ก.แรงงาน เทรนช่างไม้ ต่อยอดออกแบบ 3D และตลาดออนไลน์

ข่าวทั่วไป Monday July 8, 2019 15:06 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 ก.ค.--กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานแพร่ เทรนช่างไม้พื้นบ้าน ต่อยอดออกแบบผลิตภัณฑ์ด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ 3D เสริมทักษะตลาดออนไลน์ รับไทยแลนด์ 4.0 นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า เทคโนโลยีในปัจจุบันพัฒนาไปมาก มีการนำเครื่องจักรทันสมัยมาใช้ในกระบวนการผลิตมากขึ้น เพื่อให้สามารถออกแบบและผลิตสินค้าได้รวดเร็วมากขึ้น สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานแพร่ (สนพ.แพร่) ได้ดำเนินการฝึกหลักสูตรยกระดับฝีมือ สาขางานไม้เฟอร์นิเจอร์ ฝึกโต๊ะ เก้าอี้ ของที่ระลึก (งานสี การประกอบไม้ งานแกะสลัก) สาขาเทคโนโลยีงานไม้ (การออกแบบผลิตภัณฑ์ 2D 2.5D 3D ตลาดออนไลน์ งานแกะสลัก CNC 2D 3D) และสาขาการออกแบบผลิตภัณฑ์ด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เรียนรู้เกี่ยวกับการใช้โปรแกรมออกแบบผลิตภัณฑ์ การสร้างผลิตภัณฑ์แบบจำลอง การเขียนแบบ 2 และ 3 มิติ และการตรวจสอบความถูกต้องของผลงานตามที่ออกแบบ สำหรับเครื่อง CNC (Computer Numerical Control) ส่วนใหญ่จะใช้กับงานไม้และโลหะที่ต้องการความละเอียดและแม่นยำ หรือมีรายละเอียดของงานสูง ก่อให้เกิดความสะดวก รวดเร็ว แม่นยำ และสามารถทำงานในแบบที่ซับซ้อนได้ดี ด้วยระบบมอเตอร์ไฟฟ้าที่ใช้ระบบคอมพิวเตอร์ในการควบคุมมุมต่างๆ ได้อย่างละเอียด ทำให้ชิ้นงานออกมามีคุณภาพสูง นายสุชาติ กล่าวต่อไปว่า จังหวัดแพร่มีชื่อเสียงเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์หัตถกรรมไม้สัก มีฝีมือในเชิงช่างที่คงเอกลักษณ์ศิลปะของชาวล้านนา และทักษะด้านการทำไม้มาเป็นเวลาอันยาวนาน รวมทั้งยังมีศักยภาพสูงในการทำไม้อีกด้วย หากมีการพัฒนาทักษะฝีมือให้ทันต่อเทคโนโลยีสมัยใหม่ จะทำให้ทรัพยากรไม้สักที่มีในท้องถิ่นมีคุณค่ามากยิ่งขึ้น สามารถนำมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ของใช้ในครอบครัว และเป็นสินค้าที่จำหน่ายได้ในราคาที่สูงขึ้น เป็นการช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจของท้องถิ่น เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน ด้านนายสุนทร จันทร์เกตุ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานแพร่ กล่าวเพิ่มเติมว่า จังหวัดแพร่เป็นอีกจังหวัดที่มีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์เฟอร์นิเจอร์ไม้ และเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย จึงได้นำเครื่องมือเครื่องจักรที่มีอยู่มาสนับสนุนการทำไม้สักในรูปแบบต่างๆ ให้สวยงามมากยิ่งขึ้น เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ รวมถึงลดความสูญเสีย และลดการตัดไม้ทำลายป่า ด้วยการยกระดับทักษะฝีมือและนำเทคโนโลยีเข้าใช้ในการผลิต สร้างองค์ความรู้ในด้านพัฒนากระบวนการทำผลิตภัณฑ์ไม้สัก ทั้งเรื่องการออกแบบ ทักษะฝีมือและการจัดการ "การออกแบบผลิตภัณฑ์ให้มีความทันสมัย เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า ด้วยการนำเครื่องจักรกลอัตโนมัติมาประยุกต์ใช้ ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการผลิต และมีศักยภาพในการแข่งขันสูงขึ้นทั้งในและต่างประเทศ สร้างรายได้และความเข้มแข็งให้กับกลุ่มผู้ผลิตชุมชน ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมได้มากขึ้น สำหรับผู้ที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ สายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 4" อธิบดี กพร.กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ