ศปถ. กำชับจังหวัดเพิ่มความเข้มข้นด่านตรวจ-ด่านชุมชน กวดขันรถจักรยานยนต์ – รถกระบะเล่นน้ำ - คุมเข้มการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

ข่าวทั่วไป Wednesday April 17, 2019 14:23 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--17 เม.ย.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2562 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สรุปสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 13 เมษายน 2562 เกิดอุบัติเหตุ 700 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 67 ราย ผู้บาดเจ็บ 733 คน รวม 3 วัน (11 – 13 เม.ย. 62) เกิดอุบัติเหตุ 1,665 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 174 ราย ผู้บาดเจ็บ 1,728 คน กำชับจังหวัดเพิ่มความเข้มข้นในการปฏิบัติงานของจุดตรวจและด่านชุมชน เน้นกวดขันพฤติกรรมเสี่ยงอุบัติเหตุ กลุ่มผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์เล่นน้ำที่ไม่สวมหมวกนิรภัย รถกระบะบรรทุกคนเล่นน้ำที่ใช้ความเร็ว รวมถึงดูแลพื้นที่เล่นน้ำ สงกรานต์และเส้นทางโดยรอบเป็นพิเศษ พร้อมควบคุมการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อให้การเดินทางและการเล่นน้ำเป็นไปด้วยความปลอดภัย นายชาย นครชัย อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ในฐานะประธานแถลงข่าวสรุปผลการดำเนินงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2562 เปิดเผยว่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2562 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและความร่วมมือของหน่วยงานภาคีเครือข่ายได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 13 เมษายน 2562 ซึ่งเป็นวันที่สามของการรณรงค์ "ขับรถมีน้ำใจ รักษาวินัยจราจร" เกิดอุบัติเหตุ 700 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 67 ราย ผู้บาดเจ็บ 733 คน สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ดื่มแล้วขับร้อยละ 42.71 ขับรถเร็ว ร้อยละ 26.14 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 81.08 ส่วนใหญ่เกิดในเส้นทางตรง ร้อยละ 66.43 บนถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 37.29 ถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 37.00 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 16.01 – 20.00 น. ร้อยละ 32.43 ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุดอยู่ในช่วงอายุ 50 ปีขึ้นไป ร้อยละ 21.75 ทั้งนี้ ได้จัดตั้งจุดตรวจหลัก 2,042 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 65,444 คน เรียกตรวจยานพาหนะ 1,023,123 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดี รวม 226,655 ราย มีความผิดฐานไม่สวมหมวกนิรภัย 63,196 ราย ไม่มีใบขับขี่ 57,520 ราย โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ สกลนคร (28 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ บุรีรัมย์ น่าน และอุดรธานี (4 ราย) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ สกลนคร (33 คน) สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสม 3 วัน (11 – 13 เม.ย. 62) เกิดอุบัติเหตุ 1,665 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 174 ราย ผู้บาดเจ็บ 1,728 คน จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 17 จังหวัด จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช (69 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ อุดรธานี (10 ราย) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช (69 คน) นายชาย นครชัย อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กล่าวต่อไปว่า หลายพื้นที่ยังคงเล่นน้ำสงกรานต์และมีการเฉลิมฉลองด้วยเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทำให้ถนนสายรองที่เชื่อมต่อเส้นทางสายหลักและระหว่างอำเภอมีสถิติอุบัติเหตุทางถนนสูง ศปถ. ได้กำชับจังหวัดประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจบังคับใช้กฎหมายอย่างต่อเนื่อง เน้นการดูแลบริเวณสถานที่จัดงาน แหล่งท่องเที่ยวสำคัญในพื้นที่ พื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ และเส้นทางโดยรอบพื้นที่โซนนิ่งเป็นพิเศษ รวมถึงเพิ่มความเข้มข้นในการปฏิบัติงานของด่านชุมชน จุดตรวจ และจุดสกัด เพื่อเฝ้าระวังผู้ขับขี่ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงดื่มแล้วขับ ขับรถเร็ว กลุ่มผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์เล่นน้ำที่ไม่สวมหมวกนิรภัย และรถกระบะบรรทุกคนเล่นน้ำที่ใช้ความเร็ว พร้อมทั้งให้เข้มงวดการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงที่นำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุ นอกจากนี้ ให้จังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติในพื้นที่ท่องเที่ยวทุกแห่งทั่วประเทศ อีกทั้งรณรงค์ให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวเล่นน้ำสงกรานต์ตามประเพณีวิถีไทย "เล่นน้ำแบบไทย ใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า" ไม่เล่นน้ำในลักษณะรุนแรง ตลอดจนรณรงค์การแต่งกายที่สุภาพและเหมาะสม เพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมไทยและเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทย นายปวิณ ชำนิประศาสน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มงานภารกิจด้านสาธารณภัยและพัฒนาเมือง เปิดเผยว่า จากสถิติอุบัติเหตุทางถนนที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตในช่วง 3 วันที่ผ่านมา พบว่า ผู้เสียชีวิตกว่าร้อยละ 54.60 เป็นคนในพื้นที่ โดยส่วนใหญ่เป็นผู้ขับขี่ร้อยละ 63.79 ผู้โดยสารร้อยละ 25.86 โดยสาเหตุที่ทำให้เสียชีวิตเกิดจากการขับรถเร็ว ซึ่งมีอัตราการเสียชีวิต ณ จุดเกิดเหตุสูงถึงร้อยละ 49.43 กระทรวงมหาดไทยจึงได้สั่งการเน้นย้ำให้หน่วยปฏิบัติในระดับพื้นที่เข้มข้นการปฏิบัติงานของด่านชุมชน และจุดสกัดในพื้นที่ชุมชน/หมู่บ้าน โดยเฉพาะจุดเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง เน้นกวดขันผู้ขับขี่ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงขับรถเร็วและดื่มแล้วขับเป็นพิเศษ สำหรับสถานที่ท่องเที่ยวและจัดงานสงกรานต์ ได้กำชับให้เพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่ในการดูแลความปลอดภัยในพื้นที่โซนนิ่งเล่นน้ำสงกรานต์และเส้นทางโดยรอบพื้นที่เล่นน้ำ รวมถึงดูแลการเปิด – ปิดสถานบริการ สถานบันเทิง โดยเข้มงวดกวดขันการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลักษณะเร่ขายในพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ เพื่อลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนและการเล่นน้ำไม่ปลอดภัย นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เลขานุการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) เปิดเผยว่า ศปถ. ได้ประสานจังหวัดดำเนินมาตรการทางสังคมและมาตรการชุมชนอย่างเข้มข้นในการดูแลความปลอดภัยทางถนนในพื้นที่ โดยให้จัดกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ ฝ่ายปกครอง ทหาร อาสาสมัคร และชุดสายตรวจเคลื่อนที่คุมเข้มมิให้นำรถกระบะบรรทุกคนเล่นน้ำในพื้นที่โซนนิ่งและบริเวณที่จัดงานสงกรานต์ เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุทางถนน อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบสภาพอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า ช่วงวันที่ 14 – 16 เมษายน 2562 ประเทศไทยตอนบนจะมีพายุฤดูร้อนในลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง ซึ่งสภาพถนนเปียกลื่นและทัศนวิสัยในการขับขี่ไม่ดี อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ จึงขอฝากเตือนประชาชนเพิ่มความระมัดระวังในการเดินทางและปฏิบัติตามกฎหมายจราจรอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ เพื่อให้การเดินทางและการเล่นน้ำสงกรานต์เป็นไปด้วยความปลอดภัย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ