สพฉ.เตรียมแผนรับมือเทศกาลสงกรานต์ จับมือสธ.และภาคีเครือข่ายผุดโครงการ “ตำบลปลอดภัย ประเทศไทยปลอดภัย ไร้ผู้ป่วยฉุกเฉิน” เริ่มคิกออฟ 20 พื้นที่พร้อมเตรียมขยายครอบคลุมทั่วประเทศในปี 2565

ข่าวทั่วไป Thursday April 11, 2019 14:40 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 เม.ย.--สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ สพฉ.เตรียมแผนรับมือเทศกาลสงกรานต์ จับมือสธ.และภาคีเครือข่ายผุดโครงการ "ตำบลปลอดภัย ประเทศไทยปลอดภัย ไร้ผู้ป่วยฉุกเฉิน" เริ่มคิกออฟ 20 พื้นที่พร้อมเตรียมขยายครอบคลุมทั่วประเทศในปี 2565 เชื่อลดสถิติการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุของประชาชนได้ พร้อมแนะประชาชนดาวน์โหลดแอพ EMS1669 เพื่อเป็นตัวช่วยในการแจ้งเหตุอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ เรืออากาศเอกนายแพทย์ อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ(สพฉ.) กล่าวถึงการเตรียมการให้ความช่วยเหลือด้านการแพทย์ฉุกเฉินให้กับประชาชน ในการเดินทางกลับภูมิลำเนาช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่จะถึงนี้ โดยได้ประสานศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการ 1669 ซึ่งมีจำนวน 80 ศูนย์ทั่วประเทศ และมีหน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินกว่า 8,000 หน่วย โดยเป็นแบ่งชุดปฏิบัติการฉุกเฉินขั้นสูง ขั้นพื้นฐาน และขั้นต้น ตลอดจนภาคีเครือข่ายต่างๆ ให้เตรียมพร้อมกำลังคนและเจ้าหน้าที่อย่างเต็มที่ เพื่อรองรับการให้บริการประชาชนที่เจ็บป่วยฉุกเฉินในการเดินทางกลับบ้านในช่วงเทศกาลสงกรานต์ สพฉ.ยังได้ร่วมมือกับ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคีเครือข่ายหลากหลายองค์กรดำเนินโครงการ "ตำบลปลอดภัย ประเทศไทยปลอดภัย ไร้ผู้ป่วยฉุกเฉิน" ซึ่งจากสถิติปี 2561 ที่ผ่านมา พบว่ามีอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์จำนวน3,724 ครั้ง ดังนั้นเพื่อเป็นการยังยั้งการสูญเสียของประชาชนที่อาจจะเกิดขึ้นในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่จะถึงนี้ เราจึงได้เริ่มดำเนินการขับเคลื่อนงานภายใต้โครงการ "ตำบลปลอดภัย ประเทศไทยปลอดภัย ไร้ผู้ป่วยฉุกเฉิน" อย่างเป็นระบบ เพื่อสร้างความปลอดภัยในตำบลต่างๆ ของประเทศไทยและเพื่อเป็นการลดอัตราการเสียชีวิตและพิการจากภาวะฉุกเฉิน ตลอดจนพัฒนากลไกการป้องกันและแก้ไขปัญหาการเจ็บป่วยฉุกเฉิน ทั้งในภาวะปกติและภัยพิบัติ เพื่อสร้างต้นแบบตำบลปลอดภัยในระดับต่างๆในประเทศไทยอีกด้วย เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติกล่าวถึง รูปแบบการดำเนินการภายใต้โครงการ "ตำบลปลอดภัย ประเทศไทยปลอดภัย ไร้ผู้ป่วยฉุกเฉิน" ว่า ในส่วนของการดำเนินการภายใต้โครงการนี้ สพฉ.และภาคีเครือข่ายได้ร่วมกันจัดตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ตำบลปลอดภัย พร้อมทั้งร่วมกันจัดทำแผนพัฒนา ขั้นตอนปฏิบัติการ กฎระเบียบกติกาของชุมชนขึ้นมาใช้ร่วมกัน โดยได้มีการสำรวจ วิเคราะห์ปัญหาความเสี่ยง จุดเสี่ยงของชุมชนโดยเฉพาะในเรื่องของอุบัติเหตุจราจรเพื่อประกาศให้คนในชุมชนได้ทราบอย่างทั่วกัน ร่วมกันระมัดระวังแก้ไขและกำหนดมาตรการความเสี่ยงตามข้อมูลความเสี่ยงที่ค้นพบ พร้อมทั้งจัดทำแผนป้องกัน รับมือ ฟื้นฟู พัฒนาศักยภาพเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชนด้วยการรณรงค์ อบรมให้ความรู้และกำหนดวิธีสื่อสารในการจัดการด้านความปลอดภัย ซึ่งเราจะมีกระบวนการติดตามประเมินผลเพื่อให้โครงการนี้ดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย โดยเบื้องต้นเราตั้งเป้าดำเนินโครงการนี้ในพื้นที่ 20ตำบลทั่วประเทศ และจะขยายโครงการให้ครอบคลุมทั่วประเทศภายในปีพ.ศ. 2565 ซึ่งปัจจุบันนี้เรามีพื้นที่ต้นแบบ 2 แห่งที่ดำเนินการตามโครงการนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ คือ เทศบาลเมืองน่าน จังหวัดน่าน และเทศบาลตำบลป่าสัก จังหวัดลำพูน เรืออากาศเอกนพ.อัจฉริยะ ยังกล่าวถึงการเตรียมพร้อมรับมือการเดินทางกลับบ้านของประชาชนในช่วงเทศกาลสงกรานต์เพิ่มเติมอีกว่า นอกจากการดำเนินโครงการในระดับตำบลแล้วสำหรับประชาชนทั่วไปที่จะต้องเดินทางไกลนอกจากการแจ้งเหตุผ่านสายด่วน 1669 ที่พร้อมดำเนินงานตลอด 24 ชั่วโมงแล้วตนอยากให้ประชาชนดาวน์โหลดแอพลิเคชั่น "EMS1669" ไว้ในโทรศัพท์มือถือเพิ่มเติมด้วย และเมื่อพบเห็นเหตุการณ์อุบัติเหตุและพบผู้ป่วยฉุกเฉินประชาชนก็สามารถแจ้งเหตุผ่านแอพพลิเคชั่น "EMS1669" ที่จะทำให้การแจ้งเหตุแม่นยำ และทำให้เจ้าหน้าที่เข้าไปช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินได้รวดเร็วยิ่งขึ้นด้วย ในส่วนของนโยบาย "เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่" (Universal Coverage for Emergency Patients: UCEP เมื่อผู้ป่วยมีความจำเป็นที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลอย่างเร่งด่วน สามารถเข้ารับการรักษากรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติในโรงพยาบาลทุกแห่งที่ใกล้ที่สุด ทั้งภาครัฐและเอกชนทุกแห่งทั่วประเทศ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยจะมีกองทุนตามสิทธิการรักษารับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลตั้งแต่แรกเข้าโรงพยาบาลจนพ้นภาวะวิกฤต แต่ต้องไม่เกิน 72 ชั่วโมง ซึ่งผู้ป่วยที่จะเข้าเกณฑ์ของการใช้สิทธิ UCEP จะต้องเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินที่เข้าข่าย 6 อาการฉุกเฉินวิกฤติ อาทิ 1. หมดสติ ไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ 2. หายใจเร็ว หอบเหนื่อยรุนแรง หายใจติดขัดมีเสียงดัง 3. เจ็บหน้าอกเฉียบพลันรุนแรง 4. ซึมลง เหงื่อแตก ตัวเย็น หรือมีอาการชักร่วม 5. แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก พูดไม่ชัดแบบปัจจุบันทันด่วน หรือชักต่อเนื่องไม่หยุด และ 6. มีอาการอื่นร่วมที่มีผลต่อการหายใจระบบการไหลเวียนโลหิตและระบบสมองที่อาจเป็นอันตรายต่อชีวิต ทั้งนี้โดยการประเมินของแพทย์ และหาก ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม หรือไม่ได้รับความเป็นธรรม สามารถติดต่อมายังศูนย์ประสานคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (ศคส. สพฉ.) หมายเลข 02-872-1669 ได้ตลอด 24 ชม.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ