เรียนรู้ต้นทางสร้าง “เด็กธรรมดา” สู่สังคม เปิดพื้นที่ระดมไอเดียสานต่อแคมเปญ “เด็กธรรมดา...คือสิ่งสวยงาม”

ข่าวทั่วไป Thursday May 9, 2019 10:48 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 พ.ค.--ชมฉวีวรรณ "ท่ามกลางสังคมแห่งการแข่งขัน การเปรียบเทียบ อาจทำให้เรากำลังลืมไปว่าเด็กต้องการสิ่งใด บางครั้งการมองให้เห็นถึงความธรรมชาติ ความธรรมดาในเด็กคนหนึ่ง และพัฒนาเขาจากจุดนั้น คือสิ่งที่สวยงาม และอาจนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ในอนาคต" นี่คือส่วนหนึ่งของมุมมองต่อสังคม อันเป็นที่มาของแคมเปญ "เด็กธรรมดา...คือสิ่งสวยงาม" ภายใต้โครงการ ไฟ-ฟ้า (FAI-FAH) โดยทีเอ็มบี ซึ่งเป็นโครงการ "ให้คืน" สังคมอย่างยั่งยืน ด้วยการเปลี่ยนให้ชีวิตดีขึ้น หลังเปิดตัวแคมเปญไปเมื่อต้นปีที่ผ่านมา โครงการไฟ-ฟ้า (FAI-FAH) ได้เดินหน้าสานต่อ โดยจัดกิจกรรม "The Ordinary Mission จุดประกายสร้างเด็กธรรมดา" พร้อมจับมือ 6 สถาบันองค์กร เครือข่ายเพื่อเด็กและเยาวชน จัดเวิร์กชอปร่วมกันถอดองค์ความรู้ของแต่ละองค์กรเพื่อนำไปสู่การสร้างสรรค์ "คู่มือสร้างเด็กธรรมดาให้สังคม" เพื่อนำไปเผยแพร่สู่พ่อแม่ ครู และบุคคลทั่วไปให้ได้เห็นถึงแนวทางในการสนับสนุนและส่งเสริมให้บุตรหลานเป็นเด็กธรรมดาที่มีความสุขในรูปแบบของตนเอง โดยเมื่อสรุปแนวทางเสร็จสิ้น จะจัดทำให้ดาวน์โหลดผ่านช่องทางเว็บไซต์ของมูลนิธิทีเอ็มบี สำหรับ 6 สถาบัน องค์กร เครือข่ายเพื่อเด็กและเยาวชน ประกอบด้วย 1. Saturday School ห้องเรียนนอกหลักสูตรวันเสาร์ กับพื้นที่สร้างการมีส่วนร่วมและผลักดันคนรุ่นใหม่ในการพัฒนาศักยภาพสูงสุดอย่างเสมอภาคของเด็กไทย ผ่านกิจกรรมนอกหลักสูตร 2. Teach For Thailand องค์กรส่งเสริมให้เด็กไทยทุกคนได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมกัน 3. EdWINGS ธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) ที่มีความตั้งใจจะเป็นตัวกลาง ในการนำนวัตกรรมที่มีคุณภาพทุกรูปแบบจากนอกห้องเรียนเข้าไปช่วยครูและนักเรียนในโรงเรียนขยายโอกาสทั่วประเทศ 4.a-chieve ธุรกิจเพื่อสังคมที่ต้องการทำให้นักเรียนมัธยมทั่วประเทศสามารถ เลือกเส้นทางการเรียนและอาชีพทีตนเองรักได้อย่างมั่นใจและตรงกับความชอบ ความถนัดและคุณค่าในชีวิตของตัวเอง 4. TED Club by TEDxBangkok พื้นที่แห่งโอกาสสำหรับ "เด็กสมัยนี้" ที่สนับสนุนให้พวกเขาได้บอกเล่าความคิด ตั้งคำถามและส่งต่อไอเดียให้สังคมผ่านเวทีของพวกเขาเอง 5. Eyedropper Fill บริษัทที่ทำงานด้าน "มัลติมีเดียดีไซน์" ที่สนใจใช้งานศิลปะบอกเล่าเรื่องราวของชุมชนคลองเตย ผ่านการสร้างห้องเรียนสุดพิเศษให้กับ "เด็กคลองเตย" จนเกิดโปรเจ็กต์ "Connext Klongtoey" นอกจากนี้ ยังได้จัดกิจกรรมห้องเรียนสำหรับพ่อแม่ในการสอนลูกอย่างไรให้เป็นเด็กธรรมดาที่มีความสุข โดยนายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ที่ได้มาร่วมกระตุ้นสังคมไทยให้เปิดโอกาสสร้างพื้นที่แก่เด็กธรรมดา พร้อมจุดประกายให้มีพลังในการค้นหาตัวเอง เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการผลักดันชุมชน และสังคมและประเทศชาติ ซึ่งมีพ่อแม่ให้ความสนใจเข้าร่วมรับฟังอย่างคับคั่ง นายแพทย์ประเสริฐ ให้คำแนะนำถึงวิธีการเลี้ยง "เด็กธรรมดา" ให้กลายเป็น "คนธรรมดา" นั่นคือ คนที่เอาตัวรอดได้ ผ่านบันได 7 ชั้น และการพัฒนาเด็ก โดยการมุ่งเน้นสร้างสิ่งที่เรียกว่าEXECUTIVE FUNCTION (EF) หรือ ความสามารถระดับสูงของสมองที่ใช้ในการควบคุมความคิด อารมณ์ และการกระทำ เพื่อให้ไปถึงเป้าหมาย ซึ่งเป็นตัวกำหนดให้เด็กคนหนึ่งไปได้ดีกว่าเด็กอีกคนหนึ่งได้หรือไม่ในอนาคต โดยการสร้าง EF จะทำได้ในมากสุดในช่วงอายุตั้งแต่ 4-7 ปี และแข็งแรงเต็มที่เมื่อมีอายุ 25 ปี อย่างไรก็ตาม ในช่วงวัยก่อนนั้นพ่อแม่ต้องสร้างฐานที่แข็งแรงให้ลูก จากกติกาสำคัญ 3 ข้อคือ พัฒนาการเป็นลำดับขั้น ช่วงเวลาวิกฤติ และหน้าที่ "พัฒนาการเป็นลำดับชั้น เป็นสิ่งที่เราไม่ค่อยเชื่อ แต่ถ้าเราทำชั้นที่หนึ่งแข็งแรง ชั้นถัดไปจะแข็งแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ถ้าลงทุนชั้นแรกเยอะ ชั้นต่อไปจะลงทุนน้อยลง ถ้าเราทำชั้นที่หนึ่งไม่แข็งแรงเวลาล้มจะพังครืน และโจทย์เรื่องเวลาวิกฤติ เป็นช่วงที่เรามีหน้าที่ต้องทำ หากปล่อยให้ล่วงเลยจะหมดโอกาส แม้พ่อแม่จะต้องทำงานหาเงินแต่ต้องบริหารเวลาให้สมดุล สุดท้ายคือ หน้าที่ ในแต่ละชั้นของการพัฒนาเด็กจะหน้าที่ ซึ่งพ่อแม่ต้องปล่อยให้ทำเพื่อจะพัฒนาสู่ช่วงชั้นถัดไปอย่างง่ายๆ" ทั้งนี้ พัฒนาการของเด็กในช่วง 3 ปีแรกมีความสำคัญมาก โดยเฉพาะในขวบปีแรก ดังนั้น พ่อแม่จึงต้องรักษาสมดุลระหว่างการทำงานหาเงินและการเลี้ยงลูกให้ดี ซึ่งวงจร EF แบบง่ายๆ จะเริ่มตั้งแต่เด็กมีอายุ 3 เดือน ด้วยการสร้างสายสัมพันธ์ให้รู้ว่าแม่มีจริง และสร้างความไว้ใจที่มีต่อแม่และโลก ก่อนจะพัฒนาเป็นวงจรที่ซับซ้อนขึ้น ในช่วงอายุ 8 เดือน ก็จะเรียนรู้มีปฏิกิริยาสองขั้นตอนคือ การหยุดแล้วเปลี่ยน เป็นการเลิกทำในสิ่งที่ไม่มีประโยชน์หันไปทำสิ่งที่มีประโยชน์ โดยในช่วงของการพัฒนานั้น "แม่" มีความสำคัญอย่างยิ่ง จึงต้องเริ่มที่แม่เป็นอันดับแรก และในช่วงแรกเกิดจนถึง 3 ขวบ เป็นช่วงที่มีสำคัญอย่างยิ่ง จึงมีคำพูดว่า ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์สร้างเสร็จเมื่อ 3 ขวบ พ่อแม่จึงต้องใช้เวลากับลูกให้เต็มที่ สิ่งสำคัญในการเลี้ยงลูกต้องไม่กดดัน หรือเปรียบเทียบ เพราะในช่วงวัยหนึ่งเด็กจะพัฒนาโดยอัตโนมัติ หน้าที่ของพ่อแม่คือ การสอนให้รู้เรื่องกาลเทศะ กฎกติกามารยาทในสิ่งทำได้หรือทำไม่ได้ แต่ไม่ควรมีข้อห้ามที่มากเกินไป ปล่อยให้มีการลองผิดลองถูก เพื่อทดสอบพลังกล้ามเนื้อที่แข็งแกร่งสำหรับการก้าวต่อไป ซึ่งหากมีการกดดันหรือเปรียบเทียบ จะทำให้เด็กมีพัฒนาการที่ควรเป็นล่าช้า หรืออาจถึงขั้นถดถอย "เราไม่เปรียบเทียบเลี้ยงลูกสบายๆ ไม่มีอะไรต้องเร่งเลยแม้แต่น้อย มีงานต้องทำอยู่แค่เรื่องเดียวคือ สร้างวินัย นอกจากนั้น เราปล่อยให้พัฒนาตามเส้นทางของเด็กธรรมดา ไม่มีอะไรต้องเร่งตั้งแต่แรก ถ้าเร่งถูกคนก็รอดตัวไป ถ้าเร่งผิดคนเด็กคนนั้นจะถดถอย การสร้าง EF ขึ้นอยู่กับความใจถึงของพ่อแม่ ยอมให้เสี่ยงเยอะก็สร้างได้เยอะ เพราะมันคือ การกำหนดเป้าหมาย แล้วควบคุมตัวเองเพื่อนำไปสู่เป้าหมาย" นายแพทย์ประเสริฐแนะนำว่า การเล่นและการทำงานบ้าน เป็นต้นทางของการสร้าง EF ที่ดี เพราะการเล่นทำให้ได้ปลดปล่อย ขณะที่การทำงานบ้านไม่ใช่เรื่องสนุก ซึ่งความสามารถที่จะเอาชนะความขี้เกียจและไม่สนุกได้ก็คือ EF ต้องพยายามฝึกให้ได้ก่อนอายุ 7 ขวบ เป็นการสร้างเด็กธรรมดา โดยเมื่อกลับมาถึงบ้านให้ทำงานแล้วค่อยเล่น ให้เจอของไม่สนุกก่อนไปเล่นสนุก นี่คือวิธีสร้าง EFในบ้าน เริ่มได้ตั้งแต่ 3 ขวบไปจนถึงอายุ 18 ปี เพื่อสร้างสมองที่ดี ไม่ได้หมายถึงฉลาด แต่มี สร้าง EF ที่ดี ทำให้เด็กควบคุมตัวเองไปจนกว่าไปถึงเป้าหมาย โดยเป็นผู้กำหนดเอง นี่คือ ส่วนหนึ่งของคำแนะนำถึงวิธีการเลี้ยงเด็กธรรมดา ในศตวรรษที่ 21 ซึ่งโลกเปิดกว้าง เต็มไปด้วยปัจจัยเร้ามากมาย และพ่อแม่ไม่สามารถบังคับลูกได้ ขณะที่เด็กยุคใหม่ต้องการเลือกทางเดินของตัวเอง ดังนั้น การสร้าง EF หรือ ความสามารถของสมองที่ใช้ในการควบคุมความคิด อารมณ์ เพื่อให้ไปถึงเป้าหมายจึงเป็นสิ่งสำคัญในการกำหนดอนาคต สามารถติดตามเทปบันทึกการบรรยายของคุณหมอประเสริฐ "เลี้ยงลูกอย่างไร ให้เป็นเด็กธรรมดาที่มีความสุข" ฉบับเต็ม ได้ที่ TMB Make THE Difference YouTube Channel :https://youtu.be/Qq3Y7itfM0s
แท็ก ธรรมชาติ  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ