสร้อยคอ เป็นสัญลักษณ์แห่งความรัก โดยมักจะผลิตจากเพชรหรือแพลทินัมในเด็กทารกมักนิยมให้เครื่องเงิน โดยเชื่อว่าจะทำให้ทารกมีสุขภาพแข็งแรง กลุ่มผู้สูงอายุมักจะนิยมทองคำ แบบเรียบง่ายหรือแบบฝังทับทิมหรือมุก เพื่อแสดงถึงความร่ำรวย ในฝั่งของคนไทยเองนั้น ก็มีความเชื่อที่แตกต่างกัน เช่น ความเชื่อเรื่องนพรัตน์หรืออัญมณีมงคล 9 ชนิด และความเชื่อเรื่องอัญมณีที่ถูกโฉลกกับราศี เป็นต้น ถือว่าการจะผลิตสินค้าอัญมณีควบคู่กับความเชื่อ นับว่าเป็นอีกทางเลือกที่จะสามารถเพิ่มมูลค่าแก่สินค้าได้ ในปี 2562 รวมถึงสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่ผู้บริโภค จะทำให้เพิ่มยอดขายสินค้าได้ - สร้างสตอรี่ (STORY) ที่น่าสนใจให้กับสินค้าท้องถิ่น การดึงเรื่องราวของอัญมณีในแต่ละท้องถิ่นออกมาผ่านการเล่าเรื่องให้มีความน่าสนใจ เชื่อมโยงทรัพยากรธรรมชาติมาออกแบบร่วมกับอัญมณี อาทิ ปะการังสีสดใส นำมาออกแบบร่วมกับเพชรออกมาเป็นแหวน การนำมุกมาออกแบบร่วมกับเพชรออกมาเป็นต่างหู ทำให้เกิดงานออกแบบที่เพิ่มมูลค่าให้สูงขึ้น อาทิ ตลาดอัญมณีในประเทศเกาหลีใต้ ที่แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือตลาด Fine Jewelry และ Wedding Jewelryซึ่งในปัจจุบันการบริการจัดทำอัญมณีตามความต้องการของลูกค้า หรือ Made to order ก็กำลังเป็นที่นิยมซึ่งคาดว่าในปี 2020 ความนิยมจะเพิ่มสูงขึ้นอีก จากการนำเอกลักษณ์ของแต่ละเชื้อชาติในประเทศเกาหลีใต้ หรือ Ethnic Jewelry มาใช้ออกแบบให้มีความร่วมสมัย และสื่อถึงวัฒนธรรม เอกลักษณ์ ของแต่ละชนชาติ มาออกแบบเครื่องประดับในปัจจุบัน โดยใช้หลักการ Convergence Jewelry ผสมผสานวัสดุอื่นกับการออกแบบอัญมณี - ศึกษาเทรนด์ของสินค้า ช่องทางการทำการตลาดและประชาสัมพันธ์ให้ตรงจุด ควรศึกษาเทรนด์และความต้องการของสินค้าแต่ละประเทศ เพราะถือเป็นเรื่องสำคัญในการส่งออกสินค้า รวมถึงการประหยัดต้นทุนในการทำการตลาด ด้วยกลยุทธ์ผ่านการทำการตลาดออนไลน์ในแต่ละประเทศ เช่น ประชากรจีนใช้ Weiboแทน Facebook ในการนำเสนอหรือสร้างโปรไฟล์ ใช้ Alipay หรือ We Chat pay เพื่อการใช้จ่ายในแบบสังคมไร้เงินสด ใช้ Baidu ในการสืบค้นข้อมูลแทน Google ใช้WeChat แทน Line ในการสื่อสาร เป็นต้น อย่างไรก็ดี ทิศทางธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับในปี 2562 ตลาดในประเทศยังคงเติบโตได้ดี รวมถึงการส่งออกในตลาดต่างประเทศ ก็ยังคงมีโอกาสเติบโตและขยายไปได้อีก สิ่งที่สำคัญสำหรับผู้ประกอบการคือจะต้องมุ่งเน้นและให้ความสำคัญในเรื่องของคุณภาพ ทักษะฝีมือ และการสร้างภาพลักษณ์ของแบรนด์สินค้าที่จะต้องมาเป็นอันดับหนึ่ง รวมถึงการสรรหาช่องทางตลาดใหม่ๆ ที่จะต้องเจาะกลุ่มลูกค้าเฉพาะ และต้องเข้าถึงช่องทางดิจิทัลเพื่อเชื่อมต่อผู้บริโภคในทุกมุมโลก สำหรับผู้ประกอบการและผู้ที่สนใจรายละเอียดสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (NEA) กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศโทรศัพท์ 02-507-7999 หรือ www.nea.ditp.go.th ,facebook.com/nea.ditp

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ