วิศวะฯ ธรรมศาสตร์ เปิด 5 นวัตกรรมเด่น ด้านเอไอระดับมาสเตอร์พีซ

ข่าวทั่วไป Monday July 8, 2019 11:43 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 ก.ค.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์ - TSE เตรียมจัดงานใหญ่ในโอกาสครบ 30 ปี แห่งความภูมิใจ TSE เป็นมากกว่าวิศวกร ปัจจุบันความก้าวหน้าด้านวิศวกรรมของไทยเดินทางมาไกลเกินกว่าที่จะจินตนาการได้ จากจุดเริ่มต้นที่ต้องใช้ความพยายามอย่างมากที่จะเรียนรู้วิทยาการสาขาต่างๆ มาสู่ยุคที่เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) กลายเป็นเรื่องใกล้ตัว ซึ่งถูกพัฒนาให้มีความอัจฉริยะมากขึ้น จนถูกขนานนามว่า เป็นเทคโนโลยีที่สามารถเรียนรู้ผู้ใช้งานจากพฤติกรรมการใช้งาน และกลายเป็นเทคโนโลยีพื้นฐานของนวัตกรรมใกล้ตัวมากขึ้น โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TSE) ได้รวบรวมผลงานชิ้นโบว์แดงระดับมาสเตอร์พีซของ TSE ด้านเอไอที่เป็นสุดยอดนวัตกรรมภายในระยะเวลา 30 ปี ดังนี้ "หนูขออ่าน" ตัวช่วยสถานพยาบาล ยกระดับการให้บริการสาธารณสุข ความรวดเร็วและความแม่นยำในการตรวจคัดกรองทางการแพทย์ คือ หัวใจสำคัญที่จะนำไปสู่กระบวนการรักษาที่มีประสิทธิภาพ โดยรองศาสตราจารย์ ดร.จาตุรงค์ ตันติบัณฑิต อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ ได้พัฒนาชุดตรวจคัดกรองผู้มีความบกพร่องในการเรียนรู้ (Learning Disabilities: LD) ด้วยเอไอบนแทปเลตหรือสมาร์ทโฟน เรียกว่า "หนูขออ่าน" ที่สามารถคัดกรองเด็กที่มีความบกพร่องได้ตั้งแต่อายุ 6 ขวบ ซึ่งใช้เวลาตรวจคัดกรองเพียง 30 นาที และได้ผลลัพธ์ที่แม่นยำถึงร้อยละ 95 โดยนวัตกรรมนี้จะมีส่วนสำคัญอย่างมาก ในการช่วยสนับสนุนการปฏิบัติงานในสถานพยาบาลให้มีความคล่องตัว และช่วยเพิ่มโอกาสให้เด็กไทยได้เข้าถึงการดูแลที่เหมาะสม อีกทั้งยังส่งผลต่อการเรียนรู้ของเด็กไทยให้มีพัฒนาการที่สมวัยอีกด้วย ก๊อปเกรดเอสะเทือน แอปพลิเคชันตรวจกระเป๋าแอร์เมส เอไอที่แม่นยำกว่าสายตาของมนุษย์ ถึงแม้หลายประเทศจะมีกฎหมายเอาผิดกับผู้ผลิตสินค้าที่เลียนแบบเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียง แต่กระบวนการผลิตที่ซับซ้อนขึ้น ทำให้ยากต่อการตรวจสอบ และใช้เวลานานกว่าจะรู้ผล จึงเป็นที่มาของการพัฒนาตัวช่วยในการตรวจสอบลักษณะทางกายภาพที่แม่นยำ ที่พัฒนาโดยรองศาสตราจารย์ ดร.จาตุรงค์ ตันติบัณฑิต เช่นกัน โดยนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เข้ามาช่วยจดจำและวิเคราห์ความแตกต่างได้อย่างแม่นยำผ่านแอปพลิเคชั่น โดยใช้โครงข่ายประสาทเทียมเชิงลึก (Deep Neural Network) ในการตรวจจับรูปแบบและริ้วรอยบนโลโก้ของกระเป๋า รวมถึงวัสดุที่ใช้ด้วยวิธีง่ายๆ ใน 2 ขั้นตอน คือ "ถ่ายภาพโลโก้กระเป๋าต้องการตรวจ" แล้ว "กดประมวลผล" ใช้เวลาไม่เกิน 30 วินาที โดยผลงานดังกล่าวได้รับรางวัลเหรียญทองแดง ด้านซอฟแวร์คอมพิวเตอร์จากงาน International Exhibition of Inventions of Geneva ครั้งที่ 44 ณ กรุงเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส แพลตฟอร์มเอไอรางวัลระดับโลก ลดการสูญเสียจากอุบัติเหตุบนท้องถนน จากการที่ประเทศไทยถูกจัดอันดับให้เป็นประเทศที่มีสถิติการเกิดอุบัติเหตุทางถนนมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ทำให้หลายหน่วยงานเร่งหามาตรการควบคุม ขณะเดียวกันผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิศาล แก้วประภา อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ ได้พัฒนาแพลตฟอร์มเอไอ "เอสซิท" (SCIT) ที่สามารถใช้งานได้กับรถยนต์ทุกรุ่น โดยมีระบบแจ้งเตือนพฤติกรรมผู้ขับขี่เมื่อง่วงนอน คุยโทรศัพท์ ขับส่ายไปมา ไม่อยู่บนเส้นทาง ป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ และยังสามารถตรวจจับแรงกระแทกจากการชน ซึ่งจะส่งสัญญาณขอความช่วยเหลืออัตโนมัติทันทีผ่านเทคโนโลยีไอโอที (IoT) เพื่อลดการสูญเสียจากอุบัติเหตุ ทำให้เอสซิทได้รับรางวัลเหรียญทอง ซึ่งเป็นรางวัลสูงสุดจากการประกวดนวัตกรรมนานาชาติ ครั้งที่ 47 ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส โบราณสถานเก่าแก่ สถาปัตยกรรมสำคัญของไทย ให้เอไอช่วยดูแลปัจจุบันเทคโนโลยีโดรนกลายเป็นทางเลือกสำหรับการถ่ายมุมสูง ที่สามารถทำลายอุปสรรคของการถ่ายภาพ เช่น ความสูง ความลาดชัน พื้นที่เสี่ยงอันตราย ซึ่ง ผศ.ดร.กฤษฎา ไชยสาร อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมโยธา ได้นำประสิทธิภาพของโดรนมาต่อยอด ในงานวิศวกรรม โดยนำโดรนมาช่วยสำรวจโครงสร้างของโบราณสถาน ที่ประยุกต์กับความรู้ทางด้านวิศวกรรรมโยธา เพื่อตรวจสอบความแข็งแรง รอยร้าว การเอียง และการทรุด ซึ่งนำภาพที่ได้จากโดรน ไปประมวลผลด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ (Visual Inspection) เพื่อสร้างแบบจำลอง 3 มิติ และนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ มาช่วยตรวจจับความผิดปกติของโครงสร้าง และสร้างแผนที่ความเสียหายได้อัตโนมัติ ซึ่งวิศวกรสามารถนำแบบจำลองที่ได้ ไปตรวจสอบประเมินความเสี่ยงและหาแนวทางปรับปรุงซ่อมแซมต่อไป โดยงานวิจัยดังกล่าว ได้รับรางวัลงานวิจัยดีเด่นจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ปี 2561 อีกด้วยแบบจำลองเอไอคาดการณ์ปริมาณน้ำฝน ช่วยบริหารจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพรากฐานของเศรษฐกิจและสังคมไทย ส่วนใหญ่มาจากภาคเกษตรกรรม ซึ่งต้องพึ่งพาระบบชลประทานที่มีประสิทธิภาพ ดังนั้น การคาดการณ์ปริมาณน้ำฝนที่แม่นยำ จึงมีความสำคัญต่อการวางแผนการเพาะปลูก อีกทั้งการขยายตัวของชุมชนเมืองและภาคอุตสาหกรรม ล้วนส่งผลต่อปริมาณการใช้น้ำ โดย รองศาสตราจารย์ ดร.อุรุยา วีสกุล อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโยธา และคณะ ได้ออกแบบปัญญาประดิษฐ์เพื่อสร้างแบบจำลองการพยากรณ์ฝน ที่สามารถคาดการณ์ปริมาณฝนในแต่ละพื้นที่ได้แบบรายปี ซึ่งนำร่องในพื้นที่ภาคตะวันออก รองรับการเติบโตของอีอีซี ซึ่งพื้นที่กล่าวมีข้อจำกัดคือส่วนใหญ่ยังอยู่นอกระบบชลประทาน มีเพียงอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก ที่อาจจะทำให้มีความเสี่ยงต่อการใช้น้ำในบางช่วงได้ ซึ่งแบบจำลองดังกล่าวจะแสดงผลเป็นปริมาณน้ำฝนเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ย เพื่อนำข้อมูลไปใช้บริหารจัดการน้ำในพื้นที่ โดยได้รับรางวัล Special Prize จากราชอาณาจักรซาอุดิอาระเบีย ในการประกวดนวัตกรรมนานาชาติ ครั้งที่ 47 ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ผลงานวิจัยและนวัตกรรมของ TSE ที่นำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มาประยุกต์ใช้ จนเป็นที่ยอมรับและได้รับการยกย่องจากเวทีการประกวดทั้งในประเทศและระดับนานาชาติ เกิดจากความทุ่มเทและความพยายามของ TSE ที่มุ่งเน้นการนำองค์ความรู้ด้านวิศวกรรมไปใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ ทั้งในแง่ของเศรษฐกิจและสังคม และปีนี้ TSE เตรียมจะจัดงานใหญ่ ในโอกาสครบรอบ 30 ปี ภายใต้แนวคิด "30 ปีแห่งความภูมิใจ TSE เป็นมากกว่าวิศวกร" เพื่อนำเสนอสุดยอดผลงานวิจัยและนวัตกรรมรางวัลระดับโลก รวมถึงการประกาศจุดยืนการผลิตวิศวกรรุ่นใหม่ ที่จะร่วมผลักดันโรดแมปวิศวกรรมเพื่อประชาชน ในวันที่ 19 สิงหาคม 2562 ติดตามข่าวสารและความเคลื่อนไหวกิจกรรมของ TSE ได้ที่ www.engr.tu.ac.th และ Facebook fanpage ของ TSE ที่ www.facebook.com/ENGR.THAMMASAT

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ