นายกรัฐมนตรีตรวจเยี่ยมการฝึก IDMEx 2019 กรณีภัยจากสึนามิ ณ ท่าเทียบเรือน้ำลึกภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต

ข่าวทั่วไป Monday July 8, 2019 14:16 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 ก.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตรวจเยี่ยมการฝึกการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแบบบูรณาการ พ.ศ. 2562 (Integrated Disaster Management Exercise : IDMEx 2019) กรณีภัยจากสึนามิ ด้านการฝึกปฏิบัติ 6 สถานี ในวันที่ 8 กรกฎาคม 2562 ณ ท่าเทียบเรือน้ำลึกภูเก็ต อ่าวมะขาม ตำบลวิชิต อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต โดยเยี่ยมชมการฝึกปฏิบัติด้านการจัดการสาธารณภัยในภาวะฉุกเฉินอย่างเต็มรูปแบบ รวมถึงรับชมนิทรรศการการจัดแสดงเครื่องมือ อุปกรณ์ และเครื่องจักรกลสาธารณภัย ซึ่งการฝึก IDMEx 2019 ครั้งนี้ ถือเป็นการเสริมศักยภาพการจัดการสาธารณภัยของประเทศให้มีประสิทธิภาพตามมาตรฐานสากล รวมถึงสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยจากภัยพิบัติแก่ประชาชนและนักท่องเที่ยว พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เปิดเผยว่า กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย ร่วมกับหน่วยทหาร ฝ่ายพลเรือน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และ 6 จังหวัดชายฝั่งทะเลอันดามันจัดการฝึกการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแบบบูรณาการ พ.ศ. 2562 (Integrated Disaster Management Exercise : IDMEx 2019) กรณีภัยจากสึนามิ ในรูปแบบการฝึกปฏิบัติ 6 สถานี ในระหว่างวันที่ 4 – 8 กรกฎาคม 2562 ณ ท่าเทียบเรือน้ำลึกภูเก็ต อ่าวมะขาม ตำบลวิชิต อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต โดยในวันที่ 8 กรกฎาคม 2562 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานตรวจเยี่ยมการฝึกปฏิบัติด้านการจัดการสาธารณภัยในภาวะฉุกเฉินอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งครอบคลุมทั้งการจัดการศูนย์พักพิงรองรับผู้อพยพ การค้นหา และกู้ภัยการปฏิบัติการทางการแพทย์ การใช้เทคโนโลยีสนับสนุนการสื่อสาร ประสานงาน และสั่งการ การจัดการทรัพยากร และจิตอาสาสนับสนุนการบรรเทาสาธารณภัย รวมถึงรับชมนิทรรศการการจัดแสดงเครื่องมือ อุปกรณ์ และเครื่องจักรกลสาธารณภัย ทั้งนี้ รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับกระบวนการเตรียมความพร้อมและการตอบโต้สถานการณ์ฉุกเฉินที่เป็นระบบและมีเอกภาพ โดยเฉพาะภัยจากสึนามิ ซึ่งเมื่อปี พ.ศ. 2547 พื้นที่ 6 จังหวัดชายฝั่งทะเลอันดามันของประเทศไทยได้รับความเสียหายจากคลื่นสึนามิ ซึ่งสร้างความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก รวมถึงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสภาพจิตใจของประชาชน การฝึก IDMEx 2019 จึงถือเป็นครั้งแรกของการฝึกระดับชาติด้านการเตรียมพร้อมรับมือและเผชิญเหตุสึนามิแบบบูรณาการ โดยมุ่งทดสอบกลไกการปฏิบัติการของกระบวนการแจ้งเตือนภัย การสั่งการแก้ไขปัญหา การเผชิญเหตุและอพยพประชาชน รวมถึงการจัดการผลกระทบจากสึนามิอย่างรอบด้าน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชนและนักท่องเที่ยวในศักยภาพและความพร้อมด้านการจัดการสาธารณภัยของภาครัฐ พลเอก อนุพงษ์ กล่าวถึงการฝึก IDMEx 2019 กรณีภัยจากสึนามิ ว่า การฝึกฯ ในครั้งนี้ เป็นการฝึกการจัดการสาธารณภัยร้ายแรงอย่างยิ่ง (ระดับ 4) โดยจำลองสถานการณ์แผ่นดินไหวใต้ทะเลบริเวณหมู่เกาะนิโคบาร์ และเกิดสึนามิขนาดใหญ่ซัดเข้าชายฝั่งทะเลอันดามันอย่างรุนแรง ส่งผลให้ระบบสื่อสารหลักไม่สามารถใช้งานได้ อาคารบ้านเรือน ระบบสาธารณูปโภค และระบบนิเวศได้รับความเสียหาย รวมถึงประชาชนและนักท่องเที่ยวได้รับบาดเจ็บและสูญหายจำนวนมาก ซึ่งได้จัดการฝึกฯ ในวันที่ 24 มิถุนายน – 8 กรกฎาคม 2562 แบ่งเป็น 3 รูปแบบครอบคลุมทุกภารกิจการจัดการสาธารณภัย ทั้งการฝึกปฏิบัติด้านการแจ้งเตือนภัยและการอพยพประชาชน ณ พื้นที่เสี่ยงภัย 6 จังหวัดชายฝั่งทะเลอันดามัน มุ่งเน้นการทดสอบระบบแจ้งเตือนภัยและซักซ้อมการปฏิบัติตามแผนเผชิญเหตุสึนามิของหน่วยงานในพื้นที่ พร้อมส่งเสริมให้ประชาชนเรียนรู้ทักษะการอพยพหนีภัยอย่างปลอดภัย การฝึกบนโต๊ะ เป็นการเสริมสร้างความเข้าใจถึงภารกิจและหน้าที่ของแต่ละหน่วยงานภายใต้กฎหมายและแผนว่าด้วยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย การฝึกเฉพาะหน้าที่ เป็นการซักซ้อมเชื่อมโยงการสั่งการ อำนวยการ และประสานการปฏิบัติภายใต้การสั่งการและขั้นตอนการปฏิบัติเดียวกัน และการฝึกปฏิบัติ 6 สถานี ณ ท่าเทียบเรือน้ำลึกภูเก็ต อ่าวมะขาม จังหวัดภูเก็ต เป็นการทดสอบความพร้อมด้านบุคลากร เครื่องมืออุปกรณ์ เครื่องจักรกลสาธารณภัย และระบบสื่อสาร รวมถึงบทบาทของจิตอาสาในการเข้ามามีส่วนร่วมด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพื่อให้จัดการในภาวะฉุกเฉินมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งนี้ การฝึก IDMEx 2019 ถือเป็นแนวทางหนึ่งในการส่งเสริมให้หน่วยงานทุกภาคส่วนมีความเข้าใจบทบาทภารกิจ ภายใต้แผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ แผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด และแผนปฏิบัติการเฉพาะด้าน อีกทั้งยังเป็นการค้นหาปัญหาอุปสรรคที่เป็นจุดอ่อน และปัจจัยแห่งความสำเร็จ เพื่อปรับปรุงและพัฒนาแนวทางการจัดการภัยจากสึนามิ รวมถึงเป็นต้นแบบการต่อยอดการจัดการในภาวะฉุกเฉินของประเทศให้มีประสิทธิภาพสูงสุด

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ