ก.แรงงาน เปิดสนามประลองฝีมือชิงความเป็นเลิศแรงงานคนพิการ

ข่าวทั่วไป Thursday April 25, 2019 11:44 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 เม.ย.--กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ก.แรงงาน เปิดสนามประลองฝีมือชิงความเป็นเลิศแรงงานคนพิการ เนื้อข่าว: ก.แรงงาน เปิดสนามประชันทักษะฝีมือคนพิการ ครั้งที่ 9 กว่า 200 คน ใน 20 สาขา ยกระดับมาตรฐานฝีมือ เพิ่มโอกาสในการจ้างงานและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ณ อาคาร 6 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานเปิดการแข่งขันฝีมือคนพิการแห่งชาติครั้งที่ 9 จัดขึ้น ระหว่างวันที่ 24-26 เมษายน 2562 เพื่อเปิดโอกาสให้คนพิการได้แสดงความสามารถ และสนับสนุนให้คนพิการได้พัฒนาฝีมือให้มีมาตรฐาน เป็นที่ยอมรับของสังคม สามารถก้าวเข้าสู่การทำงานที่มั่นคง มีผู้เข้าร่วมประชันฝีมือจำนวน 222 คน ใน 20 สาขา พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวว่า การแข่งขันฝีมือคนพิการแห่งชาติจัดขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 30-31 สิงหาคม 2546 ณ อาคารกีฬาเวสน์ 2 ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) จากนั้นคณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2547 อนุมัติให้กระทรวงแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับหน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้องกับคนพิการ จัดงานแข่งขันฝีมือคนพิการแห่งชาติ 2 ปีต่อ 1 ครั้ง สำหรับครั้งนี้เป็นการแข่งขันครั้งที่ 9 เป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้คนพิการได้แสดงศักยภาพทางด้านวิชาชีพ และกระตุ้นให้สังคมเห็นความสำคัญ และให้การยอมรับในความสามารถของผู้พิการมากยิ่งขึ้น สร้างโอกาสให้แก่คนพิการได้เข้าถึงการพัฒนาฝีมืออย่างเสมอภาคและเท่าเทียม ซึ่งเป็นการขับเคลื่อนนโยบาย 3 A ของกระทรวงแรงงาน ในด้านส่งเสริมการมีงานทำและยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีของคนพิการ และลดความเหลื่อมล้ำในสังคม รมว.แรงงาน กล่าวต่อไปว่า การแข่งขันมีทั้งหมด 20 สาขา ได้แก่ 1.สาขาเย็บปักถักร้อย 2 สาขาประกอบเครื่องคอมพิวเตอร์ 3. สาขาระบายสีบนผ้าไหม 4. สาขาประดิษฐ์สิ่งของจากวัสดุเหลือใช้ 5. สาขาถ่ายภาพในสตูดิโอ 6. สาขาตัดเย็บเสื้อผ้าสตรี:ระดับพื้นฐาน7.สาขาออกแบบสิ่งพิมพ์ 8 สาขาออกแบบสถาปัตยกรรมการก่อสร้างด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ 9สาขาออกแบบเว็บเพจ 10. สาขาถักโครเชต์ 11. สาขาสานตะกร้า 12. สาขาประกอบวงจรอิเล็กทรอนิกส์ : ระดับพื้นฐาน 13. สาขาวาดภาพระบายสี 14. สาขาประดิษฐ์เครื่องปั้นดินเผา 15. สาขาออกแบบคาแร็คเตอร์ 16. สาขาตัดเย็บเสื้อผ้าบุรุษ 17. สาขาออกแบบโปสเตอร์ 18. สาขาออกแบบเพื่องานอุตสาหกรรมด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ 19. สาขาพิมพ์เอกสารด้วยโปรแกรมไมโครซอฟท์เวิร์ด และ 20.สาขาถักนิตติ้ง ซึ่งมีคนพิการเข้าร่วมจำนวน 222 คน นอกจากนั้น ยังมีการจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับคนพิการ และนิทรรศการด้านนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ด้านการแพทย์ กิจกรรมส่งเสริมอาชีพ และกิจกรรมการแสดงความสามารถของคนพิการอีกด้วย " สำหรับการแข่งขันในครั้งนี้ ถือเป็นบันไดขั้นแรก ที่จะนำพาคนพิการให้ก้าวสู่เวทีการแข่งขันในระดับนานาชาติ เพื่อให้มีโอกาสแสดงถึงศักยภาพให้เป็นที่ประจักษ์ ช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้แก่คนพิการ รวมทั้งบุคคลทั่วไปได้มีพลังในการต่อสู้กับอุปสรรคต่างๆ และเป็นอีกหนึ่งพลังที่ร่วมขับเคลื่อนพัฒนาประเทศด้านกำลังคน ให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ต่อไป" รมว.กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ