(ต่อ1) ข้อเสนอแนวทางพัฒนาการสร้างความตระหนัก ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในประเทศไทย

ข่าวเทคโนโลยี Tuesday April 19, 2005 16:09 —ThaiPR.net

- กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ควรจัดตั้งศูนย์ข่าววิทยาศาสตร์ คล้าย SMC ของอังกฤษเพื่อให้ข้อมูลด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทั้งในประเทศและนอกประเทศแก่นักข่าวได้ทันเหตุการณ์ เช่น เมื่อเกิดคลื่นยักษ์ สึนามิ หรือไข้หวัดนก เป็นต้น เพื่อให้สอดคล้องกับคำขวัญ “วิทยาศาสตร์มีคำตอบ”
- เนื่องจากองค์กรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จำนวนมาก เช่น สวทช. สกว. และกระทรวงต่าง ๆ มีฐานข้อมูลนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญสาขาต่าง ๆ อยู่แล้ว จึงอาจสร้างระบบเครือข่ายข้อมูลและระบบการให้บริการดังกล่าว เป็นศูนย์ข่าววิทยาศาสตร์ได้ไม่ยาก โดยอาจให้สำนักหอสมุด กรมวิทยาศาสตร์บริการ ซึ่งมีนักวิทยาศาสตร์ที่เชี่ยวชาญด้านข้อมูลวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกว่า 20 คน ช่วยงานได้ถ้ามีนโยบายและงบประมาณที่เหมาะสม
14. นโยบายของรัฐด้านการสร้างความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นสิ่งสำคัญ
จากสำรวจประเทศต่าง ๆ พบว่าหลายประเทศ มีการดำเนินการในการสร้างความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างจริงจังมานานแล้ว เช่น ออสเตรเลีย (2532) มีโครงการ Science and Technology Awareness Program (STAP) สหราชอาณาจักร (2536) มีนโยบายส่งเสริม Public Understanding of Science (PUS) และเกาหลี ได้ให้การทุ่มเทด้านนี้มาตั้งแต่เริ่มตั้งกระทรวงวิทยาศาสตร์เมื่อปี 2510 และประเทศในกลุ่มอาเซียน เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ก็มีนโยบายด้านนี้ทุกประเทศ
ประเทศไทยนั้น หลังจากตั้งกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เมื่อปี 2525 จนปัจจุบันเป็นระยะเวลากว่า 25 ปีแล้วเพิ่งจะมีกลยุทธ์ที่ 4 และการดำเนินการอย่างจริงจังด้านการสร้างความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเมื่อปี 2547 นี้ จึงมีข้อเสนอแนะดังนี้
- รัฐบาล โดยคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ควรให้ความสำคัญแก่กลยุทธ์ที่ 4 อย่างจริงจัง เพื่อวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศจะได้ก้าวหน้า เป็นต้นทุน (asset) ในการแข่งขันแทนที่จะเป็นตัวถ่วงดังเช่นในปัจจุบัน ซึ่งดูได้จากการจัดอันดับของ IMD
-ควรจะต้องพิจารณานำผลการวิจัยในด้านความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปปรับปรุงเป้าหมายมาตรการและองค์ประกอบของอนุกรรมการ การสร้างความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีตามเหมาะสม
- กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ สวทช. ควรกำหนดให้ส่วนราชการหรือส่วนงานที่รับผิดชอบงานด้านการสร้างความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นงานประจำเพื่อร่วมเป็นฝ่ายเลขานุการของคณะอนุกรรมการสร้างความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และดำเนินการด้านงบประมาณและประสานงานการดำเนินการต่าง ๆ ตามมติของคณะอนุกรรมการ
- สวทช. สกว. วช. หน่วยราชการ รัฐวิสาหกิจและภาคเอกชน ควรรับทราบและให้ความร่วมมือในการดำเนินการในโครงการ สตวท. ให้บรรลุเป้าหมาย
15. ควรมีการสำรวจระดับความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ประเทศต่าง ๆ จะสำรวจระดับความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในกลุ่มประชากรเป้าหมายต่าง ๆ เป็นประจำ เช่น OECD (องค์กรของ UN) จะสำรวจ Science Literacy ของประเทศต่าง ๆ ในปี 2549 มีรายงานปี 2543 เปรียบเทียบ Basic Science Literacy ของ 5 ประเทศ ซึ่งสหรัฐอเมริกา (12%) สูงสุด และจีน 1.4 % ต่ำสุด ซึ่งจีนได้นำข้อมูลนี้ ไปพิจารณาจัดตั้งสถานีโทรทัศน์ขึ้นใหม่เพื่อเผยแพร่ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแก่ประชาชน ประเทศไทยจึงควรจะมีการสำรวจบ้างเล็กน้อยแต่ยังไม่สามารถใช้เป็นดัชนีชี้วัดของประเทศได้ มีข้อเสนอแนะว่า
- ประเทศไทยควรทำการสำรวจ Basic Science Literacy ที่ได้มาตรฐานสากลเพื่อจะได้ทราบข้อมูลระดับความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ โดยข้อมูลดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ในการวางแผนและดำเนินกิจกรรม สตวท.
- ควรจะเชิญผู้เชี่ยวชาญมาให้ความรู้ด้านวิธีการสำรวจ Science Literarcy หรือส่งผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบเรื่องนี้ไปศึกษาการดำเนินงานในต่างประเทศ
กล่าวโดยสรุปสถานภาพการสร้างความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทยในปัจจุบันมีสถานภาพ 5 ประการ คือ
1) มีการดำเนินกิจกรรมด้านการสร้างความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอยู่บ้าง แต่ยังไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจน
2) การดำเนินกิจกรรมเป็นแบบปัจเจก จึงได้ผลในวงแคบ
3) ยังขาดกิจกรรมพิเศษบางอย่างที่จะช่วยส่งเสริมการพัฒนาด้านการสร้างความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้สามารถดำเนินไปสู่เป้าหมายคือประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ
4) ยังไม่มีการประเมินอย่างเป็นระบบ อย่างต่อเนื่องโดยคำนึงถึงความตรงเป้าหมาย
5) ยังไม่มีระบบและองค์กรรับผิดชอบด้านการสร้างความตระหนักทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ให้ดำเนินไปอย่างมีเอกภาพและยั่งยืน
จะเห็นได้ว่า การสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Science Awareness) เป็นการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปสู่ประชาชน เป็นคำที่มีความหมายมาก เพราะจะเป็นการสื่อสารและถ่ายทอดความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้เด็กนักเรียนและคนทั่วไปในสังคม ได้มีความเข้าใจข้อมูลข่าวสารและความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์มากยิ่งขึ้นซึ่งจะเป็นแนวทางในการสร้างจิตสำนึก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นการปลูกจิตสำนึกทางด้านวิทยาศาสตร์ให้แก่เยาวชนว่า “วิทยาศาสตร์” เป็นเรื่องสำคัญมีผลกระทบตอ่การดำเนินชีวิตของผู้คนในยุคปัจจุบันและอนาคต ดังนั้นหากนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปประยุกต์ใช้ก็จะช่วยให้เกิดความเจริญก้าวหน้าในการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนากำลังคนทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งเป็นกลไกขับเคลื่อนให้เกิดสังคมวิทยาศาสตร์ที่ดีช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดียิ่งขึ้นของผู้คนในสังคมนั่นเอง
คณะผู้วิจัยโครงการสร้างความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์
รศ.ดร.กำจัด มงคลกุล หัวหน้าโครงการ
ผศ.ดร.สุกัญญา สุนทรส รองหัวหน้าโครงการ
บำรุง ไตรมนตรี นักวิจัย
รุ่งนภา ทัดท่าทราย นักวิจัย
สุรเชษฐ พิทยาพิบูลพงศ์ ผู้ช่วยนักวิจัย
สุพัตรา ตีบจันทร์ ผู้ช่วยนักวิจัย
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ