ปภ.แนะประชาชนเรียนรู้ - ตรวจสอบระบบป้องกันและระงับอัคคีภัย...ลดเสี่ยงอันตรายจากเพลิงไหม้

ข่าวทั่วไป Tuesday June 4, 2019 10:41 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--4 มิ.ย.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แนะวิธีตรวจสอบระบบป้องกันและระงับเพลิงไหม้ โดยติดตั้งแผงแผงผังอาคารรวมบริเวณชั้นล่าง ติดตั้งป้ายบอกทางหนีไฟให้ชัดเจน ติดตั้งถังดับเพลิง ในจุดที่สังเกตเห็นได้ง่าย ติดตั้งประตูทางออกฉุกเฉินในลักษณะผลักเข้าสู่ด้านในของบันไดหนีไฟ และต้องมีบันไดหนีไฟอย่างน้อย 2 แห่ง ติดตั้งอุปกรณ์ดับเพลิงอัตโนมัติทุกชั้นของอาคาร ระบบสัญญาณเตือนเพลิงไหม้ต้องอยู่ในสภาพ พร้อมใช้งานอยู่เสมอ รวมถึงระบบไฟฟ้าสำรองต้องแยกจากระบบไฟฟ้าอื่นภายในอาคาร เพื่อให้สามารถทำงานได้ทันที ที่เกิดเพลิงไหม้และไฟฟ้าดับ นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า อาคารสูงและอาคารขนาดใหญ่มักมีผู้อยู่อาศัยจำนวนมาก ประกอบกับพื้นที่ใช้งานกว้างขวางและความสูงของอาคาร จึงต้องมีระบบป้องกันและระงับอัคคีภัย ที่มีประสิทธิภาพ เพื่อความปลอดภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ขอแนะวิธีตรวจสอบ ระบบป้องกันและระงับเพลิงไหม้ ดังนี้ แผงผังอาคาร ควรติดตั้งผังอาคารรวมบริเวณชั้นล่าง และผังอาคารของแต่ละชั้นในทุกชั้น ซึ่งแสดงตำแหน่งที่อยู่ อุปกรณ์ดับเพลิง เส้นทางหนีไฟ และประตูทางออกฉุกเฉิน ป้ายบอกเส้นทางหนีไฟ ติดตั้งในบริเวณ ที่มองเห็นชัดเจน และมีไฟส่องสว่างนำไปสู่ทางออกจากอาคาร ถังดับเพลิง อยู่ในสภาพสมบูรณ์ โดยติดตั้งถังดับเพลิง ในจุดที่สังเกตเห็นได้ง่ายและหยิบใช้งานได้สะดวก ประตูทางออกฉุกเฉิน บานประตูและผนังโดยรอบประตูต้องเป็นวัสดุทนไฟ โดยติดตั้งในลักษณะผลักเข้าสู่ด้านในของบันไดหนีไฟ กรณีเป็นประตูทางออกชั้นล่างสุดหรือดาดฟ้าต้องติดตั้งในลักษณะผลักออก บันไดหนีไฟ ต้องมีอย่างน้อย 2 แห่ง ในตำแหน่งที่สามารถหาได้ง่าย ไม่วางสิ่งของและวัสดุติดไฟง่ายกีดขวางบริเวณทางเดินของบันไดหนีไฟ อีกทั้งมีช่องหน้าต่างระบายควัน อุปกรณ์ดับเพลิงอัตโนมัติ โดยทุกชั้นของอาคารต้องติดตั้งระบบดับเพลิงอัตโนมัติ เพื่อควบคุมเพลิงในเบื้องต้น พร้อมตรวจสอบให้อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ดี ระบบสัญญาณเตือนเพลิงไหม้ ต้องอยู่ในสภาพ พร้อมใช้งาน ทั้งกริ่งสัญญาณเตือนเพลิงไหม้ อุปกรณ์ดักจับควันหรือความร้อน และระบบเตือนภัยฉุกเฉินที่ส่งสัญญาณ ในลักษณะแสงหรือควัน ระบบไฟฟ้าสำรองฉุกเฉิน ต้องแยกออกจากระบบไฟฟ้าอื่นภายในอาคาร เพื่อให้สามารถทำงาน ได้ทันทีที่เกิดเพลิงไหม้และไฟดับ โดยไฟสำรองต้องจ่ายไฟได้นานกว่า 2 ชั่วโมง ทั้งการส่องสว่างในเส้นทางหนีไฟ เครื่องสูบน้ำ ลิฟต์ดับเพลิง และระบบสื่อสาร ทั้งนี้ การเรียนรู้และตรวจสอบระบบป้องกันและระงับอัคคีภัยอยู่เสมอ จะช่วยให้การดำเนินชีวิตเป็นไปด้วยความปลอดภัย ห่างไกลอันตรายจากเพลิงไหม้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ