โปรมูสิกานำเสนอคอนเสิร์ตดนตรีไทยเต็มรูปแบบ บนเวทีดนตรีศรีรัตนโกสินทร์ “THE SOUND OF RATTANAKOSIN” ภายใต้คอนเซปต์ ทศรัชเฉลิมราชย์ (THAI MUSIC OF THE CHAKRI DYNASTY)

ข่าวทั่วไป Monday July 15, 2019 09:34 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--15 ก.ค.--คณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร โปรมูสิกานำเสนอคอนเสิร์ตดนตรีไทยเต็มรูปแบบ บนเวทีดนตรีศรีรัตนโกสินทร์ "THE SOUND OF RATTANAKOSIN" ภายใต้คอนเซปต์ ทศรัชเฉลิมราชย์ (THAI MUSIC OF THE CHAKRI DYNASTY) โดยนำบทเพลงไทยในประวัติศาสตร์กรุงรัตนโกสินทร์ ผ่านห้วงเวลาตลอดสิบรัชสมัย มาบรรเลงให้ฟังกันอย่างจุใจ พบกับวงดนตรีโจงกระเบนเต็มวง ทั้งวงปี่พาทย์ที่ยิ่งใหญ่อลังการ วงมโหรีอันอ่อนช้อยงดงาม การเดี่ยวระนาดเอกแบบวิจิตรพิสดาร การเดี่ยวปี่ในที่เดินลมหายใจอย่างเหนือชั้น และพิเศษสุด วงเครื่องสายฝรั่งโปรมูสิกาจะร่วมบรรเลงด้วยในช่วงท้ายด้วย สุดยอดคอนเสิร์ตดนตรีคุณภาพที่ไม่ควรพลาด! รัชกาลที่ 1 โหมโรงปฐมบรมจักรี : เพลงโหมโรงปฐมจักรี บรรเลงและขับร้องโดยวงปี่พาทย์เครื่องห้า ประพันธ์และเรียบเรียง โดย ร้อยเอกสมนึก แสงอรุณ โดยนำเพลงเก่าโบราณไม่ทราบนามผู้ประพันธ์ คือ เพลงปฐม เพลงนางนาค และเพลงเทพทอง มาเรียบเรียงและประพันธ์เพิ่มเติมขึ้นเป็นเพลงโหมโรง ในลักษณะโหมโรงเพลงชุด เพลงปฐม เป็นเพลงหน้าพาทย์มีความหมายถึงการจัดทัพเตรียมออกรบ ให้มีชัยชนะเหนือศัตรู เพลงนางนาคเป็นเพลงประกอบพิธีเวียนเทียนสมโภชพระราชมณเฑียรมาแต่โบราณและในพิธีการทำขวัญต่างๆ มีความหมายถึงความเจริญรุ่งเรืองวัฒนาฤกษ์ดีมีชัย เพลงเทพทองเป็นเพลงร้องเล่นเฉลิมฉลองของชาวสยามมาแต่โบราณโดยจะเปลี่ยนคำร้องเล่นไปตามเทศกาล บทเพลงโหมโรงปฐมบรมจักรีนี้จึงมีทั้งหมด 3 ท่อน มีความหมายถึงการเริ่มต้นราชวงศ์จักรีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์เป็นปฐมบทแห่งความเจริญรุ่งเรืองแห่งกรุงรัตนโกสินทร์มาจนถึงปัจจุบัน รัชกาลที่ 2 มโหรีพระสุบิน : เพลงบุหลันลอยเลื่อน พระราชนิพนธ์ใน พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศล้านภาลัย บรรเลงด้วยวงมโหรีเครื่องหก (มโหรีโบราณ) เล่ากันว่าเป็นเพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศล้านภาลัยอันเกิดจากพระสุบินนิมิตว่าได้ยินทำนองเพลงพร้อมกับทอดพระเนตรเห็นดวงจันทร์เต็มดวง ทำให้มีชื่อเรียกเพลงนี้หลายชื่อ คือ เพลงทรงพระสุบิน เพลงบุหลันลอยเลื่อน เพลงบุหลันลอยเลื่อนฟ้า เพลงสรรเสริญพระจันทร์ และเพลงสรรเสริญเสือป่า เป็นต้น กล่าวกันว่าในรัชสมัยนี้เป็นยุคทองของดนตรีไทยอีกยุคหนึ่ง ซึ่งรัชกาลที่ 2 ทรงโปรดการทรงซอสามสายอย่างมาก มีซอคู่พระหัตชื่อว่า ซอสายฟ้าฟาด ซึ่งในการบรรเลงครั้งนี้เป็นการเดี่ยวซอสามสายประกอบกับวงมโหรีเครื่องหกหรือที่เรียกว่ามโหรีโบราณ รัชกาลที่ 3 หลายทำนอง สำเนียงถิ่น : เพลงชุดภาษา ทำนองเก่า เรียบเรียงโดย ร้อยเอกสมนึก แสงอรุณ บรรเลงและขับร้องด้วยวงปี่พาทย์ผสมเครื่องสาย ในรัชกาลที่ 3 นี้ เป็นยุคที่การค้าขายเจริญรุ่งเรือง มีการติดต่อค้าขายกับนานาประเทศอย่างกว้างขวาง ทำให้มีการนำเอาสำเนียงภาษา และสำเนียงเพลงของชาติต่างๆ มาประพันธ์เป็นเพลงไทยล้อเลียนสำเนียงเหล่านั้น นิยมเรียกว่าเพลงออกภาษา ต่อมามีการนำเพลงภาษาเหล่านี้มาเรียงร้อยเป็นเพลงชุดเรียกว่า เพลงชุดสิบสองภาษา ในการบรรเลงครั้งนี้ ได้นำเพลงชุดสิบสองภาษามาเรียบเรียงใหม่ บรรเลงในแบบฉบับย่อได้ 6 เพลงภาษา คือ ภาษาจีน เพลงจีนขิมใหญ่ ภาษาแขก เพลงสร้อยเพลงแขก ภาษาลาว เพลงลาวแพน ภาษาเขมร เพลงเขมรเร็ว ภาษาฝรั่ง เพลงฝรั่งยีแฮม (เพลงมาร์ชิ่งทรูจอเจียร์) ภาษาพม่า เพลงพม่าปองเงาะ แสดงให้เห็นถึงความหลากหลายของเชื้อชาติที่อาศัยอยู่ในกรุงรัตนโกสินทร์ในยุคนั้นจนถึงปัจจุบัน รัชกาลที่ 4 แผ่นดินทองดนตรีไทย : เพลงตับเชิด เชิดจีน เชิดนอก เชิดชั้นเดียวประพันธ์โดย พระประดิษฐไพเราะ (มี ดุริยางกูร) บรรเลงด้วยวงปี่พาทย์เครื่องคู่ ในยุครัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ถือเป็นยุคทองอีกยุคหนึ่งของดนตรีกวีศิลป์ ในรัชสมัยนี้มีพระมหากษัตริย์ถึง 2 พระองค์ ที่มีความเมตตาอุปถัมภ์ค้ำชูเหล่าบรรดาศิลปินทุกแขนง ในยุคนี้เองเกิดดุริยกวีคนสำคัญของสยาม คือ พระประดิษฐไพเราะ (มี ดุริยางกูร) ผู้ซึ่งเป็นดุริยกวีเอกคนสำคัญได้ประพันธ์เพลงไทยที่มีชื่อเสียงและเป็นที่นิยมอยู่หลายเพลง หนึ่งในนั้นคือเพลงเชิดจีน ซึ่งเพลงนี้ส่งผลให้ท่านได้เลื่อนยศจากคุณหลวงเป็นคุณพระ อย่างรวดเร็วในเวลาเพียง 1 เดือน ในการบรรเลงครั้งนี้ ได้นำเพลงเชิดจีนของพระประดิษฐไพเราะ (มี ดุริยางกูร) มาร้อยเรียงแล้วบรรเลงต่อท้ายด้วยการเดี่ยวปี่ในเพลงเชิดนอกและรับท้ายด้วยเพลงเชิด ชั้นเดียว ด้วยวงปี่พาทย์ โดยมีการบรรเลงสลับรับส่งกันภายในเพลง รัชกาลที่ 5 เทพบรรทมภิรมย์สุรางค์ เพลงชุดเทพบรรทมภิรมย์สุรางค์ประพันธ์โดย ครูทัต(ไม่ทราบนามสกุล) หลวงประดิษฐ์ไพเราะ(ศร ศิลปบรรเลง) ในสมัยรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าให้ส่งคณะดนตรีและละครจากประเทศสยามไปเจริญสัมพันธไมตรี ณ ประเทศอังกฤษหรือบริเตนใหญ่ในขณะนั้น มีการบรรเลงเพลงถวายสมเด็จพระนางเจ้าวิคตอเรียแห่งประเทศอังกฤษในขณะนั้น เพลงเทพบรรทมและเพลงภิรมย์สุรางค์ ประพันธ์โดย ครูทัต (ไม่ทราบนามสกุล) ซึ่งเป็นนักดนตรีสำคัญในต้นรัชกาลที่ 5 ร้อยเอกสมนึก แสงอรุณ ได้นำเพลงเทพบรรทม สามชั้น มาเรียบเรียงเป็นท่อนนำแล้วจึงต่อด้วยเพลงภิรมย์สุรางค์ สามชั้นท่อนที่ 1 ออกท้ายเพลงด้วยเพลงภิรมย์สุรางค์ ชั้นเดียว ประพันธ์โดย ครูหลวงประดิษฐ์ไพเราะ(ศร ศิลปบรรเลง) แล้วจบท้ายด้วยลูกหมดสำเนียงฝรั่งที่แต่งขึ้นใหม่เป็นพิเศษ เรียกเพลงชุดนี้ว่า "เทพบรรทมภิรมย์สุรางค์" บรรเลงด้วยวงปี่พาทย์ไม้แข็งผสมเครื่องสาย รัชกาลที่ 6 กระทบฝั่ง บังใบ เพลงตับวิวาหพระสมุทร ทำนองเก่า เรียบเรียงโดย ร้อยเอกสมนึก แสงอรุณ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระปรีชาสามารถในด้านการละครและการประพันธ์ ทรงพระราชนิพนธ์บทละครและบทร้องไว้มากมายเป็นที่นิยมนำไปร้องเล่นกันอย่างแพร่หลาย กล่าวได้ว่าเป็นยุครุ่งเรืองของการละครและการดนตรี ละครเรื่องวิวาหพระสมุทร เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ได้รับความนิยมอย่างมากในสมัยนั้น นักดนตรีนิยมนำเพลงคลื่นกระทบฝั่ง เพลงบังใบ และเพลงแขกสาหร่าย ซึ่งอยู่ในตอนหนึ่งของบทละครเรื่องวิวาหพระสมุทร มาบรรเลงและขับร้องเป็นเพลงตับเพื่อการฟังโดยไม่มีละครแสดงเรียกว่าเพลงตับวิวาหพระสมุทร ในการบรรเลงครั้งนี้ ได้เรียบเรียงให้ดนตรีไทยบรรเลงพร้อมกับวงเครื่องสายตะวันตก บรรเลงและขับร้องด้วยวงมโหรีผสมเครื่องสายตะวันตก รัชกาลที่ 7 ประดับดาวในดวงใจ เพลงราตรีประดับดาว พระราชนิพนธ์ใน พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงโปรดดนตรีไทยมาก และทรงมีพระปรีชาสามารถในการบรรเลงซออู้ ทรงพระราชนิพนธ์เพลงไทยไว้หลายเพลง เพลงราตรีประดับดาว คือเพลงพระราชนิพนธ์ที่นำเอาเพลงมอญดูดาวสองชั้นมาแต่งขยายและประพันธ์บทขับร้องด้วยพระองค์เอง ได้รับความนิยมนำไปบรรเลงกันอย่างแพร่หลาย เป็นที่ชื่นชอบของนักฟังเพลงไทย บรรเลงด้วยวงซออู้ ขิม และเครื่องสายตะวันตก รัชกาลที่ 8 คำนึงในแสนคำนึง เพลงแสนคำนึงประพันธ์โดย หลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง)ในสมัยรัชกาลที่ 8 หลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ดุริยกวีท่านสำคัญแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ในห้วงชีวิตของท่านได้ประพันธ์เพลงให้ไว้เป็นสมบัติแก่ชาวไทยมากมาย เพลงแสนคำนึง เป็นบทประพันธ์ที่สำคัญอีกเพลงหนึ่ง สะท้อนออกมาจากความรู้สึกถึงบรรยากาศของเมืองไทยในขณะนั้นได้เป็นอย่างดี ในการบรรเลงครั้งนี้ได้นำทำนองเพลงแสนคำนึงในท่อนที่ 1 มาเรียบเรียงให้ระนาดเอกเดี่ยวพร้อมกับวงเครื่องสายตะวันตก รัชกาลที่ 9 โยคีถวายไฟ บูชาไหว้เทวา เพลงโยคีถวายไฟ ประพันธ์และเรียบเรียงโดย ครูบุญยงค์ เกตุคง ในรัชสมัยแห่งพระบาทสมเด็จปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ดนตรีไทยเกิดบทเพลงร่วมสมัยจากดุริยกวีรุ่นใหม่หลายท่าน ครูบุญยงค์ เกตุคง ดุริยกวีคนสำคัญอีกท่านหนึ่งของกรุงรัตนโกสินทร์ที่มีชื่อเสียงในช่วงเวลานี้ได้ประพันธ์เพลงที่มีความทันสมัยและมีเอกลักษณ์หลายเพลง เพลงโยคีถวายไฟนี้ ครูบุญยงค์ เกตุคง นำทำนองเพลงฟ้อนโยคี ที่เป็นเพลงประกอบการแสดงนาฏศิลป์ทางภาคเหนือมาแต่โบราณ หมายถึงการบูชาคารวะเทพเทวดาและผู้มีบุญหนักศักดิ์ใหญ่ การบรรเลงครั้งนี้เพื่อน้อมถวายสักการะรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ที่มีต่อชาวไทยตลอดมา บรรเลงด้วยวงปี่พาทย์ รัชกาลที่ 10 ทศรัชราชา เฉลิมราชย์ทศรัช เพลงทศรัชเฉลิมราชย์ ประพันธ์ดนตรีและเรียบเรียงโดย ร้อยเอกสมนึก แสงอรุณ บทร้องโดย ภัทราพร พืชจันทร์ และร้อยเอกสมนึก แสงอรุณ บทเพลงนี้สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองการขึ้นครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 บทเพลงมี 3 ท่อน 3 ลีลา โดยในท่อนสุดท้ายเป็นท่อนที่มีบทขับร้องถวายพระพรให้ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน บรรเลงและขับร้องด้วยวงดนตรีไทยและเครื่องสายตะวันตก รายการดนตรีศรีรัตนโกสินทร์ "THE SOUND OF RATTANAKOSIN" ภายใต้คอนเซปต์ ทศรัชเฉลิมราชย์ (THAI MUSIC OF THE CHAKRI DYNASTY) จะจัดให้มีขึ้นในวันพุธที่ 24 กรกฎาคมนี้ ที่สยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ ถนนอโศกมนตรี เวลา 19.00 น.รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับคอนเสิร์ตและการจองบัตรที่ : info@siam-society.org , www.promusicabkk.com หรือติดต่อ e-mail promusica.bkk@gmail.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ