KR-ECI มิ.ย. 62 ปรับตัวลดลง ครัวเรือนไทยรัดเข็มขัดหวังลดภาระค่าครองชีพ...โจทย์ใหญ่ของรัฐบาลชุดใหม่

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday July 15, 2019 09:55 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--15 ก.ค.--ธนาคารกสิกร ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทย (KR-ECI) และดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนช่วงอีก 3 เดือนข้างหน้า (3-month Expected KR-ECI) ที่ทำการสำรวจในเดือนมิ.ย. 2562 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 43.1 และ 44.9 ตามลำดับ โดยครัวเรือนมีความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของตนเองทั้งในปัจจุบันและในอนาคตมากขึ้น โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องระดับราคาสินค้าภายในประเทศ ค่าใช้จ่าย (ไม่รวมภาระหนี้สิน) รวมถึงรายได้และการมีงานทำของครัวเรือน ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทยในช่วง 5 เดือนที่เหลือ (ส.ค.-ธ.ค.) ของปี 2562 อาจจะเผชิญแรงกดดันที่มากขึ้นจากสภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ซึ่งน่าจะทำให้ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจมีการปรับตัวมากขึ้นในเรื่องการใช้จ่ายและการลงทุน นับเป็นโจทย์ใหญ่ที่ท้าทายของรัฐบาลชุดใหม่ โดยยังต้องติดตามรายละเอียดของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลังคณะรัฐมนตรีเข้ารับตำแหน่งแล้ว ซึ่งน่าจะช่วยพยุงการใช้จ่ายและบรรเทาภาระค่าครองชีพของครัวเรือนไทยได้ในส่วนหนึ่ง ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทย (KR-ECI) ในเดือนมิ.ย. 2562 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 43.1 จากเดิมที่ระดับ 43.7 ในเดือนพ.ค. 2562 จากความกังวลที่เพิ่มขึ้นของครัวเรือนต่อสภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของตนเองในหลายๆ มิติ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องการเพิ่มขึ้นของระดับราคาสินค้าภายในประเทศที่ส่งผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายรายเดือนของครัวเรือน และประเด็นเรื่องรายได้และการมีงานทำที่ครัวเรือนมีความกังวลเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ราคาสินค้าแพงขึ้น...สาเหตุหลักทำค่าใช้จ่ายครัวเรือนไทยพุ่ง จากการสำรวจภาวะการครองชีพของครัวเรือนไทยที่อาศัยในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล และต่างจังหวัด ประจำเดือนมิ.ย. 2562 พบว่า ร้อยละ 67.2 ของครัวเรือนไทยที่ทำการสำรวจมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า นับเป็นสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นจากเดือนพ.ค. 2562 ที่อยู่ที่ร้อยละ 64.3 โดยสาเหตุหลักๆ ของค่าใช้จ่าย (ไม่รวมหนี้สิน) ที่เพิ่มขึ้นในเดือนมิ.ย. มาจากราคาสินค้าที่แพงขึ้นเป็นสำคัญ โดยเฉพาะราคาอาหารและเครื่องดื่มที่ครัวเรือนมองว่าปรับตัวเพิ่มขึ้นจนเริ่มกระทบรายจ่ายอื่นๆ ซึ่งแตกต่างจากเดือนก่อนหน้าที่ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากค่าใช้จ่ายในรายการพิเศษ เช่น ท่องเที่ยว ค่าเล่าเรียนและอุปกรณ์การศึกษาของบุตรหลาน เป็นต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงทำการสำรวจเพิ่มเติมในประเด็นเรื่องวิธีการรับมือของครัวเรือนไทยในภาวะค่าครองชีพสูงเพื่อเปรียบเทียบพฤติกรรมการใช้จ่ายที่เปลี่ยนแปลงไประหว่างเดือนมิ.ย. 2561 กับเดือนมิ.ย. 2562 พบว่า การลดการใช้จ่ายในกิจกรรมที่ไม่จำเป็นหรือการซื้อสินค้าที่ฟุ่มเฟือย เช่น การชมภาพยนตร์ การกินเลี้ยงสังสรรค์ ยังเป็นวิธีอันดับแรกที่ครัวเรือนไทยเลือกใช้เพื่อรับมือกับภาวะค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า ครัวเรือนมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอุปโภคในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา เมื่อเปรียบเทียบกับผลสำรวจเดือนมิ.ย. 2561 จะพบว่า วิธีการลดค่าใช้จ่ายในกิจกรรมที่ไม่จำเป็นและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอุปโภคต่อครั้งในปริมาณที่ลดลงเพื่อให้ใช้ได้ยาวนานขึ้นมีสัดส่วนที่ลดลง แต่วิธีการซื้อสินค้าในขนาดที่เล็กลงหรือยี่ห้อที่ราคาถูกลง การเพิ่มช่องทางการหารายได้มากขึ้น และการซื้อลอตเตอรี่เพื่อชิงโชคกลับมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นในการสำรวจเดือนมิ.ย. 2562 สะท้อนให้เห็นว่า ครัวเรือนไทยยังต้องหาวิธีเพิ่มเติมในการรับมือกับภาวะค่าครองชีพที่สูงขึ้น นอกจากนี้ ยังมีวิธีอื่นๆ ที่ครัวเรือนไทยใช้รับมือกับภาวะค่าครองชีพที่สูงขึ้น เช่น การซื้อสินค้าร้านธงฟ้า การเปรียบเทียบราคาและโปรโมชั่นระหว่างร้านค้าปลีกก่อนตัดสินใจซื้อ การประหยัดการใช้พลังงานทุกรูปแบบเพื่อลดค่าสาธารณูปโภค เป็นต้น ดัชนีองค์ประกอบที่สะท้อนมุมมองเกี่ยวกับรายได้และการมีงานทำของครัวเรือนไทยในเดือนมิ.ย. 2562 ร่วงต่ำกว่าระดับ 50.0 เป็นครั้งแรกในรอบ 15 เดือน โดยดัชนีองค์ประกอบที่สะท้อนมุมมองเกี่ยวกับรายได้และการมีงานทำของครัวเรือนไทยปรับตัวลดลงจากระดับ 51.8 ในเดือนพ.ค. 2562 มาอยู่ที่ระดับ 49.8 ในเดือนมิ.ย. 2562 สอดคล้องไปกับภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและภาวะการจ้างงานในประเทศที่ตัวเลขการว่างงานที่มีสาเหตุมาจากนายจ้างเลิก/หยุด/ปิดกิจการที่ในเดือนมิ.ย. 2562 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 23,800 คน จาก 22,100 คนในเดือนพ.ค. 2562 และ 16,400 คนในเดือนมิ.ย. 2561 ดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือน (KR Household Economic Condition Index หรือ KR-ECI) จัดทำขึ้นโดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย เพื่อให้เป็นเครื่องชี้ที่สะท้อนความรู้สึกของครัวเรือนที่มีต่อภาวะการครองชีพทั้งในปัจจุบัน และในช่วง 3 เดือนข้างหน้า โดยค่าดัชนีที่สูงกว่าระดับ 50 หมายถึง ครัวเรือนส่วนใหญ่มองว่า ภาวะการครองชีพ "ดีขึ้น" ในทางตรงกันข้าม ค่าดัชนีที่ต่ำกว่าระดับ 50 หมายถึงภาวะการครองชีพ "แย่ลง" หมายเหตุ: ศูนย์วิจัยกสิกรไทยขยายขอบเขตการสำรวจภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือนไปยังส่วนภูมิภาค (ต่างจังหวัด) ตั้งแต่เดือนกันยายน 2560 เป็นต้นไป ความกังวลต่อภาวะการครองชีพของครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบันเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อมุมมองในอนาคต โดยดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนในอีก 3 เดือนข้างหน้า (3-month Expected KR-ECI) ที่ทำการสำรวจในเดือนมิ.ย. 2562 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 44.9 จากเดิมที่ระดับ 45.7 ในเดือนพ.ค. 2562 โดยครัวเรือนกังวลว่า ระดับราคาสินค้าและบริการภายในประเทศจะปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วง 3 เดือนข้างหน้า (เดือนก.ค.-ก.ย. 2562) โดยเฉพาะราคาพลังงานและราคาอาหารสดในประเทศ ซึ่งยังต้องติดตามรายละเอียดของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลังคณะรัฐมนตรีเข้ารับตำแหน่งแล้ว ซึ่งน่าจะช่วยประคองการใช้จ่ายและบรรเทาภาระค่าครองชีพของครัวเรือนไทยในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2562 โดยสรุปแล้ว ดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือนไทย (KR-ECI) และดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนในอีก 3 เดือนข้างหน้า (3-month Expected KR-ECI) ที่ทำการสำรวจในเดือนมิ.ย. 2562 ปรับตัวลดลงในทิศทางเดียวกัน สะท้อนให้เห็นถึงความกังวลที่เพิ่มขึ้นของครัวเรือนไทยต่อภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันและในช่วง 3 เดือนข้างหน้า โดยในปัจจุบัน ครัวเรือนมีความกังวลเพิ่มขึ้นต่อประเด็นเรื่องระดับราคาสินค้าในประเทศที่ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายต่อเดือนเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ครัวเรือนยังมีความกังวลมากขึ้นต่อประเด็นเรื่องรายได้และการมีงานทำของตนเอง ซึ่งในประเด็นนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจะติดตามต่อเนื่องในระยะข้างหน้า ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทยในช่วง 5 เดือนที่เหลือ (ส.ค.-ธ.ค.) ของปี 2562 อาจจะเผชิญแรงกดดันที่มากขึ้นจากสภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ซึ่งน่าจะทำให้ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจมีการปรับตัวมากขึ้นในเรื่องการใช้จ่าย การจ้างงาน รวมไปถึงการลงทุน นอกจากนี้ ภาวะฝนทิ้งช่วงและน้ำในเขื่อนที่อยู่ในระดับต่ำอาจจะส่งผลลบต่อปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตรในช่วงฤดูเพาะปลูก ซึ่งส่งผลต่อเนื่องมายังรายได้ครัวเรือนเกษตร สถานการณ์เหล่านี้นับเป็นโจทย์ใหญ่ที่ท้าทายของรัฐบาลชุดใหม่ โดยยังต้องติดตามรายละเอียดของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลังคณะรัฐมนตรีเข้ารับตำแหน่งแล้ว ซึ่งน่าจะช่วยพยุงการใช้จ่ายและบรรเทาภาระค่าครองชีพของครัวเรือนไทยได้ในส่วนหนึ่ง รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงข้อมูลได้ตลอดเวลาโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณของตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯจะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็นหรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ