“โพธิเธียเตอร์” มหรสพสอนธรรมด้วยดิจิทัลอาร์ต นวัตกรรมเผยแผ่พุทธศาสน์ ผ่านงานพุทธศิลป์ร่วมสมัย สร้างคาแรคเตอร์ใหม่ให้วัดไทยในยุค 5G

ข่าวทั่วไป Tuesday May 21, 2019 16:14 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--21 พ.ค.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ร่วมกับ บริษัท วาย น็อต โซเชี่ยล เอ็นเตอร์ไพร์ส จำกัด โชว์ความสำเร็จจากโครงการนวัตกรรมสำหรับเมืองและชุมชน"โพธิเธียเตอร์" ซึ่งเป็นโครงการด้านนวัตกรรมการใช้ประโยชน์จากพื้นที่โดยออกแบบการใช้พื้นที่เชิงสร้างสรรค์ด้วยการเปลี่ยนพื้นที่ภายในวัด อาทิ โบสถ์ ศาลาการเปรียญ ศูนย์เรียนรู้ ให้กลายเป็นพื้นที่การแสดงธรรมที่ทันสมัยผ่านเทคโนโลยีProjection Mapping ที่เป็นการฉายภาพลงไปบนพื้นผิวต่างๆ ซึ่งไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสถาปัตยกรรมพร้อมนำแสง สี เสียง และ Digital Art 2D – 4D ดนตรีร่วมสมัย มาผสมผสานเป็นเนื้อหาการถ่ายทอดพระธรรมคำสอนที่ทรงคุณค่าทางพระพุทธศาสนา ซึ่งจะช่วยเปลี่ยนการเข้าวัดให้เป็นมากกว่าการกราบไหว้พระ ทำบุญ มาเป็นการฟังธรรมรูปแบบใหม่ และสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นใหม่ เกิดความสนใจและเรียนรู้ธรรมะในระดับที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น นายธวัชชัย แสงธรรมชัย หัวหน้าโครงการ โพธิเธียเตอร์ บริษัท วาย น็อต โซเชี่ยล เอ็นเตอร์ไพร์ส จำกัด กล่าวว่า ในปัจจุบันหากคนรุ่นใหม่จะชวนเพื่อนว่า เสาร์อาทิตย์นี้ไปเที่ยววัดกันคงเป็นสิ่งที่แปลก เพราะวัดไม่เคยมีกิจกรรมที่คนรุ่นนี้รู้สึกว่าเขาเกี่ยวข้องด้วย ในขณะที่พวกเขาไปพิพิธภัณฑ์ได้ ไปร้านกาแฟเก๋ๆ ได้ ไปเดินห้างได้ ทำไมเราไม่ทำให้วัด มันเป็นพื้นที่ที่เขารู้สึกว่ามาใช้เวลาในวันหยุดได้ และได้ข้อคิดอะไรจากพุทธศาสนากลับไปด้วย อันที่จริงแล้วเมื่อศึกษาย้อนกลับไป ก็พบว่าการสร้างวัดให้วิจิตรบรรจง ก็เป็นหนึ่งในหลายๆ วิธีที่คนในอดีตใช้เพื่อดึงดูดให้ผู้คนเข้าวัด จนเป็นที่มาของภาพจิตรกรรมฝาผนัง สถาปัตยกรรมต่างๆ สำหรับเนื้อหาของนิทรรศการนี้ได้ถูกสร้างสรรค์ขึ้นจากการแปลบทสวด 'ชัยมงคลคถา' หรือที่คนไทยเรียกอย่างคุ้นเคยว่าบท 'พาหุง' โดยยึดเอาเนื้อหาสาระเดิมไว้ทั้งหมด แล้วตีความด้วยภาพเคลื่อนไหว (Motion Graphic) และดนตรี ออกมาตามแนวทางศิลปะร่วมสมัย ฉีกภาพลักษณ์เดิมๆ ของพุทธศิลป์ เพื่อฉายลงบนอุโบสถของวัดสุทธิวราราม ด้วยเทคโนโลยี Projection Mapping ที่เป็นการฉายภาพลงไปบนพื้นผิวต่างๆ ซึ่งไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสถาปัตยกรรมทั้งนี้ที่เลือกบทพาหุง เพราะว่าคนไทยคุ้นเคยกับบทนี้ แต่หลายคนอาจยังไม่เข้าใจถึงความหมายที่แท้จริง ซึ่งบทนี้เป็นเรื่องราวชัยชนะของพระพุทธเจ้าทั้งหมดแปดตอน ซึ่งหากเราลดการให้น้ำหนักเกี่ยวกับอิทธิฤทธิ์ปาฎิหารย์ ก็จะพบว่ามีธรรมะซ้อนอยู่ในเนื้อหาของบทสวดนี้ เป็นวิธีการรับมือกับอุปสรรคในชีวิตประจำวันและการรับมือกับคนหลายๆ รูปแบบ น่าทึ่งว่าแม้คำสอนเหล่านี้เกิดขึ้นเมื่อราว 2500 ปีก่อน แต่ยังทรงคุณค่าเหนือกาลเวลา สิ่งที่ได้เรียนรู้จากพระพุทธเจ้าเหล่านี้สามารถนำมาใช้ได้จริงกับทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ทุกอาชีพ" ธวัชชัยกล่าวถึงที่มาของการนำบทสวดพาหุงมาออกแบบเป็นนิทรรศการศิลปะ ด้าน นายปานปอง วงศ์สิรสวัสดิ์ ผู้กำกับศิลป์ของโครงการ กล่าวว่า ศิลปะกับศาสนามีพัฒนาการกันมาตามยุคสมัยตลอด ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นเปลือกทั้งสิ้น เป็นการนำเอาศิลปะมาห่อหุ้มคำสอนไว้ อย่างรูปปั้นพระพุทธรูป ก็ไม่เคยมีในสมัยพุทธกาล มาปรากฏเมื่อตอนที่พระเจ้าอโศกมหาราช นำวัฒนธรรมจากกรีกมาถึงอินเดีย นอกจากนี้ก็ยังมีการศึกษาอีกมากมายที่ทำให้เราได้ข้อสรุปในลักษณะเดียวกัน เราจึงเชื่อว่าเปลือกที่อยู่ภายนอกของพุทธศาสนานั้นเปลี่ยนได้ และควรต้องเปลี่ยนให้ร่วมสมัย ไม่ควรจะไปยึดถือกันแค่ที่เปลือก แต่ทำยังไงให้เราเข้าถึงคำสอนที่เป็นแก่นด้านในได้จริงๆ ดังนั้น การออกแบบทั้งหมดของโพธิเธียเตอร์จึงเอาแก่นแท้ของบทสวดมาตั้งต้น แต่ไม่เอาแนวทางของพุทธศิลป์ที่เราคุ้นเคยกันมาใช้ ด้วยต้องการตีความคำสอนให้เป็นภาพใหม่ เพื่อให้คนที่ได้ดูเข้าถึงคำสอน โดยไม่ติดที่ศิลปะที่เป็นเปลือกภายนอก เสมือนว่าเราแค่เปลี่ยนเสื้อผ้า แต่ไม่ได้เปลี่ยนตัวตนของผู้สวมใส่ ขณะที่ ท่านเจ้าคุณพระสุธีรัตนบัณฑิต ( สุทิตย์ อาภากโร ร.ศ.ด.ร. ป.ธ.๗ ) เจ้าอาวาสวัดสุทธิวราราม กล่าวถึงนิทรรศการนี้ว่า ทางวัดสุทธิวรารามมีแนวคิดหาทางส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่เข้าวัดมากขึ้น และศิลปะสมัยใหม่แบบนี้ก็เป็นกิจกรรมหนึ่งที่ทำให้วัดเปิดกว้างเข้ากับคนทุกกลุ่มได้มากขึ้น ทั้งนี้ก่อนที่จะเริ่มการจัดนิทรรศการดังกล่าว ได้มีการสอบถาม และหารือหลายฝ่ายถึงความเหมาะสมแล้ว ยืนยันว่าการใช้พื้นที่ในโบสถ์จัดแสดงนิทรรศการดิจิทัลดังกล่าว ไม่ผิดตามหลักพระธรรมวินัย ดังนั้น วัดสุทธิฯ จึงมีความยินดีอย่างมากหากจะมีวัดใดนำแนวคิดเดียวกันนี้ไปทำขยายผล เพราะไม่ได้เป็นลิขสิทธิ์ ยิ่งมีคนมาสนใจเข้าวัดมากขึ้น มีคนเข้าใจเข้าถึงคำสอนในพุทธศาสนามากยิ่งขึ้น ถือเป็นหน้าที่ในฐานะสงฆ์ในการเผยแพร่พระพุทธศาสนา ทั้งนี้ 'โพธิ เธียร์เตอร์, แก่นเดิม เปลือกใหม่ ของพุทธศาสน์' นิทรรศการดิจิทัลครั้งแรกในอุโบสถวัด จะจัดขึ้นตั้งแต่วิสาขบูชา ในวันที่ 18 พฤษภาคม และจัดฉายทุกๆ วันเสาร์และอาทิตย์ 7 รอบต่อวัน ไปจนถึงวันที่ 9 มิถุนายนนี้ ที่วัดสุทธิวราราม โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆในการเข้าชม ผู้ที่สนใจสามารถจองตั๋วได้ที่ www.BodhiTheater.com
แท็ก นวัตกรรม  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ