ไปรษณีย์ไทย ย้ำมาตรการรักษาความปลอดภัยป้องกันส่งยาเสพติด และของผิดกฎหมายผ่านเส้นทางไปรษณีย์

ข่าวทั่วไป Wednesday July 17, 2019 09:41 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--17 ก.ค.--เจซีแอนด์โค บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) ชี้แจงถึงมาตรการรักษาความปลอดภัย เพื่อป้องกันการส่งยาเสพติด สิ่งผิดกฎหมาย และวัตถุอันตรายผ่านเส้นทางไปรษณีย์ หลังจากที่มีการเผยแพร่ข่าว ส่งยาเสพติดผ่านเส้นทางไปรษณีย์นั้น นางสมร เทิดธรรมพิบูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด กล่าวถึงมาตรการรักษาความปลอดภัยเพื่อป้องกันการส่งยาเสพติด สิ่งผิดกฎหมาย และวัตถุอันตรายผ่านเส้นทางไปรษณีย์ ว่า ไปรษณีย์ไทย ให้ความสำคัญในในเรื่องดังกล่าว โดยมีมาตรการป้องกันการฝากส่งสิ่งของผิดกฎหมายในทุกขั้นตอนการฝากส่ง ดังนี้ - การให้ผู้ใช้บริการแสดงบัตรประจำตัวประชาชนทุกครั้งก่อนการฝากส่ง ตามมาตรการป้องกันและปราบปราม ยาเสพติด ของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) เพื่อให้สามารถตรวจสอบ ไปถึงบุคคลที่เกี่ยวข้องในกรณีที่พบการฝากส่งสิ่งของผิดกฎหมาย และส่งต่อไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินคดีต่อไป - การติดตั้งกล้องวงจรปิด ณ ที่ทำการไปรษณีย์ทุกแห่งทั่วประเทศ ที่สามารถบันทึกภาพขณะที่ผู้ใช้บริการ ทำการการฝากส่งสิ่งของ เพื่อตรวจสอบหาผู้กระทำผิดที่ทำการฝากส่งสิ่งของผิดกฎหมาย - การเอ็กซเรย์สิ่งของ ณ ศูนย์ไปรษณีย์ 19 แห่งทั่วประเทศ เพื่อป้องกันการส่งสิ่งของผิดกฎหมาย นอกจากนี้ หากเจ้าหน้าที่ไปรษณีย์ไทยพบความผิดปกติของสิ่งของฝากส่ง จะสอบถามและตรวจสอบสิ่งของดังกล่าว เพื่อป้องกันการฝากส่งผิดกฎหมาย พร้อมขอย้ำว่า การฝากส่งสิ่งของผิดกฎหมายทางไปรษณีย์ ซึ่งรวมถึงยาเสพติด เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย เนื่องจากเป็นหนึ่งในสิ่งของต้องห้ามฝากส่งตามพระราชบัญญัติไปรษณีย์ พ.ศ.2477 และผู้กระทำผิดจะต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย หากผู้ใช้บริการฝ่าฝืนส่งยาเสพติด หรือสิ่งของผิดกฎหมายอื่นๆ ผ่านเส้นทางไปรษณีย์ ไปรษณีย์ไทยพร้อมให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในการตรวจสอบ และสืบหาผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีต่อไปได้อย่างแน่นอน สำหรับสิ่งของต้องห้ามฝากส่งทางไปรษณีย์ 7 ประเภท ได้แก่ 1. สัตว์มีชีวิต 2. สิ่งเสพติด 3. สิ่งลามกอนาจาร 4. วัตถุระเบิดหรือวัตถุไวไฟ 5. วัตถุมีคมที่ไม่มีเครื่องหุ้มห่อป้องกัน 6. ธนบัตร และ 7. สิ่งของปลอมแปลงหรือลอกเลียนแบบโดยละเมิดลิขสิทธิ์

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ