วิศวะมหิดล จับมือ TCELS จัดประชุมนานาชาติหุ่นยนต์การแพทย์ พร้อมทุ่ม 1,200 ล้านบาท สร้างศูนย์หุ่นยนต์การแพทย์ บูม R&D และอุตสาหกรรม

ข่าวทั่วไป Monday March 25, 2019 11:40 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 มี.ค.--เบรนเอเซีย คอมมิวนิเคชั่น ครั้งแรกในประเทศไทยและในเอเซียแปซิฟิค โดย มหาวิทยาลัยมหิดล คณะวิศวกรรมศาสตร์ ศูนย์เครือข่ายวิจัยประยุกต์ทางเทคโนโลยีหุ่นยนต์และชีวการแพทย์ (BART LAB) ร่วมกับ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) (TCELS) เป็นเจ้าภาพจัดในนามประเทศไทย ดีเดย์เปิดประชุมนานาชาติหุ่นยนต์การแพทย์ระดับสูง (The 2019 International Advanced Medical Robotics Symposium : iAMRS 2019) ณ โรงแรมสุโกศล โดยมี ศาสตราจารย์คลินิค นายแพทย์อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานพิธีเปิดงาน พร้อมด้วย ผศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.มหิดล ท่ามกลางผู้เข้าร่วมประชุมทั้งนักวิจัย วิศวกร ผู้ผลิตหุ่นยนต์ ซัพพลายเออร์จากนานาประเทศ ได้แก่ อังกฤษ , สหรัฐอเมริกา , ญี่ปุ่น , สิงคโปร์, ไต้หวัน , อินเดีย เป็นต้น ผศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ (Jackrit Suthakorn) คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ตลาดรวมเครื่องมือแพทย์ในโลกมีมูลค่าส่งออกและนำเข้ารวม 71 ล้านล้านบาท ในอุตสาหกรรมหุ่นยนต์การแพทย์ แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ หุ่นยนต์ผ่าตัด ระบบอัตโนมัติที่ใช้ในโรงพยาบาล และหุ่นยนต์เพื่อการฟื้นฟูสุขภาพสำหรับผู้ป่วยและผู้สูงวัย แม้ว่าหุ่นยนต์การแพทย์จะมีสัดส่วนเพียง 10% แต่มีมูลค่าตลาดสูงถึง 60 % ของตลาดหุ่นยนต์บริการทั้งหมด สำหรับมูลค่าตลาดประเทศไทย มียอดนำเข้าเครื่องมือแพทย์ในปี 2560 มีมูลค่า 62,131 ล้านบาท และยอดส่งออกมีมูลค่า 102,475 ล้านบาท ซึ่งมีแนวโน้มเติบโตจากหลายปัจจัยหนุน ทั้งจากนโยบายรัฐในการก้าวเป็นศูนย์กลางการแพทย์และส่งออก (Medical Hub) อีกทั้งรองรับสังคมสูงวัย ขณะที่แนวโน้มจำนวนผู้ป่วยต่างชาติและการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพเพิ่มขึ้น ตลอดจนการขยายตัวในการลงทุนธุรกิจโรงพยาบาลในประเทศไทย งานประชุมนานาชาติหุ่นยนต์การแพทย์ระดับสูง iAMRS 2019 นับเป็นปรากฎการณ์ครั้งสำคัญ ที่ชูบทบาทของประเทศไทยในการเป็นผู้นำความร่วมมือ ส่งเสริมการวิจัยและอุตสาหกรรมการผลิตหุ่นยนต์การแพทย์ระดับสูงบนเวทีโลก ผนึกพลังนานาประเทศเป็นหนึ่งเดียวกันในพัฒนาหุ่นยนต์ทางการแพทย์ (Advanced Medical Robotics) ซึ่งกำลังทวีบทบาทในการดูแลบำบัดรักษาและฟื้นฟูสุขภาพด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าทันสมัยและปลอดภัย โดยสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลและเทคโนโลยี การก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยของประเทศไทยและหลายประเทศ ที่สำคัญช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคร้ายต่างๆ ตลอดจนผลกระทบจากการผ่าตัดรักษา ทั้งนี้ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) (TCELS) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ยังได้ร่วมกับ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เตรียมงบ 1,200 ล้านบาท โดยเริ่มงบเฟสแรก 400 ล้านบาท สร้างศูนย์หุ่นยนต์การแพทย์ระดับสูง (Advanced Medical Robotics Center) อาคารศูนย์ 5 ชั้น พร้อมอุปกรณ์ ณ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ศูนย์นี้จะเปลี่ยนงานวิจัยให้เป็นต้นแบบผลิตภัณฑ์ เพื่อการผลิตในเชิงพาณิชย์ต่อไป โดยกำหนดเปิดในปี 2563 หลังจากนั้นจะเป็นการทำระบบการรับรองมาตรฐานสากลให้สามารถตรวจสอบและรับรองมาตรฐานหุ่นยนต์การแพทย์และเครื่องมือแพทย์ของไทย แก้ปัญหาคอขวดที่ผลงานวิจัยไทยและอาเซียนที่ไม่สามารถผลิตสู่เชิงพาณิชย์ เพราะขาดศูนย์ทดสอบมาตรฐาน และยังช่วยลดค่าใช้จ่ายในการส่งทดสอบในต่างประเทศลงกว่า 50 % นับเป็นสนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และอุปกรณ์การแพทย์ระดับสูงสู่ตลาดโลก ตลอดจนการเป็นเมดิคัลฮับของภูมิภาค คาดว่าศูนย์หุ่นยนต์การแพทย์ระดับสูงนี้จะบริการเต็มขั้นในปี 2564 ในงานครั้งนี้ยังมีการลงนามข้อตกลงความร่วมมือเป็นหุ้นส่วน ระหว่าง ศูนย์เครือข่ายวิจัยประยุกต์ทางเทคโนโลยีหุ่นยนต์และชีวการแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล หรือ Center for Biomedical and Robotics Technology (BART LAB) กับ แฮมลีน เซนเตอร์ มหาวิทยาลัยอิมพีเรียล (Hamlyn Centre , Imperial College) แห่งประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นแหล่งสร้างนวัตกรรมที่มีผลงานโดดเด่นและชื่อเสียงระดับโลก เพื่อร่วมมือกันพัฒนางานวิจัยและบ่มเพาะเทคโนโลยีหุ่นยนต์และอุปกรณ์การแพทย์ในประเทศไทย สาระของการประชุมนานาชาติหุ่นยนต์การแพทย์ระดับสูง หรือ The 2019 International Advanced Medical Robotics Symposium (iAMRS 2019) ครอบคลุมเกี่ยวกับ หุ่นยนต์ผ่าตัด (Robotics in Surgery) , หุ่นยนต์พยาบาลดูแลผู้สูงวัย (Robotics for Rehabilitation and Elderly) , มาตรฐาน กฏและข้อบังคับสำหรับหุ่นยนต์การแพทย์ (Standards, Rules and Regulations) , หุ่นยนต์ดูแลสุขภาพและหุ่นยนต์โรงพยาบาล (Healthcare/Hospital Robotics) , ดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ในการแพทย์ (Digital and AI in Medicine) , อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และอุปกรณ์การแพทย์ (Medical Robotics and Device Industry) วิทยากรที่มีชื่อเสียง ที่เดินทางมาแลกเปลี่ยนถ่ายทอดองค์ความรู้ ด้านหุ่นยนต์ทางการแพทย์ ในการประชุมครั้งนี้ อาทิเช่น มร.โยชิยูกิ ซานไค จาก Cyberdine ผู้ผลิตหุ่นยนต์ช่วยเดิน"ไซบอร์ก" มร.กวง ซง หยาง ผู้อำนวยการ แฮมลีนเซ็นเตอร์ อิมพีเรียล คอลเลจ, มร.อีริค พี.ดัตสัน ผอ.การแพทย์ ศูนย์เทคโนโลยีนานาชาติและผ่าตัดระดับสูง (CASIT), ผศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ นวัตกรหุ่นยนต์ และคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, ศาสตราจารย์ โรม ชุตาภา มหาวิทยาลัย UCLA และอีกมากมาย ศ. คลินิค นายแพทย์อุดม คชินทร (Udom Kachintorn) รมช.กระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ในระยะการเปลี่ยนผ่านประเทศไทยสู่เศรษฐกิจดิจิทัล สู่เป้าหมายไทยแลนด์ 4.0 รองรับการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และชีวการแพทย์เป็นส่วนหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมาย New S-Curve วันนี้จึงเป็นวันที่น่ายินดี ที่ประเทศไทยได้ริเริ่มเป็นเจ้าภาพ จัดงานประชุมนานาชาติหุ่นยนต์การแพทย์ระดับสูง หรือ The 2019 International Advanced Medical Robotics Symposium (iAMRS 2019) ซึ่งจะเป็นแพลตฟอร์มที่เสริมสร้างเครือข่ายอันแข็งแกร่งระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอุตสาหกรรมหุ่นยนต์การแพทย์และอุปกรณ์การแพทย์ระดับสูง สร้างประโยชน์และคุณภาพชีวิตที่ดีต่อประเทศไทยและประชาคมโลก

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ