ความรู้โรคพาร์กินสันเพื่อประชาชน รศ.พญ.ศิวาพร จันทร์กระจ่าง ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย

ข่าวทั่วไป Wednesday April 10, 2019 13:49 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--10 เม.ย.--ไอเวิร์คพีอาร์ ทุกวันที่ 11 เมษายนของทุกปี เป็นวันพาร์กินสันโลก และเป็นวันคล้ายวันเกิดของนายแพทย์เจมส์ พาร์กินสัน และมีการใช้ดอกทิวลิปสีแดงเป็นสัญลักษณ์ด้วย ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทยจึงขอหยิบยกเรื่องของโรคพาร์กินสันที่มีหลากหลายสาระนำมาเบือกแบ่งปันกัน หลังจากที่คนทั่วไปมักที่จะมีข้อสงสัยกันว่า เมื่อกล่าวถึงโรคพาร์กินสัน (Parkinson's Disease หรือ โรคสั่นสันนิบาต) คงมีประชาชนคนไทยหลายคนที่เคยได้ยินมาก่อน แต่คาดว่ามีน้อยคนนักที่จะรู้จักโรคนี้อย่างละเอียด หากพูดถึงความสำคัญแล้วนั้น โรคนี้ถือเป็นโรคหนึ่งที่มีความสำคัญ เนื่องจากพบในประชากรทั่วโลกที่อายุมากกว่า 65 ปีได้ถึงร้อยละ 2-3 (แต่ก็สามารถพบโรคนี้ในคนที่อายุน้อยกว่า 65 ปีได้เช่นกัน) และอาการของตัวโรคส่งผลกระทบอย่างมากต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยรวมถึงผู้ดูแลผู้ป่วยด้วย สำหรับสาเหตุของโรคพาร์กินสันนั้น เกิดจากความเสื่อมของสมองอย่างช้าๆโดยไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด ทำให้สารสื่อประสาทโดปามีน (Dopamine) ในสมองลดลง จากนั้นก่อให้เกิดอาการของโรคตามมา กลุ่มที่เสี่ยงสำหรับโรคนี้ ได้แก่ ผู้สูงอายุ ผู้มีประวัติครอบครัวของโรคพาร์กินสัน และการมีประวัติการใช้สารฆ่าแมลง แม้ว่าตัวโรคพาร์กินสันจะไม่มีสาเหตุแน่ชัด แต่มีอีกหนึ่งกลุ่มโรคซึ่งมีอาการคล้ายคลึงกันแต่มีสาเหตุแน่ชัด ซึ่งสาเหตุบางอย่างสามารถรักษาให้หายขาดได้ เรียกว่า กลุ่มโรคพาร์กินสันเทียม สาเหตุที่พบได้บ่อยในกลุ่มโรคนี้ ได้แก่ ยาบางชนิด(โดยเฉพาะยารักษาโรคจิต) ภาวะโพรงสมองคั่งน้ำและโรคหลอดเลือดสมองผิดปกติ ในส่วนของอาการของโรคพาร์กินสัน แบ่งได้เป็น 2 กลุ่มอาการหลัก คืออาการทางการเคลื่อนไหวและอาการระบบอื่นๆที่ไม่ได้เกี่ยวกับการเคลื่อนไหว อาการทางการเคลื่อนไหวที่บุคคลทั่วไปพอทราบกันนั้นคืออาการสั่น แต่นอกจากอาการสั่นแล้วก็ยังมีอาการอื่นอีก ได้แก่ เคลื่อนไหวช้า ร่างกายแข็งเกร็ง หลังค่อม เดินลำบากและล้มง่าย ส่วนอาการระบบอื่นๆที่ไม่ได้เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวก็ถือว่าพบได้บ่อยในผู้ป่วยโรคนี้เช่นกัน เช่น ท้องผูก จมูกไม่ได้กลิ่น นอนละเมอ ซึมเศร้า หลงลืมหรืออาจถึงขั้นสมองเสื่อมได้หากเป็นโรคนี้มาเป็นเวลานาน ซึ่งอาการด้านนี้ก็ถือว่าเป็นอาการสำคัญที่ควรรู้ เนื่องจากอาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตผู้ป่วยได้มาก สำหรับการรักษาโรคพาร์กินสันนั้น ในปัจจุบันเน้นรักษาตามอาการเป็นหลัก การรักษาถูกแบ่งออกเป็นการรักษาโดยใช้ยาและการรักษาโดยไม่ใช้ยา ในส่วนของการรักษาโดยใช้ยา จะเป็นการให้ยา กลุ่มที่เพิ่มสารสื่อประสาทโดปามีนในสมอง เช่น ยาเลโวโดปา (Levodopa) ยาเสริมโดปามีน (Dopamine agonists) หรือยาที่ทำให้โดปามีนอยู่ในร่างกายได้นานขึ้น ในส่วนของการรักษาโดยไม่ใช้ยา แบ่งออกเป็นการผ่าตัดซึ่งมักจะทำเฉพาะในรายที่มีอาการมาก และการรักษาทางเวชศาสตร์ฟื้นฟู เช่น การทำกายภาพบำบัด (Physiotherapy) หรือการทำอรรถบำบัด (Speech therapy) นอกจากการรักษาดังวิธีที่ได้กล่าวไปแล้วนั้น การออกกำลังกายบางประเภท เช่น รำไทเก๊ก เต้นแทงโก้ เดินบนลู่วิ่ง และปั่นจักรยาน ก็ทำให้ความสามารถด้านของการเคลื่อนไหว การทรงตัวและการเดินของผู้ป่วยดีขึ้นได้ ปัจจุบันผู้ป่วยโรคนี้สามารถเข้าถึงการรักษาได้ดีขึ้น โดยโรงพยาบาลที่มีการให้การรักษาโรคนี้ก็มีตั้งแต่ โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลศูนย์ และโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย ซึ่งหากมีผู้ใดที่สงสัยว่าตนป่วยเป็นโรคนี้ก็สามารถเข้ารับการตรวจวินิจฉัยที่โรงพยาบาลใกล้บ้านได้ หากอาการไม่ชัดเจนหรือยังไม่สามารถสรุปวินิจฉัยได้แน่ชัด ผู้ป่วยจะถูกส่งต่อไปยังโรงพยาบาลที่มีศักยภาพสูงขึ้นหรือมีแพทย์เฉพาะทางผู้เชี่ยวชาญด้านนี้เพื่อดูแลรักษาต่อ โดยสรุปแล้วในปัจจุบันโรคพาร์กินสันถือเป็นโรคที่สำคัญและพบได้มากขึ้นเรื่อย ๆ อาการของตัวโรคนั้นส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันและส่งผลเสียต่อคุณภาพชีวิตเป็นอย่างมาก ดังนั้นการตระหนักรู้ถึงตัวโรคและการรักษาถือเป็นส่วนสำคัญ ที่จะทำให้ผู้ป่วยโรคนี้สามารถดูแลตนเองเบื้องต้นและสามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุข

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ