ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น หลังความตึงเครียดสหรัฐฯ – อิหร่านยืดเยื้อ ขณะที่เจรจาการค้าสหรัฐฯ – จีน มีทิศทางบวก บทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday July 1, 2019 14:20 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--1 ก.ค.--ไทยออยล์ ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 56 – 61 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 62 - 67 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (1 - 5 ก.ค. 62) ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจากความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ กับอิหร่านยังคงยืดเยื้อ และส่งผลต่อปริมาณการผลิตและการส่งออกน้ำมันดิบจากประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลางที่อาจปรับตัวลดลง ประกอบกับ การประชุมของกลุ่มโอเปกและประเทศพันธมิตร (OPEC+) ที่คาดว่าจะมีการขยายระยะเวลาการปรับลดกำลังการผลิตในช่วงครึ่งปีหลังต่อไป ในขณะที่ประธานาธิบดีสีจิ้นผิง และ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เห็นพ้องให้เริ่มการหารือด้านเศรษฐกิจและการค้าระหว่างจีน-สหรัฐฯ ใหม่อีกครั้งบนพื้นฐานของความเท่าเทียมและการเคารพซึ่งกันและกัน ในการประชุมนอกรอบ G20 นอกจากนี้ ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงหนุนจากปริมาณน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะปรับตัวลดลงจากปริมาณการผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯ ที่ปรับตัวลง ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้: ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และอิหร่านทวีความรุนแรงมากขึ้น หลังนายโดนัลด์ ทรัมป์ ลงนามคำสั่งคว่ำบาตรอิหร่านเพิ่มเติม โดยมุ่งเป้าไปที่นายอยาตอลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี ผู้นำสูงสุดของอิหร่านและผู้ใกล้ชิด เนื่องจากสหรัฐฯ ต้องการให้ผู้มีอำนาจสูงสุดของประเทศรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ความไม่สงบแถบบริเวณช่องแคบฮอร์มุซในช่วงที่ผ่านมา โดยภายใต้มาตรการใหม่นี้ จะส่งผลให้ผู้นำสูงสุดของอิหร่านและผู้ใกล้ชิดไม่สามารถทำธุรกรรมทางการเงินกับสหรัฐฯ ได้ และเป็นการตัดช่องทางเข้าถึงแหล่งเงินทุนและทรัพย์สินของผู้นำอิหร่านในสหรัฐฯ ทั้งนี้ความไม่สงบแถบบริเวณช่องแคบฮอร์มุซ สร้างความกังวลต่อตลาด เนื่องจากอาจส่งผลให้ปริมาณการผลิตและการส่งออกน้ำมันดิบจากภูมิภาคตะวันออกกลางปรับตัวลดลง หลายฝ่ายคาดการณ์ว่ากลุ่มโอเปกและประเทศพันธมิตร (OPEC+) จะขยายระยะเวลาในการปรับลดกำลังการผลิตไปจนกระทั่งสิ้นปี 2562 เพื่อรักษาสมดุลตลาด หลังข้อตกลงก่อนหน้านี้จะสิ้นสุดในเดือน มิ.ย. 62 ซึ่งผลสรุปจะเกิดขึ้นในการประชุม ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ในวันที่ 1-2 ก.ค. 62 ตลาดจับตาความคืบหน้าในการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ที่มีแนวโน้มดีขึ้น หลังผลการหารือนอกรอบของผู้นำทั้งสองประเทศในระหว่างการประชุมกลุ่มประเทศเศรษฐกิจใหญ่ของโลกหรือ G20 ในวันที่ 28-29 มิ.ย. ที่ผ่านมา ณ ประเทศญี่ปุ่น ดำเนินไปได้ด้วยดี โดยประธานาธิบดีสี จิ้นผิง และ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เห็นพ้องให้เริ่มการหารือด้านเศรษฐกิจและการค้าระหว่างจีน-สหรัฐฯ ใหม่อีกครั้งบนพื้นฐานของความเท่าเทียมและการเคารพซึ่งกันและกัน หากสงครามการค้าคลี่คลาย จะส่งผลให้เศรษฐกิจโลกดีขึ้นและความต้องการใช้น้ำมันโลกสูงขึ้น ปริมาณน้ำมันดิบสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวลดลง หลังสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์ สิ้นสุดวันที่ 21 มิ.ย. 62 ปรับลดลง 12.8 ล้านบาร์เรล ซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะปรับลดลงเพียง 2.5 ล้านบาร์เรล ไปแตะที่ระดับ 469.6 ล้านบาร์เรล โดยสาเหตุหลักมาจากปริมาณการส่งออกที่ปรับเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 3.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน นอกจากนี้ ปริมาณน้ำมันเบนซินและดีเซลคงคลังสหรัฐฯ ปรับตัวลดลง 1.0 และ 2.4 ล้านบาร์เรล ตามลำดับ ขณะเดียวกัน กำลังการผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวลดลง โดยกำลังการผลิตปรับตัวลดลง 100,000 บาร์เรลต่อวัน ไปอยู่ที่ระดับ 12.10 ล้านบาร์เรลต่อวัน ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีภาคการผลิตสหรัฐฯ เดือน มิ.ย. 62 ดัชนีภาคการบริการสหรัฐฯ เดือน มิ.ย. 62 ดัชนีภาคการผลิตจีนเดือน มิ.ย. 62 และตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรสหรัฐฯ เดือน มิ.ย. 62 สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (24 - 28 มิ.ย. 62) ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้น 1.04 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 58.47 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับเพิ่มขึ้น 0.46 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 64.74 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 64.77 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดยราคาน้ำมันดิบได้รับแรงหนุนจากความกังวลต่อความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ กับอิหร่านที่ทวีความรุนแรงขึ้น หลังสหรัฐฯ ใช้มาตรการคว่ำบาตรครั้งใหม่กับอิหร่าน ซึ่งการคว่ำบาตรครั้งนี้มีเป้าหมายที่ผู้นำสูงสุดของอิหร่าน เพื่อจะลดความคล่องตัวของสถานะการเงินของผู้นำอิหร่าน และป้องกันไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับสินทรัพย์ใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับสหรัฐฯ รวมถึงประเทศที่ทำธุรกิจร่วมกับอิหร่านจะถูกคว่ำบาตรเช่นกัน นอกจากนี้ ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงหนุนจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์ สิ้นสุดวันที่ 21 มิ.ย. 62 ปรับลดลงสูงถึง 12.8 ล้านบาร์เรล ซึ่งลดลงมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ และถือเป็นการปรับตัวลดลงมากที่สุดนับตั้งแต่เดือน ก.ย. 59

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ