กทม.แนะวิธีป้องกันตนเองและรณรงค์หลัก 3 เก็บ ลดการแพร่ระบาดไข้เลือดออก

ข่าวทั่วไป Monday July 8, 2019 16:22 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 ก.ค.--กรุงเทพมหานคร นายชวินทร์ ศิรินาค ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กทม. เปิดเผยตามที่สื่อมวลชนเสนอสาเหตุการเกิดโรคไข้เลือดออก มาจากเชื้อไวรัสเดงกี่ (Dengue Virus) เมื่อถูกยุงลายกัดแล้ว เชื้อที่อยู่ในน้ำลายยุงจะเข้ากระแสเลือดของผู้ที่ถูกยุงลายกัด หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องทันท่วงทีอาจเสียชีวิตได้ว่า สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในพื้นที่กรุงเทพฯ ณ วันที่ 22 มิถุนายน 2562 มีรายงานผู้ป่วยสะสมทั้งหมด 2,085 ราย มีผู้เสียชีวิต 2 ราย กลุ่มอายุที่มีอัตราป่วยมากที่สุด คือ 5 - 14 ปี เขตที่พบอัตราป่วยสะสมมากที่สุด คือ เขตห้วยขวาง ประกอบกับในขณะนี้มีฝนตกชุก ยุงลายแพร่พันธุ์มากขึ้น ทำให้เสี่ยงต่อการถูกยุงลายที่มีเชื้อโรคไข้เลือดออกกัด และป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกได้สูง ประชาชนต้องป้องกันตนเองไม่ให้ถูกยุงกัด โดยนอนในมุ้งหรือห้องที่มีมุ้งลวด หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่หลบอาศัยของยุงลาย เช่น มุมมืด อับลม สวมเสื้อผ้าให้มิดชิด ไม่รัดรูป จะช่วยลดโอกาสที่ปากยุงจะมาสัมผัสผิวหนัง และควรหลีกเลี่ยงการสวมใส่เสื้อผ้าสีเข้ม เพราะสีเข้มจะดึงดูดยุงมากกว่าสีอ่อน อาบน้ำและรักษาร่างกายให้สะอาด และทายากันยุงในกรณีที่มีความจำเป็น โดยอ่านวิธีใช้ คำเตือนบนฉลาก และต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ กทม. ยังได้รณรงค์ให้ประชาชนร่วมเฝ้าระวัง ป้องกัน และกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย โดยยึดหลัก 3 เก็บ ประกอบด้วย 1) เก็บบ้านให้สะอาด ไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุง 2) เก็บขยะเศษภาชนะไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย เช่น แก้วน้ำพลาสติก กล่องโฟม ขวดน้ำ ยางรถยนต์เก่า ควรเก็บทิ้งหรือทำลายไม่ให้เป็นแหล่งขังน้ำ พร้อมจัดกิจกรรม Big Cleaning ในหมู่บ้าน ชุมชน โรงเรียน สถานที่ต่าง ๆ เป็นประจำ จะช่วยลดจำนวนแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายได้ และ 3) เก็บน้ำ ภาชนะใส่น้ำต้องปิดฝาให้มิดชิดป้องกันไม่ให้ยุงลายวางไข่ ภาชนะใดไม่สามารถปิดได้ ให้หมั่นสำรวจและใส่ทรายกำจัดลูกน้ำ พร้อมกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายในภาชนะที่มีน้ำขังด้วย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ