เอ็นไอเอ นำนวัตกรช่วยชาวประมง เปิดตัวนวัตกรรมเพาะเลี้ยงปลิงขาว หนุนส่งเสริมสัตว์ทะเลเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน คืนความสมดุลให้ชายฝั่ง

ข่าวทั่วไป Thursday July 18, 2019 10:54 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 ก.ค.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA หนุนโครงการระบบปิดสำหรับการเพาะพันธุ์และเลี้ยงตัวอ่อนของปลิงขาวบนบกแบบครบวงจร ภายใต้โครงการนวัตกรรมแบบเปิดให้กับบริษัทประชารัฐรักสามัคคีตรัง (วิสาหกิจเพื่อสังคม) โดยโครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ในการเพิ่มปริมาณปลิงขาวที่ปัจจุบันมีจำนวนลดลงทั้งในทะเลตรังและพื้นที่ใกล้เคียง พร้อมคืนความสมดุลให้กับระบบนิเวศชายฝั่ง และสร้างรายได้อย่างยั่งยืนให้กับชาวประมงพื้นบ้าน ทั้งนี้ ปริมาณปลิงขาวที่ลดลงมีสาเหตุสำคัญมาจากการเก็บปลิงขาวมาจำหน่ายแบบไม่ควบคุม โดยเฉพาะในกลุ่มต่างประเทศที่มีความต้องการปลิงขาวเป็นจำนวนมาก ในราคา 2500 บาท/กิโลกรัม โดยมีการรับซื้อมากกว่า 100,000 ตัน/ปี รวมถึงการขาดองค์ความรู้และวิธีที่เหมาะสมในการเพาะพันธุ์ - ขยายพันธุ์ และการอนุรักษ์จากคนในชุมชนที่ยังไม่เพียงพอ นายวิเชียร สุขสร้อย รองผู้อำนวยการด้านเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า ปัจจุบันปริมาณปลิงขาวที่เป็นทรัพยากรประมงที่สำคัญของพื้นที่จังหวัด สตูล พังงา ระนอง และตรัง มีปริมาณลดลงอย่างต่อเนื่องจนอยู่ในสภาวะวิกฤติ ส่งผลต่อชาวประมงในพื้นที่ ซึ่งพบว่าปริมาณที่จับได้ลดลงประมาณ 90% เมื่อเทียบกับในอดีต สาเหตุหลักที่ทำให้ปลิงขาวลดลง เกิดจากการเก็บปลิงขาวมาจำหน่ายแบบไม่ควบคุม โดยเฉพาะในกลุ่มต่างประเทศที่มีความต้องการปลิงขาวเป็นจำนวนมาก เช่น ประเทศจีน ประเทศเกาหลี ฮ่องกง และไต้หวัน โดยประมาณการตั้งแต่ปี 2560 ตลาดในประเทศและต่างประเทศ จะรับซื้อ 100,000 ตัน/ปี ซึ่งราคาในการซื้อขายปลิงขาวในปัจจุบัน 1 กิโลกรัมจะมีราคาที่ 2,500 บาท ทั้งนี้ ปัจจัยที่ทำให้ปลิงขาวได้รับความนิยมมากในต่างประเทศ เนื่องมาจากโปรตีนในเนื้อปลิงทะเลมีสารมิวโคโปรตีนที่มี Chondroitin sulfuric acid เป็นองค์ประกอบสำคัญของส่วนต่าง ๆ ของ กระดูกอ่อน เอ็น และของเหลวที่หล่อลื่นตามข้อต่างๆ และยังมีความเชื่อที่ว่าสามารถรักษาโรคบางชนิดและเพิ่มสมรรถภาพทางเพศในแพทย์แผนจีน ซึ่งยังพบสาเหตุสำคัญอีกว่า ชาวประมงส่วนใหญ่ไม่มีการอนุรักษ์ปลิงขาวและไม่มีวิธีที่เหมาะสมในการเพาะพันธุ์เพื่อขยายพันธุ์ จึงทำให้ปริมาณลดลงอย่างรวดเร็ว นายวิเชียร กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อแก้ไขวิกฤตการณ์ดังกล่าว ล่าสุด NIA จึงได้อนุมัติโครงการระบบปิดสำหรับการเพาะพันธุ์และเลี้ยงตัวอ่อนของปลิงขาวบนบกแบบครบวงจร ภายใต้โครงการนวัตกรรมแบบเปิด (Open Innovation) ด้วยทุนสนับสนุนจำนวน 1,135,000 บาท ร่วมกับเงินลงทุนจากบริษัท จำนวน 945,000 บาท รวมงบประมาณโครงการทั้งสิ้น 2,080,000 บาท ให้กับบริษัทประชารัฐรักสามัคคีตรัง (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด ต.เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง ซึ่งในการสนับสนุนดังกล่าว เป็นการพัฒนานวัตกรรมระบบปิดสำหรับการเพาะพันธุ์และเลี้ยงตัวอ่อนปลิงขาวบนบกแบบครบวงจร ด้วยการจำลองสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติเพื่อกระตุ้นการผสมพันธุ์ของพ่อแม่พันธุ์ปลิงขาว โดยกำหนดปัจจัยเพื่อกระตุ้นการผสมพันธุ์ คือ ความเค็มของน้ำ อุณหภูมิ แสง อาหารและวัฏจักรของดวงจันทร์ ซึ่งส่งผลต่ออัตราการผสมพันธุ์ของพ่อแม่พันธุ์ และระบบเพาะเลี้ยงในฟาร์มบนบกเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเพาะเลี้ยงตัวอ่อนปลิงขาวให้มีโอกาสเจริญเติบโตประมาณ 50% ของอัตราการเกิด เมื่อเปรียบเทียบกับอัตรารอด 0.01%-0.05% ในแหล่งน้ำทะเลธรรมชาติ และใช้ระบบ Microscreen system, biological filter, DO2 degassing and protein skimmer มาช่วยควบคุมคุณภาพน้ำในระบบเพาะพันธุ์และเลี้ยงตัวอ่อนของปลิงขาวบนบก ทั้งนี้ การสนับสนุนกิจกรรมดังกล่าวถือเป็นการส่งเสริมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและเพิ่มปริมาณปลิงขาวในทะเล พร้อมช่วยยกระดับการประมงพื้นบ้านในพื้นที่ดังกล่าวให้สามารถเติบโตได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังจะก่อให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดตรังและจังหวัดใกล้เคียง รวมทั้งช่วยให้เกิดการจ้างงานที่จะเพิ่มมากขึ้นในอนาคตอีกด้วย ด้านนายลือชัย เจริญทรัพย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง กล่าวว่า โครงการระบบปิดสำหรับการเพาะพันธุ์และเลี้ยงตัวอ่อนของปลิงขาวบนบกแบบครบวงจร ของบริษัทประชารัฐรักสามัคคีตรัง (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด ที่ได้รับการสนับสนุนจาก NIA นี้ ถือเป็นอีกโครงการหนึ่งที่ตอบโจทย์รัฐบาลในเชิงนโยบายไทยแลนด์ 4.0 เพื่อพัฒนาประเทศให้พ้นกับดักรายได้ปานกลาง และลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ตลอดจนเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน โดยนำภูมิปัญญาสากล อันได้แก่เทคโนโลยี นวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์ มาต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่น ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวจะส่งเสริมให้เกษตรชาวประมงในจังหวัดตรังมีรายได้เพิ่มขึ้น จากการเพาะพันธุ์และเลี้ยงเพื่อจำหน่ายในตลาดในประเทศและต่างประเทศ สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ ต้องขอขอบคุณ NIA ที่เป็นหน่วยงานหลักในการผลักดันให้เกิดการลงทุนด้านนวัตกรรมของภาคเอกชนในพื้นที่ เพื่อสร้างให้เกิดมูลค่าเพิ่มที่สูงจากการดำเนินธุรกิจนวัตกรรม รวมถึงส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการไทยโดยใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ให้ก้าวสู่การเป็นผู้ประกอบการที่สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความสอดคล้องและตอบโจทย์ความต้องการของตลาดและเติบโตได้อย่างยั่งยืน ขณะที่ นายลือพงษ์ อ๋องเจริญ กรรมการผู้จัดการบริษัทประชารัฐรักสามัคคีตรัง( วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด กล่าวว่า บริษัท ได้ทำข้อเสนอโครงการนวัตกรรมระบบปิดสำหรับการเพาะพันธุ์ และเลี้ยงตัวอ่อนของปลิงขาวบนบกแบบครบวงจร เพื่อขอรับพิจารณาทุนจาก NIA โดยมีวัตถุประสงค์ 2 ประการ คือ 1) ฟื้นคืนทรัพยากรปลิงขาว โดยคืนปลิงขาวลงสู่ทะเลชุมชน และ 2) ผลิตลูกปลิงขาววัยอ่อนจำหน่ายให้กับวิสาหกิจชุมชนและภาคธุรกิจเพื่อการค้าและการส่งออก โดยโครงการดังกล่าวได้ผ่านการเห็นชอบจากคณะกรรมการพิจารณาทุนของ NIA ซึ่งบริษัทได้ร่วมลงนามในสัญญาขอรับทุนอุดหนุนจาก NIA เสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว โดยมีระยะเวลาดำเนินการ 12 เดือน ภายใต้งบประมาณรวมกว่า 2 ล้านบาท ทั้งนี้ บริษัทตั้งเป้าว่าหากโครงการนวัตกรรมระบบปิดสำหรับการเพาะพันธุ์และเลี้ยงตัวอ่อนของปลิงขาวบนบกแบบครบวงจรนี้ประสบผลสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ จะสามารถสร้างรายได้ในภาคการเกษตร (สาขาประมง) และส่งผลให้เศรษฐกิจฐานราก และเศรษฐกิจของจังหวัดตรังในภาพรวม ดีขึ้น และเป็นการสนองนโยบายของรัฐบาล ในการที่จะนำพาประเทศไทยไปสู่ Thailand 4.0 สำหรับผู้ที่สนใจรายละเอียด หรือสนใจในการขอรับการสนับสนุนนวัตกรรม สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) โทรศัพท์ 02-0175555 เว็บไซต์ http://www.nia.or.th , facebook.com/NIAThailand
แท็ก นวัตกรรม  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ