ดีอี โชว์ผลงาน 3 รสก.ในสังกัดร่วมขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติผ่านดิจิทัล

ข่าวเทคโนโลยี Tuesday March 19, 2019 14:06 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 มี.ค.--กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ได้ร่วมแถลงความคืบหน้าการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ ในด้านเศรษฐกิจดิจิทัล ณ ห้องประชุมวายุภักษ์ 4 กระทรวงการคลัง นางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ได้กล่าวถึงความคืบหน้าการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจในสังกัดของกระทรวงดีอี ในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติด้านเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทย ตลอดช่วงปี 2558-2561 ทั้งในส่วนของ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) (บมจ.ทีโอที) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) (บมจ. กสท โทรคมนาคม) ซึ่งมีส่วนขับเคลื่อนในด้านการสื่อสารและโทรคมนาคม และบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) โดยในกลุ่มของการดำเนินงานด้านสื่อสารและโทรคมนาคม ในระยะใกล้นี้ บมจ.ทีโอที และ บมจ.กสท โทรคมนาคม ซึ่งเป็น 2 รัฐวิสาหกิจสำคัญเตรียมผนึกกำลังเพื่อให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น ที่ผ่านมามีผลการดำเนินงานสำคัญ 5 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการเน็ตประชารัฐ ที่วางโครงข่ายสื่อสารความเร็วสูงครอบคลุม 24,700 หมู่บ้านพร้อมจุดให้บริการ Wifi ฟรี 1จุดในหมู่บ้าน ซึ่งดำเนินการเสร็จสิ้นตั้งแต่ปี 2561 และต่อยอดสอนความรู้ประชาชนให้สามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตไปแล้วไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคน เพื่อให้ใช้ประโยชน์โครงข่ายเน็ตประชารัฐไปสู่ด้านการศีกษา สังคม เศรษฐกิจ และสาธารณสุข สร้างความยั่งยืนในการพัฒนาต่อไป ล่าสุดมีจำนวนผู้ลงทะเบียนเน็ตประชารัฐเกือบ 5.5 ล้านคน โดยมีรายชื่อ 10 จังหวัดที่การใช้งานสูงสุด ได้แก่ ร้อยเอ็ด ขอนแก่น ศรีสะเกษ นครราชสีมา กาฬสินธ์ อุบลราชธานี มหาสารคาม ชัยภูมิ สุรินทร์ และอุดรธานี ตามลำดับ โครงการนี้ ยังได้รับคัดเลือกเป็น 1 ใน 5 (Champions) โครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศที่ดีที่สุดจาก 125 โครงการทั่วโลก จากเวทีแข่งขัน WSIS Prizes 2019 ซึ่งจัดโดยสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ไอทียู) ซึ่งจะประกาศรายชื่อโครงการที่ชนะเลิศในเดือนเมษายนนี้ ที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ 2.ASEAN Digital Hub โดยมีการลงทุนเคเบิลใต้น้ำระบบ AAE-1 เพื่อสร้างเส้นทางเชื่อมโยงระหว่างประเทศเพิ่มความสามารถของประเทศในการเป็นศูนย์กลางแลกเปลี่ยนข้อมูลของภูมิภาค ซึ่งถือเป็นโครงข่ายเคเบิลใต้น้ำเส้นทางหลักแรกของประเทศไทย จากก่อนหน้านี้มีอยู่แล้ว 7 เส้นทาง แต่ล้วนแล้วเป็นสายย่อย อีกทั้งมีการขยายความจุระบบของเส้นเดิม ยกระดับความเร็วเพิ่มขึ้นถึง 7 เท่า จาก 1,770 Gbps ในปี 2558 เป็น 7,406 Gbps ในปัจจุบัน การลงทุนในระบบเคเบิลใต้น้ำจะช่วยหนุนประเทศไทยให้พร้อมก้าวเป็นศูนย์กลางดิจิทัลของอาเซียน ล่าสุดประเทศเมียนม่า มีการใช้วงจรเชื่อมโยงผ่านประเทศไทยเพิ่มขึ้น 1,000 เท่าภายใน 2 ปี จากเดิม 40 Mbps เป็น 40 Gbps และยังช่วยให้ราคาเชื่อมอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศลดลง 64% ส่งผลให้ผู้บริโภคได้รับบริการอินเทอร์เน็ตในความเร็วที่สูงขึ้นด้วยราคาต่ำลง 3.โครงการศูนย์บริการภาครัฐเพื่อประชาชน GCC1111 ได้มีเชื่อมต่อกับเครือข่ายโซเชียลมีเดีย เพื่อเพิ่มช่องทางให้ผู้ใช้บริการเข้าถึงได้ ทำให้ครอบคลุมทั้งการรับเรื่องร้องเรียนหรือให้บริการประชาชนที่ต้องการสอบถามข้อมูลผ่านโทรศัพท์, เว็บไซต์ โมบายแอพ, เฟซบุ๊ก และทวิตเตอร์ โดยมีการติดตั้งระบบ Social Monitoring Tools และทำงานร่วมกับเว็บไซต์พันทิป โดยปีที่ผ่านมามีปริมาณสายเรียกเข้ากว่า 5 ล้านสาย ขณะที่ ไตรมาสแรกปี 2562 มีปริมาณสายเรียกเข้าราว 5.3 แสนสาย อย่างไรก็ตาม เมื่อดูข้อมูลเชิงลึกพบว่าเกือบ 80% เป็นบริการสอบถามข้อมูลทั่วไป ส่วนเรื่องร้องเรียนหลักๆ เป็นหมวดสังคมและบริการ 4.โครงสร้างพื้นฐานอัจฉริยะ (Smart Infrastructure) เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัล โดย บมจ. กสท โทรคมนาคม จะติดตั้ง Free Wifi hotspot ตามเป้าหมาย 40,000 จุดทั่วประเทศให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวใช้งานฟรี นำร่องไปแล้วที่จังหวัดภูเก็ต 1,000 จุด รองรับการเป็นหนึ่งในสมาร์ทซิตี้ มียอดใช้งานแล้ว 3.9 ล้านครั้ง ในจำนวนนี้มียอดใช้งานจากนักท่องเที่ยวถึง 5.3 แสนครั้ง ขณะที่ ในส่วนของการสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจและเอสเอ็มอี ได้มีการติดตั้งโครงข่าย "LoRa" สำหรับอุปกรณ์ IoT เปิดให้บริการแล้ว 26 จังหวัด และจะครบทั่วประเทศภายในสิ้นปีนี้ สนับสนุนการสร้าง Smart Service ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน และส่งเสริมเอกชนไทยสร้างธุรกิจจากนวัตกรรมและ 5.โครงการดิจิทัลพาร์ค ไทยแลนด์ และสถาบันไอโอที จัดเตรียมพื้นที่ 700 ไร่ในอีอีซี เพื่อดึงดูดการลงทุน การวิจัยและพัฒนานวัตกรรม สนับสนุนการสร้างงานใช้ทักษะสูง 25,000 ตำแหน่ง มูลค่า 30,000 ล้านบาทต่อปี ปลัดกระทรวงดิจิทัลฯ กล่าวว่า ในส่วนของ ปณท มีผลงานสำคัญ 3 โครงการในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติตามนโยบายรัฐบาล ได้แก่ 1.โครงการดิจิทัลชุมชนด้านอี-คอมเมิร์ซ หรือที่รู้จักในนาม POS เป็นการสร้างแพลตฟอร์มให้ประชาชนสามารถจำหน่ายสินค้าผ่านหน้าจอมือถือและจอคอมพิวเตอร์ ปณท รับเงินแทนและนำส่งสินค้าให้ โดย ปณท เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปลายปี 2560 ปัจจุบันมีผู้นำสินค้าเข้ามาวางจำหน่ายแล้ว 900 ราย มีสินค้า 1,700 รายการ สร้างรายได้ให้ผู้ประกอบการ วิสาหกิจชุมชน 20 ล้านบาท 2. บริการจัดส่งยาให้ผู้ป่วยของโรงพยาบาลต่างๆ นำร่องร่วมมือกับโรงพยาบาลศิริราช และปัจจุบันมีโรงพยาบาลเข้าร่วมโครงการฯ กว่า 10 แห่งแล้ว ปีที่ผ่านมามีผู้ใช้บริการกว่า 12,000 ราย ล่าสุดแพทยสภา เข้ามาหารือเพื่อจัดทำให้เป็นมาตรฐาน และสนับสนุนให้มีจำนวนโรงพยาบาลจากทั่วประเทศเข้าร่วมมากขึ้นและ 3.การจัดส่งย้ำยาล้างไตให้ผู้ป่วยทั่วประเทศ ซึ่งปัจจุบันเป็นสินค้าเวชภัณฑ์ที่มีความต้องการสูงมากสำหรับผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่รักษาด้วยวิธีล้างไตทางช่องท้องด้วยตนเองที่บ้าน โครงการนี้ดำเนินการร่วมกับสำนักงานประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และองค์การเภสัชกรรม ช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง สามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้อย่างเสมอภาคกัน ในปี 2561 มีจำนวนผู้ป่วยใช้บริการนี้กว่า 2 แสนราย มีปริมาณจัดส่งน้ำยาล้างไต 30 ล้านถุง ด้าน ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวมอบนโยบายแก่รัฐวิสาหกิจในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ ว่า รัฐวิสาหกิจ เป็นกลไกสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนประเทศไทย เพราะมีความคล่องตัว รวดเร็ว ทั้งนี้ เมื่อมองจากผลงานตลอด 4 ปีที่ผ่านมาของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจทุกแห่ง ก็เห็นถึงความพยายามในการสร้างความเปลี่ยนแปลง ส่งผลให้อันดับดัชนีการแข่งขันของประเทศไทย และดัชนี Ease of Doing Business ขยับขึ้น พร้อมกันนี้ ได้กล่าวถึงกระทรวงดิจิทัลฯ ว่าเป็นกระทรวงที่มีภารกิจมากในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ในการสร้างความตื่นตัว ขั้นต่อจากนี้ไปต้องเร่งกระบวนการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น โดยเสนอแนะว่า กระทรวงดิจิทัลฯ ควรดึงภาคเอกชนเข้ามาทำงานร่วมกันกับรัฐวิสาหกิจในสังกัด เพื่อเร่งความเร็วในการสร้าง service platform ตอบโจทย์ความต้องการในการเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัล โดยอาจดำเนินการผ่านรูปแบบ PPP ซึ่งแต่ละหน่วยงานทั้ง กสท ทีโอที และ ปณท ต้องดูว่าต้องการไปแข่งขันในด้านไหน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ