ยิ่งขับเร็ว ยิ่งเพิ่มความสูญเสีย: แนวทางบริหารจัดการความเร็วในพื้นที่ชุมชน เขตลาดกระบัง

ข่าวทั่วไป Friday June 21, 2019 14:48 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--21 มิ.ย.--มูลนิธิบลูมเบิร์กเพื่อสาธารณประโยชน์ จากรายงานสถานการณ์โลกด้านความปลอดภัยทางถนน พ.ศ. 2561 (Global Status Report on Road Safety 2018) โดยองค์การอนามัยโลก พบว่า ในแต่ละปี มีจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุการจราจรทางถนนทั่วโลก มากถึง 1.35 ล้านคน โดยอุบัติเหตุการจราจรทางถนนเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 8 ของประชากรทุกวัย และเป็นสาเหตุอันดับ 1 ของการเสียชีวิตของเด็กและประชากรในช่วงอายุ 5-29 ปี ทั้งนี้มากกว่าครึ่งของจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุการจราจรทางถนนทั่วโลก เกิดขึ้นกับกลุ่มผู้ที่มีความเปราะบางในการสัญจร ได้แก่ คนเดินเท้า คนขี่จักรยาน และคนขี่จักรยานยนต์ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า "การใช้ความเร็ว" เป็นการเพิ่มโอกาสการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนและเพิ่มความรุนแรงของการสูญเสียหากเกิดอุบัติเหตุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตชุมชนที่มีคนอาศัยและมีการสัญจรที่หนาแน่น เพราะการขับขี่ด้วยความเร็วที่สูงขึ้น ย่อมจะทำให้รถมีความสามารถในการเคลื่อนที่ที่สูงขึ้นตาม ดังนั้นจึงต้องใช้ระยะในการหยุดรถที่เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน อีกทั้งในระยะหยุดช่วงแรกนั้น ยังมีส่วนของระยะหยุดรถ ที่เกิดจากการรับรู้และการตอบสนองจากผู้ขับขี่เข้ามาเกี่ยวข้องอีกด้วย นายธนันท์ชัย เมฆประเสริฐวนิช ผู้อำนวยการกองนโยบายและแผนงาน สำนักการจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร ให้ข้อมูลว่า "จากรายงานสถิติอุบัติเหตุทางถนนของเว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลอุบัติเหตุ Thai RSC ระหว่างปี 2556-2559 พบว่า พื้นที่ลาดกระบัง เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีรายงานจำนวนผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุสูง และมีจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนมากที่สุด สำนักการจราจรและขนส่ง จึงร่วมมือกับภาคีเครือข่ายด้านความปลอดภัยทางถนน ในการดำเนินกิจกรรมเพื่อลดจำนวนผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บบนท้องถนน และเพิ่มความปลอดภัยในการเดินทางสัญจรในเขตพื้นที่ลาดกระบัง ซึ่งหนึ่งในกิจกรรมที่ดำเนินการจากคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางถนนจากสถาบันทรัพยากรโลก (World Resources Institute) และเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ คือ การติดตั้งชุดคันพลาสติกแบ่งช่องการจราจร หรือ Lane Block และแผงกั้นจราจรชนิดบรรจุน้ำได้ หรือ Plastic Barriers บริเวณถนนฉลองกรุง ซอย 1 จำนวน 3 จุด บริเวณก่อนถึงทางข้าม และบริเวณก่อนถึงประตูทางเข้ามหาวิทยาลัย โดยได้รับการสนับสนุนจากโครงการความคิดริเริ่มเพื่อความปลอดภัยทางถนนทั่วโลก ภายใต้มูลนิธิบลูมเบิร์กเพื่อสาธารณประโยชน์ (Bloomberg Philanthropies Initiative for Global Road Safety: BIGRS) ซึ่งทำงานด้านความปลอดภัยทางถนนร่วมกับกรุงเทพมหานคร" "ถนนลาดกระบังโดยเฉพาะบริเวณซอยฉลองกรุง 1 ตั้งอยู่ในเขตชุมชนขนาดใหญ่ รายล้อมด้วยสถานศึกษาหลายแห่งทั้งโรงเรียนและมหาวิทยาลัย แต่เดิมกายภาพของถนนบริเวณนี้ เป็นถนนสี่เลนกว้างประมาณ 8 เมตร ไม่มีเกาะกลางถนน ซึ่งทำให้มีปัญหาอุบัติเหตุจำนวนมากจากพฤติกรรมของผู้ขับขี่ซึ่งขับขี่อย่างไม่ระมัดระวัง โดยเฉพาะการเปลี่ยนเลนกะทันหัน การกลับรถไม่เป็นที่ และมีปัญหาการใช้ความเร็ว เนื่องจากความกว้างของช่องจราจรไม่เหมาะสม" ร.ต.อ. สมนึก แสงแก้ว รอง สวป. ช่วยงานจราจร สถานีตำรวจนครบาลจรเข้น้อย เล่าประสบการณ์ที่ตนเองดูแลงานจราจรมาเป็นเวลาสามปีในพื้นที่ลาดกระบัง "จนกระทั่งเมื่อสองปีก่อน เจ้าหน้าที่จากโครงการความคิดริเริ่มเพื่อความปลอดภัยทางถนนทั่วโลก ภายใต้มูลนิธิบลูมเบิร์ก เพื่อสาธารณประโยชน์ ซึ่งทำงานร่วมกับสำนักการจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร และภาคีเครือข่ายความปลอดภัยทางถนน ได้เข้ามาหารือเรื่องแนวทางการเพิ่มความปลอดภัยในการสัญจรให้กับผู้ใช้รถใช้ถนนรวมถึงคนเดินเท้า เจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่จึงแนะนำให้ติดตั้งชุดคันพลาสติกแบ่งช่องการจราจร หรือ Lane Block ความยาว 65 เมตร และแผงกั้นจราจรชนิดบรรจุน้ำได้ หรือ Plastic Barriers จำนวน 27 ชิ้น ตามแบบมาตรฐานของกรุงเทพมหานคร เพื่อทำให้ความกว้างของถนนแคบลง รถจึงต้องชะลอความเร็วเมื่อขับผ่านบริเวณดังกล่าว นอกจากนี้ยังเป็นการเพิ่มความปลอดภัยทางถนนให้กับผู้เดินเท้า เนื่องจากได้ติดตั้งอุปกรณ์บริเวณก่อนถึงทางม้าลาย และประตูทางเข้ามหาวิทยาลัย ซึ่งภายหลังการติดตั้งพบว่าสถิติการเกิดอุบัติเหตุลดลงอย่างมาก" ร.ต.อ. สมนึก กล่าวเสริม นายธนันท์ชัย เมฆประเสริฐวนิช ผู้อำนวยการกองนโยบายและแผนงาน สำนักการจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า "วิธีการลดความเร็วในเชิงวิศวกรรมจราจรนั้นสามารถทำได้หลายวิธี ซึ่งจะพิจารณาจากลักษณะกายภาพของถนน เช่น ความกว้างของผิวการจราจรในบริเวณดังกล่าว การติดตั้ง lane block และ plastic barriers เพื่อลดความกว้างของช่องจราจรและชะลอความเร็ว เป็นหนึ่งในวิธีที่ใช้กันทั่วไป ซึ่งการเลือกใช้วัสดุเป็นแบบพลาสติกก็เพื่อความปลอดภัย เนื่องจากมีสีที่เห็นได้ชัดและช่วยรองรับแรงกระแทกได้ดีกว่าหากเกิดการชน นอกจากนี้สำนักการจราจรและขนส่ง ยังได้เข้ามาดูแลในเรื่องการติดตั้งป้ายจราจร การตีเส้นจราจร เช่น เส้นชะลอความเร็ว เส้นซิกแซกก่อนถึงทางม้าลาย ทั้งนี้การดูแลเรื่องความปลอดภัยทางถนน เป็นหนึ่งในหน้าที่ของสำนักการจราจรและขนส่ง โดยมีการจัดตั้งศูนย์ความปลอดภัยทางถนนในระดับเขตทั้ง 50 สำนักงานเขต เพื่อทำงานในระดับชุมชน รวมถึงการสำรวจจุดเสี่ยงบริเวณถนนสายหลักและสายรอง เพื่อนำไปสู่การวางแผนแก้ไขปรับปรุง ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของกรุงเทพมหานครในเรื่องมหานครปลอดภัย ที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครให้ความสำคัญในการลดอุบัติเหตุทางถนน นอกจากการปรับปรุงความปลอดภัยทางถนนด้านกายภาพแล้ว สำนักการจราจรและขนส่ง กทม. ยังทำงานร่วมกับองค์กรไวทัล สแตรทีจีส์ (Vital Strategies) ในการรณรงค์ให้ประชาชนมีจิตสาธารณะในการใช้รถใช้ถนน โดยในปี 2562 นี้ ได้จัดทำสื่อและคลิปรณรงค์ ยิ่งขับเร็ว ยิ่งเพิ่มความสูญเสีย เผยแพร่ทั้งสื่อโทรทัศน์ วิทยุ สื่อออนไลน์ สื่อของกรุงเทพมหานครและกองบัญชาการตำรวจนครบาล เนื่องจากการขับรถเร็วเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของการเกิดอุบัติเหตุในกรุงเทพมหานครตลอดทั้งปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเทศกาล" น้องนาย น้องเนคไท และน้องเค้ก นักศึกษาชั้นปีที่ 1 คณะวิทยาศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง ยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า การติดตั้ง lane block และ plastic barriers ช่วยทำให้การข้ามถนนปลอดภัยขึ้น เพราะ lane block และ plastic barriers ได้ติดตั้งก่อนถึงทางม้าลายและประตูทางเข้ามหาวิทยาลัย ทำให้รถชะลอความเร็ว นอกจากนี้ยังฝากทิ้งท้ายว่า ความปลอดภัยทางถนนไม่ใช่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นหน้าที่ของเราทุกคนที่จะเคารพกฎจราจร ปฏิบัติตามกฎหมาย และมีน้ำใจต่อเพื่อนร่วมทาง และนี่คือหนึ่งในแนวทางการเพิ่มความปลอดภัยทางถนนให้กับทั้งผู้ขับขี่และคนเดินเท้าในเขตชุมชน สนับสนุนโดยโครงการความคิดริเริ่มเพื่อความปลอดภัยทางถนนทั่วโลก ภายใต้มูลนิธิบลูมเบิร์กเพื่อสาธารณประโยชน์ ซึ่งทำงานอย่างบูรณาการร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สำนักการจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร และภาคีเครือข่ายด้านความปลอดภัยทางถนน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ