กสอ. พร้อมเดินหน้าเชื่อมโยงศูนย์ ITC 4.0 ผลิตสารสกัดกัญชาตามกรอบกฎหมาย

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 24, 2019 15:54 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 มิ.ย.--กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ชี้แจงความคืบหน้าการศึกษากัญชาเพื่ออุตสาหกรรม ประสานพลังจากผู้เชี่ยวชาญทุกภาคส่วนเตรียมความพร้อมผลิตสารสกัดกัญชา ยืนยัน พร้อมสนับสนุนเครื่องมือ หลังมีกฎหมายรองรับชัดเจน ขณะที่ความคืบหน้าการจัดตั้งศูนย์ ITC 4.0 ปัจจุบันเปิดให้บริการครอบคลุมทั่วประเทศ 105 ศูนย์ ตั้งเป้าปี 64 มีผู้รับบริการ 5 หมื่นคน ก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ 5 หมื่นล้านบาท นายจารุพันธุ์ จารโยภาส รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวถึงความคืบหน้าการดำเนินงานของคณะทำงานขับเคลื่อนแผนพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพกลุ่มกัญชาและสมุนไพรที่ได้มีการประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่องว่า ล่าสุดที่ประชุมได้เชิญผู้เชี่ยวชาญจากทั้ง สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คณะเทคโนโลยีชีวภาพ มหาวิทยาลัยรังสิต ผู้เชี่ยวชาญสมุนไพรของสหประชาชาติ เจ้าหน้าที่จากโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร สถาบันโรคผิวหนัง สถาบันมะเร็งแห่งชาติ ซึ่งได้มีการหารือแนวทางการส่งเสริมและพัฒนาพืชกัญชากลางทาง โดยบทบาทของกระทรวงอุตสาหกรรมในการส่งเสริมและพัฒนาพืชกัญชา แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ 1) กลุ่มวิสาหกิจ 2) SMEs ในส่วนนี้มีเรื่องกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้อง กระทรวงอุตสาหกรรมจึงเตรียมความพร้อมในเรื่องการผลิตสารสกัดกัญชา แต่อย่างไรก็ตาม กระทรวงอุตสาหกรรมไม่ได้มีองค์ความรู้ทั้งกระบวนการ จึงต้องขอความร่วมมือกับหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญในแต่ละด้าน เพื่อนำมาขับเคลื่อนการทำงานของคณะทำงาน ทั้งนี้ ในเบื้องต้นหากสามารถเชื่อมโยงการทำงานร่วมกับโรงพยาบาลที่ต้องการผลิตสารสกัดกัญชา ทางกระทรวงอุตสาหกรรมจะสามารถดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาในด้านการสกัดสารกัญชาได้เพราะมีเครื่องมือ ขณะที่โรงพยาบาลหลายแห่งอาจไม่มีเครื่องสกัด แต่ส่วนการปลูกนั้น เป็นหน้าที่ของโรงพยาบาลที่ต้องกำกับดูแล หลังจากสกัดแล้วส่งสารสกัดให้กับหน่วยงานที่สามารถตรวจสอบความบริสุทธิ์ของสารสกัดเป็นผู้ตรวจสอบอีกครั้ง แต่ต้องอยู่ภายใต้กรอบกฎหมาย "กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม มีความพร้อมในการดำเนินการสนับสนุนด้านการสกัดสารกัญชาทางการแพทย์ เพราะมีเครื่องมือเครื่องใช้ที่ทันสมัย ในศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม 4.0 (Industrial Transformation Center 4.0: ITC 4.0) ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม แต่ทั้งนี้ต้องรอการดำเนินการเรื่องกฎหมายให้มีความถูกต้อง ชัดเจนก่อน" นายจารุพันธุ์กล่าว ด้าน นายภาสกร ชัยรัตน์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมถึงความคืบหน้าการดำเนินงานของศูนย์ ITC 4.0 ว่า ปัจจุบันมีให้บริการจำนวน 105 แห่ง ครอบคลุมทั่วประเทศ ประกอบด้วย ศูนย์ ITC 4.0 ส่วนกลาง 1 แห่ง ศูนย์ ITC 4.0 ส่วนภูมิภาค 12 แห่ง โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ศูนย์ Mini ITC 4.0 จังหวัด โดยสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด 76 แห่ง และเครือข่ายศูนย์ ITC ที่ให้บริการเฉพาะทาง เช่น ITC-SME ศูนย์บริการ SME 13 แห่ง โดยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย CoRE-ITC ศูนย์บริการด้านระบบอัตโนมัติ 1 แห่ง โดยสถาบันไทย-เยอรมัน Food-ITC ศูนย์บริการด้านอาหาร 1 แห่ง โดยสถาบันอาหาร Recycle-ITC ศูนย์บริการด้านการนำของเสียกลับมาใช้ใหม่ 1 แห่ง โดยกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ โดยแต่ละศูนย์ฯ จะประกอบด้วยแพลตฟอร์มบริการ 4 ส่วน ได้แก่ 1) ITC Match ทำหน้าที่เชื่อมโยงสร้างเครือข่ายความร่วมมือจากผู้นำอุตสาหกรรม ทั้งในและนอกประเทศเพื่อสร้างความแข็งแกร่งในการพัฒนาองค์ความรู้กับผู้ประกอบการ 2) ITC Innovate ศูนย์สาธิตและฝึกอบรมร่วมภาครัฐและเอกชน ในการรับและถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ระหว่าง Global Players และ SMEs 3) ITC Share แหล่งรวมบริการเครื่องมือ เครื่องจักร ทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมให้กับผู้ประกอบการ 4) ITC Fund นโยบายสนับสนุนทางการเงินผ่านช่องทางต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน โดยเชื่อมโยงนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งขณะนี้มีผู้เข้ารับบริการศูนย์ ITC 4.0 จำนวนมากกว่า 15,000 ราย ก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจมากกว่า 2,500 ล้านบาท และภายในปี พ.ศ. 2564 ทาง กสอ. มีเป้าหมายที่จะให้ผู้รับบริการเข้าถึงได้ง่าย ตั้งเป้าไว้ 50,000 ราย และคาดว่าจะก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 50,000 ล้านบาท

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ