สคร. 12 เผยเกษตรกรใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชสูงขึ้น แนะ ลด ละ เลิกใช้สารเคมีฯ

ข่าวทั่วไป Thursday March 14, 2019 15:59 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 มี.ค.--สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา สารเคมีกำจัดศัตรูพืชถูกนำมาใช้ทางการเกษตรอย่างแพร่หลาย สคร. 12 สงขลา ชี้แนวโน้มของปริมาณการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชในเกษตรกรเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเกษตรเอง ซึ่งมีความเป็นอันตรายต่อร่างกาย ทั้งแบบพิษเฉียบพลันและพิษเรื้องรัง และยังส่งผลกระทบต่อกลุ่มผู้บริโภค สถานการณ์การเจ็บป่วยจากพิษสารเคมีกำจัดศัตรูพืชของประเทศไทย ปี 2544-2560 รายงานผู้ป่วยได้รับพิษจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืช จำนวน 34,221 ราย โดยมีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 49 ราย เฉลี่ยป่วยปีละ 2,013 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นเพศชาย อายุ 45-54 ปี ประกอบอาชีพเกษตรกรรม โดยอัตราป่วยด้วยโรคพิษสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในปี 2561 พบมากสุดในจังหวัดร้อยเอ็ด รองลงมาคือจังหวัดอุตรดิตถ์ และจังหวัดลำปาง พบผู้ป่วยสูงสุดในช่วงเดือนมิถุนายน – สิงหาคม ซึ่งเป็นช่วงฤดูฝน เกษตรกรมักทำการเพาะปลูกและมีการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชปริมาณมาก ส่วนอัตราป่วยด้วยโรคพิษสารเคมีกำจัดศัตรูพืชของเขต 12 ในปี 2561 พบอัตราป่วยสูงสุดอยู่ที่จังหวัดสงขลา รองลงมาคือจังหวัดตรัง และจังหวัดสตูล ตามลำดับ ดร. นายแพทย์ สุวิช ธรรมปาโล ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา กล่าวว่า สารเคมีกำจัดศัตรูพืชสามารถเข้าสู่ร่างกายได้ 3 ทาง คือ ทางการหายใจ ทางปาก และทางผิวหนัง ฉะนั้นจึงไม่ควรฉีดพ่นในขณะลมแรง หรือฝนตก และควรยืนอยู่เหนือลมเสมอ สวมใส่อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล เช่น หน้ากากป้องกันสารเคมี เป็นต้น ห้ามกินอาหาร น้ำ หรือสูบบุหรี่ในขณะผสมสารเคมี ตรวจเช็คอุปกรณ์การฉีดพ่นให้อยู่ในสภาพที่ดี ไม่ชำรุดก่อนนำไปใช้ในกรณีที่หัวฉีดเกิดการอุดตัน ห้ามใช้ปากเป่าหัวฉีดพ่นแต่ให้ถอดหัวฉีดออกมาทำความสะอาดโดยใช้การแช่ในน้ำหรือใช้ไม้เขี่ยแล้วล้างน้ำ และควรสวมใส่ถุงมือ และเสื้อผ้าให้มิดชิด หากสารเคมีหกเปรอะเปื้อนร่างกายให้ใช้น้ำสะอาดชำระล้างนานอย่างน้อย 15 นาที รีบอาบน้ำฟอกสบู่ และเปลี่ยนเสื้อผ้า นอกจากนี้ สารเคมีกำจัดศัตรูพืช แบ่งออกได้หลายประเภท คือ 1. สารกำจัดแมลง หากได้รับในปริมาณความเข้มข้นสูงทันที ทำให้เกิดพิษเฉียบพลัน มีอาการเวียนศีรษะ ปวดศีรษะ รูม่านตาหดเล็ก น้ำมูก น้ำตา น้ำลายและเหงื่อออกมาก อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย หัวใจอาจเต้นช้าหรือเร็ว ความดันเลือดอาจจะต่ำหรือสูง กล้ามเนื้อเป็นตะคริวและอ่อนแรง รวมถึงอาจมีอาการหายใจแผ่ว บางรายอาจชัก ซึม หรือหมดสติ บางรายเกิดอัมพาตของเส้นประสาทสมอง กรณีสัมผัสทางผิวหนัง พบอาการผื่นคันแสบร้อน ชา บริเวณที่สัมผัส 2. สารกำจัดวัชพืช อาการพิษเฉียบพลัน มักทำให้เกิดแผลในปาก เจ็บคอ กลืนลำบาก อาเจียน ปวดท้อง แสบร้อนในอก ระยะต่อมาเกิดปัสสาวะออกน้อย ไตวาย ตับอักเสบ หายใจหอบเหนื่อย และมีอัตราการเสียชีวิตสูงจากระบบอวัยวะหลายระบบไม่ทำงาน หากสัมผัสทางผิวหนัง ทำให้เกิดผิวหนังไหม้ แผลพุพอง ปวดแสบปวดร้อน และเล็บเปลี่ยนสีขาวหรือเหลือง 3. สารกำจัดเชื้อรา หากได้รับปริมาณมากๆหรือความเข้มข้นสูง ทำให้เกิดพิษเฉียบพลัน มักพบอาการ คอแห้ง แสบจมูก ไอ เคืองตา ตาแดง คันตามผิวหนัง และผื่นแดง และ 4. สารกำจัดหนูหรือสัตว์กัดแทะอื่น ส่วนใหญ่มีผลกระทบต่อระบบทางเดินอาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้องอย่างรุนแรง บางรายเกิดอาการตับอักเสบเฉียบพลัน และบางรายมีอาการแน่นหน้าอก หายใจลำบากร่วมด้วย ดร. นายแพทย์ สุวิช กล่าวเพิ่มเติมว่า สคร. 12 สงขลา ขอเชิญชวนเกษตรกร ลด ละ เลิกการใช้สารเคมี โดยการทำเกษตรอินทรีย์ และการใช้สารชีวภาพแทนการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ เกษตรกรควรมีพฤติกรรมที่ปลอดภัย ด้วยการ "อ่าน ใส่ ถอด ทิ้ง" อ่านฉลากการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชก่อนใช้ และควรปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ใส่อุปกรณ์เครื่องมือป้องกันอันตรายจากสารเคมีขณะทำงาน เช่น เสื้อผ้ามิดชิดรัดกุม สวมหน้ากาก ถุงมือ และรองเท้า เป็นต้น ถอดชุด และอุปกรณ์ทุกชิ้นที่ใช้ขณะฉีดพ่นหรือทำงาน แยกซักจากเสื้อผ้าอื่นๆ แล้วรีบอาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้าทันที และทิ้งผลิตภัณฑ์บรรจุสารเคมีกำจัดศัตรูพืชให้ถูกต้อง คัดแยกออกจากขยะทั่วไป ให้อยู่ในกลุ่มขยะอันตราย ทิ้งให้ห่างไกลจากแหล่งน้ำ เพื่อป้องกันการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ